นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในความทรงจำ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์​ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์​ เกษตรศิริ
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

“ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยผู้ล่วงลับ “ประชาชาติธุรกิจ” เก็บบางช่วงบางตอนใน “Charnvit’s Talk : นิธิในทรงจำ” จากงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” ที่เพิ่งจบลงไปมาฝากกัน ซึ่งเป็นคำบอกเล่าโดย “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นักคิดนักประวัติศาสตร์ผู้อยู่ร่วมสมัยกัน และมี “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัครพงษ์ ค่ำคูณ” ดำเนินรายการ

เมื่อ “ชาญวิทย์” เริ่มรู้จัก “นิธิ”

อ.ชาญวิทย์กล่าวว่า ผมนั่งดูนิทรรศการที่มติชนจัดและดูหนังสือจำนวนมหาศาลที่ อ.นิธิ เขียน ผมเริ่มรู้จัก อ.นิธิ ในช่วงทศวรรศ 2500 ถ้ามองกลับไปเวลานั้น เป็นยุคที่มีวารสารสังคมศาสตร์ที่ “อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์” เป็นบรรณาธิการ บทความแรกของ อ.นิธิ ที่ผมเห็นน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรมพระยาดํารงราชานุภาพ

ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์เท่าไร ก็เหมือนอย่างใครหลายคนที่บอกว่า “history is boring” ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อ ผมไม่คิดว่าจะเรียนประวัติศาสตร์ แต่เมื่อได้อ่าน อ.นิธิ ก็สะดุดอะไรบางอย่าง

ผมคิดว่าหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” เล่มนี้ทำให้ผมตาสว่าง ทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจเรื่องความหลากหลาย อ.นิธิ ได้เปิดฉากบอกว่า ถ้าเราจะดูขึ้นไปข้างบน เราต้องไม่ลืมว่าเขาเป็นมนุษย์ ซึ่งคนจำนวนมากทำไม่ได้ แต่ อ.นิธิ ทำมาแล้วตลอดชีวิต เรียกว่ามหัศจรรย์

แน่นอนว่า อ.นิธิ เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นโมเดลของนักประวัติศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา เป็นขบถ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นปัญญาชน และอีกหลายอย่างเยอะแยะไปหมด แต่ผมอยากนิยาม อ.นิธิ ว่าเป็น impressionist ทางตัวอักษร เพราะ อ.นิธิ ใช้ตัวอักษรทำให้เราเห็นอะไรมากกว่าที่ตาเราเห็น

Advertisment

ขบถต่อขนบเดิม

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ เสริมว่า ทั้ง อ.ชาญวิทย์ และ อ.นิธิ ต่างอยู่ร่วมยุคสมัยกัน งานในช่วงนั้นจะเป็นการวิจารณ์ประวัติศาสตร์ฝ่ายอนุรักษนิยม เป็น “ขบถ” ในที่นี้จึงเป็นการให้ความหมายใหม่กับงานที่เป็นมาตรฐานเดิมในสังคมไทย อ.นิธิ เข้าไปวิจารณ์โดยการตั้งคำถามและเปิดมุมมองใหม่

ที่สำคัญคือ “ปากไก่และใบเรือ” ซึ่งเปิดมิติใหม่ในการตีความวรรณกรรมรัตนโกสินทร์ และอธิบายหลักฐานประวัติศาสตร์ และอีกงานที่เป็นมรดกทางวิธีคิดของสังคมไทย ทำให้เราเปลี่ยนวิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ไปเลย คือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

จากการอ่านงานของ อ.นิธิ ส่วนตัวมองว่า เป็นคนมี denotative meaning และ connotative meaning คือการให้ความหมายโดยนัยและโดยตรงกับสิ่งนั้น ๆ ต่างออกไป ถ้าเราพูดถึง อ.นิธิ คำถามสำคัญหนึ่งที่อาจารย์ตั้งไว้คือ “ทหารมีไว้ทำไม” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

เมื่อ “ชาญวิทย์” ได้พบ “นิธิ”

อ.ชาญวิทย์ เล่าต่อว่า เมื่อผมเรียนจบปริญญาเอกในปี 2515 และกลับมาเมืองไทยในปี 2516 ผมทันกับการประท้วงในเดือนตุลาคมปีนั้น และอีกครั้งในปี 2519 จนกระทั่งต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ญี่ปุ่นหนึ่งปี และคิดว่าจะไม่กลับมาเมืองไทย รวมทั้งเลิกพูดภาษาไทย คิดอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก็กลับมาในช่วง 66/23 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่คนเริ่มออกมาจากป่า ตอนนั้นทศวรรษ 2520 เราแอ็กทีฟกันมากในด้านวิชาการ

Advertisment

เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างคือ “สองศตวรรษรัตนโกสินทร์” ในปี 2525 (กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี) ที่ได้พบ อ.นิธิ เป็นครั้งแรก ตอนนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามของสถาบันไทยคดีศึกษา จัดสัมมนาวิชาการ 1 ปีเต็ม มีการเสนอรายงานต่าง ๆ มากมาย ซึ่ง อ.นิธิ คือหนึ่งในนั้น

“บทความของ อ.นิธิ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “นางนพมาศ” หรือ “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” ทำให้ อ.นิธิ ขึ้นมาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่นำหน้าที่สุดแห่งยุค 2520” อ.ชาญวิทย์กล่าว

อ.นิธิ เป็นคนแปลก จบมัธยมฯจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา และเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนมากเด็กวัยรุ่นผู้ชายจะไม่สอบเข้าจะต้องเป็นคนที่พิเศษ อ.นิธิ คงรักวรรณกรรมมาก จึงเรียนอักษรฯ และนั่นก็เป็นจุดแข็ง

นิธิในบั้นปลาย

อ.ชาญวิทย์ เล่าต่อว่า เราคุยกันถ้ามีโอกาสเจอ ช่วงปลายชีวิตของ อ.นิธิ สิ่งที่ได้เปรียบคืออยู่เชียงใหม่ ขึ้นเขา ลงห้วย เจอชาติพันธุ์มากมาย และได้เข้าไปสัมผัส เราอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีคนจริง ๆ ให้ศึกษา

แน่นอนว่าคนเราต้องมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่า อ.นิธิ ล้มเหลวตรงไหน ผมมีโอกาสได้เอาหนังสือไปให้ อ.นิธิ ในช่วงที่ป่วย ก็ได้คุยกันยาว มันเป็นความรู้สึกที่ดี อ.นิธิ พูดอะไรหลายอย่าง

หลังรัฐประหารในปี 2557 อ.นิธิ บอกว่าอยากทิ้งอะไรบางอย่างไว้กับคนรุ่นใหม่ “ผมอาจจะไม่ได้อยู่เห็น แต่ผมก็ดีใจ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว” อ.นิธิ บอกกับผม

นิธิ ในทรงจำ คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

คริส เบเคอร์ เล่าว่า ผมมีโอกาสแปลงานของ อ.นิธิ บ้าง ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม, แปลปากไก่และใบเรือเป็นภาษาอังกฤษ อ.นิธิ ช่วยเราเยอะมาก ๆ เราแปลเสร็จและส่งให้เขาตรวจ เขาเขียนแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด ซึ่งมันเป็นโปรเจ็กต์ที่ดีมาก ๆ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร เผยว่า เสียใจมากที่ อ.นิธิ จากเราไปเร็วมาก ท่านเป็นนักคิดนักเขียนที่วิเศษ อย่างที่ อ.ชาญวิทย์ ว่า ท่านเป็น impressionist ในการใช้คำ เราชอบอ่านงานที่ อ.นิธิ เขียน เพราะสามารถพูดถึงเรื่องที่ยากในเมืองไทย ให้ออกมาง่าย และชัดเจน

นอกจากนี้ อ.นิธิ ยังเป็นนักกิจกรรมสังคมแบบติดดิน สร้างแรงบันดาลใจต่อคนชายขอบของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็นคนกล้าหาญ อ.นิธิ บอกว่า “คนเล็ก คนน้อย คนจน มีสิทธิที่จะเขียนประวัติศาสตร์ตัวเองได้ ถ้าเขียนได้เขาจะยิ่งใหญ่”

นิธิ ในทรงจำ สุรชาติ บํารุงสุข

สุรชาติ บํารุงสุข กล่าวว่า อ.นิธิ เป็นปัญญาชนในแบบนักตั้งคำถาม อ.นิธิ มาเยี่ยมที่บ้านและนั่งคุย กินข้าวกัน คำถามที่ยังจำมาทุกวันนี้คือ ทำไมหูแก้วกาแฟไม่โค้งแตะกับถ้วยด้านล่าง วันนั้นเรายังเป็นนักเรียนปริญญาโท ผมว่า อ.นิธิ เป็นนักตั้งคำถามมากกว่าปัญญาชน

สิ่งที่ผมอยากแชร์ และเราไม่ค่อยเห็น อ.นิธิ ในเรื่องหนึ่งคือ อ.นิธิ สนใจประวัติศาสตร์สงคราม ผมโชคดีว่าเมื่อหนังสือพระเจ้าตากของมติชนตีพิมพ์ครั้งแรก อ.นิธิ กรุณาส่งมาให้ผม แต่มีเงื่อนไขว่าต้องตอบคำถามด้วย ซึ่งคำถามนั้นยังคงจำได้ทุกวันนี้เช่นกัน “ทำไมไทยไม่มีตำราพิชัยสงครามเหมือนอย่างที่จีนกับตะวันตก” เรื่องพวกนี้ผมว่าแฝงอยู่กับ อ.นิธิ ตั้งแต่ทำงานเรื่องพระเจ้าตาก

จนถึงคำถามสุดท้ายว่า ทหารมีไว้ทำไม ขมวดปมในช่วงสุดท้ายของชีวิต เรื่องนี้ถามในยุโรปกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 น่าตกใจที่ว่า อ.นิธิ พึ่งมาเปิดคำถามให้เรา และเราพึ่งฉุกคิด นี่จะเป็นมรดกชิ้นใหญ่สำหรับเราและรัฐบาลที่เรากำลังจะได้เห็นด้วย

“ไม่ว่าคุณจะหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลังกลับไปเท่าไร เข็มมันก็ยังเดินหน้าเสมอ” ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์