พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข

ผู้เขียน : แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล 
จิตแพทย์ Bangkok Mental Health Hospital BMHH

คงจะได้เห็นข่าวกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่รุนแรงของเด็กจนส่งผลกระทบต่อผู้อื่น สาเหตุมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าว เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์รุนแรง เป็นเหยื่อการถูกล้อเลียน พันธุกรรม ควบคุมอารมณ์ได้ยาก เสพสื่อที่มีความรุนแรง ใช้สารเสพติด ยาบางชนิด แอลกอฮอล์ มีปืนไว้ในบ้านหรือใกล้ตัว

ความเครียดในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ปกครองแยกทาง ตกงาน ไม่มีญาติพี่น้องที่ให้การช่วยเหลือได้ สมองกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ

คนในครอบครัวควรสังเกตบุตรหลานว่ามีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ ประเมินได้จากการแสดงอารมณ์โกรธรุนแรงมากกว่าปกติ หงุดหงิดงุ่นง่าน พลุ่งพล่าน อยู่ไม่สุข หุนหันพลันแล่น ถูกกระตุ้นอารมณ์ได้ง่าย มีพฤติกรรมแปลก เช่น พูดน้อยลง นิ่งลง

หากพบว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมรุนแรงควรรับมือโดยพาไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เข้ารับการรักษาเร็วจะลดความเสี่ยงได้มาก โดยช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความโกรธ การแสดงออกความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม ให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองและยอมรับผลของการกระทำนั้น

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง

พฤติกรรมความรุนแรงจะลดลง หากจัดการปัจจัยเสี่ยงได้ สิ่งสำคัญคือลดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เด็กต้องเจอทั้งในบ้าน ในสังคม ในสื่อ

ปัจจัยอื่นที่จะช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงในเด็กได้ เช่น การป้องกันการทารุณกรรมเด็กโดยผู้ปกครองควรสอนเด็กว่าอะไรคือเข้าข่ายทำร้ายเด็ก ให้ความรู้ผู้ปกครองในการทำโทษเด็กอย่างเหมาะสม รูปแบบไหนคือการสั่งสอน รูปแบบใดรุนแรงเกินจนเข้าข่ายทารุณกรรม ให้ความรู้ทางเพศแก่เด็กวัยรุ่น

หากพบแนวโน้มที่เด็กและวัยรุ่นจะก่อความรุนแรง ให้พูดคุยเพื่อเข้าสู่กระบวนการการช่วยเหลือ สังเกตและชวนพูดคุยมุมมองของเด็กต่อความรุนแรงในสื่อที่เด็กรับ ไม่ว่าจะเป็น สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ เกม หรือภาพยนตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลกับเด็ก ถ้าพูดคุยกันได้และรับรู้ความสนใจของเด็ก มีทัศนคติที่ดีในเรื่องการดูแลเด็ก การพบแพทย์ การทานยา

ในช่วงวัยเด็ก ถ้าผู้ปกครองให้การชื่นชม/ยอมรับ ในสิ่งที่เด็กทำได้ดีและเหมาะสม เช่น โดยแนวโน้มเด็กชอบใช้กำลัง แต่ถ้าเด็กไปใช้กำลังกับสิ่งที่สังคมยอมรับได้ เช่น การเล่นกีฬา ก็จะทำให้แนวโน้มการเกิดความรุนแรงลดลง

พฤติกรรมความรุนแรงในเด็ก ทุกคนมีส่วนสำคัญในการป้องกั1นได้ เพียงใส่ใจ หมั่นสังเกต พูดคุย หากพบว่ามีความเสี่ยงควรพาไปประเมินกับจิตแพทย์ เพื่อลดความสูญเสียหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด