สายมูต้องมา “พระพิฆเนศ ห้วยขวาง” ศูนย์รวมศรัทธา-เศรษฐกิจ

พระพิฆเนศ ห้วยขวาง
พระพิฆเนศ ห้วยขวาง

คงไม่มีใครไม่รู้จัก “พระพิฆเนศ ห้วยขวาง” เทวาลัยองค์เทพที่ตั้งเด่นกลางสี่แยก แหล่งรวมผู้ศรัทธาใจกลางกรุง ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะคนจีน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่รอบ ๆ ครบครัน ทั้งตลาดกลางคืน ร้านอาหารสองข้างทาง สายเที่ยว สายกิน สายมู จบในที่เดียว

“ห้วยขวาง” ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครที่ไม่เคยหลับใหล แหล่งรวมสินค้า ร้านอาหาร และหมุดหมายสำคัญของสาย “มูเตลู” ทั่วโลก สถานที่ประดิษฐาน “เทวาลัยพระพิฆเนศ” แลนด์มาร์กซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากแวะเวียนมาสักการบูชาตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่ขาดสาย

เทวาลัยพระพิฆเนศ ห้วยขวาง ก่อตั้งโดย “อาจารย์สุชาติ รัตนสุข” ผู้ก่อตั้งเทวสถานชื่อดังหลายแห่งในไทย เช่น ศาลพระตรีมูรติ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น

พื้นที่ตรงนี้มีลักษณะเป็นแหลมพุ่งออกไปยัง 4 แยกห้วยขวาง เล่ากันว่าในอดีตมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำมาค้าขายหรือธุรกิจอะไรก็ไม่รุ่ง อาจารย์สุชาติจึงนำรูปเคารพองค์เทพพระพิฆเนศมาประดิษฐานไว้เพื่อแก้เคล็ด เสริมฮวงจุ้ย รวมทั้งได้สร้างศาลขึ้น

เดิมที เทวาลัยพิฆเนศ ห้วยขวาง ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาสักการบูชา แต่เมื่อเริ่มมีผู้คนมากราบไหว้และประสบความสำเร็จกับพรที่ขอ ทำให้กระแสผู้ศรัทธาหลั่งไหลตามกันมา จนกลายเป็นสถานที่มูเตลูอันโด่งดังมานานกว่า 23 ปีแล้ว

นอกจากองค์ประธานพระพิฆเนศแล้ว ภายในเทวาลัยแห่งนี้ยังมีพระราหู ปู่ฤาษี เทวรูปพระศิวะ พระแม่อุมาเทวี และพระพิฆเนศประทับร่วมกัน รวมทั้งรูปหล่อครูกายแก้ว และเทวรูปอื่น ๆ ตามความเชื่อศาสนาฮินดู

เทวาลัยพระพิฆเนศ ห้วยขวาง มีลักษณะเป็นปางยืนประทานพร 1 เศียร 4 กร แต่ละกรทรงถือ วัชระ (สายฟ้า), บ่วง, ขนมโมทกะ และงา ทรงมุทราประทานพรก้าวเดินบนดอกบัว ถ้าขึ้นมาจากสถานีรถไฟ MRT ห้วยขวาง ทางออกที่ 4 เดินไปทางขวาประมาณ 100 เมตร ก็จะเจอเทวาลัยพระพิฆเนศเลย

ผู้ศรัทธาที่มาที่นี่มีทุกช่วงวัย ส่วนใหญ่มากราบขอพรเรื่องหน้าที่การงาน ทำมาค้าขาย รวมถึงเรื่องการศึกษา มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่พักอาศัยย่านห้วยขวาง ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ตลอดจนย่านรัชดาภิเษก รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งอยู่ไม่ไกล ประกอบกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินทำให้คมนาคมสะดวก ผู้คนจึงหลั่งไหลมาที่นี่

เชื่อกันว่าเวลาที่เหมาะสมในการไหว้พระพิฆเนศ ห้วยขวาง คือช่วงเวลาที่เงียบสงบ เช่น ช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงค่ำ เพราะเวลาที่องค์เทพเสด็จเทวาลัยแห่งนี้จึงเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และยิ่งค่ำยิ่งเต็มไปด้วยผู้คน

หนึ่งในเคล็ดลับการขอพรให้สำเร็จผล และจะเห็นผู้ที่มากราบไหว้ต่อแถวยาวรอทำคือ การกระซิบขอพรที่หนูมุสิกะ บริเวณฐานขององค์พระพิฆเนศ โดยให้ปิดหูอีกข้างของหนูไว้ เชื่อว่าหนูมุสิกะจะทำหน้าที่นำคำขอไปบอกองค์พระพิฆเนศ

ยิ่งถ้าเป็นวันสำคัญด้วยแล้ว เช่น พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศเนื่องในงาน “คเณศจตุรถี” ประจำปีเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา สายมูก็ไม่พลาด เนื่องจากเป็นวันดีในการไหว้พระพิฆเนศ เพื่อความสำเร็จในด้านต่าง ๆ เชื่อกันว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ และพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรแก่ผู้ศรัทธา หรือจะเป็น “วันราหูย้ายราศี” เมื่อช่วงเดือนตุลาคม เทวาลัยพระพิฆเนศ ห้วยขวาง ก็คราคร่ำไปด้วยประชาชนจำนวนมาก ล้นทะลักลงมาบริเวณสี่แยก

ย่านห้วยขวางเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งตลาดกลางคืน ของกินสองข้างทาง ยิ่งมีพระพิฆเนศอยู่ใจกลางตรงสี่แยก และหากนับรวมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญฝั่งตรงข้ามที่เป็นแหล่งรวมและที่อยู่อาศัยของคนจีน สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ ผลไม้ และเครื่องบูชา ตลอดจนแผงลอตเตอรี่รอบ ๆ เทวาลัย เพิ่มรายได้สู่กระเป๋าผู้ประกอบการทันที ซึ่งส่วนมากเป็นเงินสด

ถัดไปไม่ไกลก็จะเป็นตลาดกลางคืนห้วยขวาง ซึ่งจะเริ่มคึกคักตั้งแต่หลัง 21.00 น. เป็นต้นไป เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตดินแดงและเขตห้วยขวาง ทั้งตลาดและเทวาลัยที่เป็นจุดดึงคนจึงมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่สองเขตไปพร้อม ๆ กัน

กระแสมูเตลูในประเทศไทยกำลังมาแรง การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมดวงและโชคชะตากำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ในยามที่เศรษฐกิจผันผวน การเกิดโรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการศึกษา และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ธุรกิจความเชื่อ สายมู และธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะเป็นธุรกิจที่มาแรงในปี 2567 โดยเฉพาะธุรกิจสายมูที่ประเมินว่าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 1.8-2.0 หมื่นล้านบาท และขยายตัวไม่น้อยกว่า 20-30% ต่อปี ซึ่งวิถีชีวิตบริเวณรอบ ๆ เทวาลัยพระพิฆเนศก็ดูจะเข้าข่ายทุกประการ ครบครันทั้งสายช็อป สายเที่ยว สายกิน และสายมู