ทำไมเดือนมกราคมถึงยาวนาน เมื่อความจริงกับความรู้สึกไม่เท่ากัน

มกราคม
ภาพจาก pexels

ทำไมเดือนมกราคมถึงยาวนาน ผ่านไปช้ากว่าเดือนอื่นทั้งที่จำนวนวันเท่า ๆ กัน เรื่องนี้มีคำตอบ เมื่อเวลาในความรู้สึกและความเป็นจริงไม่เท่ากัน

วิลเลียม สกายลาร์ก (William Skylark) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบายว่า “เวลาในความรู้สึก” มีตัวชี้วัดที่ค่อนข้างเปราะบางเมื่อเทียบกับ “เวลาที่เกิดขึ้นจริง” ดังนั้น เวลาที่เรารู้สึกอาจไม่เท่ากับเวลาในความเป็นจริง และทุกคนยังประสบกับเวลาที่แตกต่างกัน ตลอดจนมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อเวลาในความรู้สึกได้

ยกตัวอย่างเช่น กาเฟอีน ซึ่งถูกค้นพบว่าสามารถกระตุ้นทำให้รู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเร็ว หรือความรู้สึกที่ว่าเวลาผ่านไปช้าเมื่อดูหนังสยองขวัญ กล่าวง่าย ๆ คือความกลัวมีส่วนทำให้เวลาช้าลง ซึ่งเป็นผลกระทบของความตื่นตัวต่อความเร็วของระบบนาฬิกาภายในสมอง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อนาฬิกาสมองคือ “ฮอร์โมนโดพามีน” (Dopamine) ซึ่งจะหลั่งออกมาเวลาที่มีความสุขหรือประสบความสำเร็จ เมื่อโดพามีนสูงขึ้น สารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องจะช่วยเร่งนาฬิกาภายในร่างกาย “เมื่อมีความสุขเวลาจึงเหมือนผ่านไปเร็วขึ้น”

ในทางตรงกันข้าม “เมื่อไม่มีความสุขจะรู้สึกว่าเวลาเดินช้ากว่าความเป็นจริง” คนเรามีความสามารถที่ไม่ดีนักในการพิจารณาว่าบางสิ่งคงอยู่ได้นานแค่ไหน และยิ่งคิดว่าบางสิ่งจะอยู่นานเท่าไร ก็จะยิ่งสนุกน้อยลง เช่น รถติดระหว่างไปสนามบิน เป็นต้น

เรื่องนี้จึงสัมพันธ์กับความถามที่ว่า “ทำไมถึงรู้สึกว่าเดือนมกราคมถึงยาวนานกว่าเดือนอื่น” เพราะเดือนมกราคมคือการเริ่มต้นหลังจากการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ หลังปีใหม่ซึ่งต้องเข้าสู่โลกแห่งความจริงทั้งการเรียนและทำงาน จึงไม่สนุกเท่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

เดือนมกราคมมีเพียงการทำงาน การเริ่มต้นใหม่กับเป้าหมายที่คาดหวังไว้ และความรู้สึกที่ว่ายังเหลืออีกตั้ง 11 เดือนให้ต้องฝ่าฟัน และเดือนมกราคมยังไม่มีวันหยุดยาว มีอีกทีก็ต้องรอไปถึงช่วงซัมเมอร์เลยทีเดียว

นอกจากนี้ เงินเดือนที่ออกไปตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมก่อนหยุดปีใหม่ก็มีส่วนทำให้รู้สึกว่าผ่านพ้นต้นเดือนไปนานแล้ว การใช้เงินไปกับการเฉลิมฉลองและเที่ยวช่วงวันหยุดยาว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกรอคอยเงินของเดือนใหม่ที่จะออกมา ยิ่งส่งผลให้รู้สึกว่ามกราคมยาวนานขึ้น