เห็บ-หมัด สาเหตุสำคัญ โรคเลือดใน หมา-แมว สัตวแพทย์แนะป้องกันก่อนรักษา

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเลือดใน “หมา-แมว” สัตวแพทย์ชี้ “เห็บ-หมัด” เป็นสาเหตุสำคัญ แนะป้องกันก่อนต้องรักษา พร้อมเชิญชวนนำสัตว์เลี้ยงที่เเข็งเเรงบริจาคเลือด

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ภายในงาน “Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกในประเทศไทย” ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่โดยเครือมติชน ยกทัพ 20 รายการตรวจ-วัคซีน-ฝังไมโครชิป-กรูมมิ่ง ฟรีกว่า 500 เคสต่อวัน ตลอด 4 วันเต็ม พร้อมอัดแน่น 19 เวทีทอล์ก 16 เวิร์กช็อป และทัพสินค้ามากกว่า 100 ร้านค้า วันที่ 28-31 มีนาคมนี้

สำหรับเวทีเสวนาในเวลา 15.00 น. “สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์” คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมพูดคุยและให้ความรู้ในหัวข้อ “โรคเลือด โรคยอดฮิตในสัตว์เลี้ยงที่ควรระวัง”

สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์
สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์

โรคเลือด โรคยอดฮิตสัตว์เลี้ยง

สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าวว่า เมื่อเรียกรวมว่าโรคเลือดหลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้าบอกว่าสุนัขเป็นโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ หรือมีพยาธิในเม็ดเลือด หลายคนอาจจะคุ้นเคย ซึ่งบางตัวเป็นหนักถึงขั้นต้องถ่ายเลือด

โรคเลือดยังรวมมะเร็ง หรือเนื้องอกที่ใหญ่และต้องผ่าตัด ก็ต้องใช้เลือดเพื่อช่วยในการรักษา รวมทั้งโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย ก็จะมีภาวะเลือดจาง หรือตับวาย ก็อาจมีภาวะการเเข็งตัวของเลือด ทั้งหมดนี้เรียกว่าอาการผิดปกติทางเลือด ซึ่งต้องรักษาโรคเลือดตามมา

โรคเลือดในสุนัข

สำหรับสุนัข จะพบโรคเลือดมากในกลุ่มที่มีเห็บ สุนัขที่ไม่ได้ป้องกันเห็บหมัดอย่างต่อเนื่อง อาจมีเลือดจะจาง เกล็ดเลือดต่ำ เลือกกำเดาไหลไม่หยุด เป็นต้น ซึ่งกว่า 90% มีต้นเหตุมาจากเห็บ

เมื่อมีเห็บ สิ่งที่ตามมาคือเกิดพยาธิในเม็ดเลือด สุนัขจะมีอาการซึม ไม่เล่นกับเราเหมือนเดิม เบื่ออาหาร ปัสสาวะ-อุจจาระเป็นเลือด มีเลือดกำเดาออกข้างเดียว หรือเลือดออกตามไรฟัน

สำหรับการป้องกันมีหลายวิธี ทั้งผลิตภัณฑ์แบบกินและหยอดหลัง ซึ่งแนะนำให้ป้องกันสม่ำเสมอทุก 1-3 เดือน ทั้งนี้การป้องกันดังกล่าว เจ้าของกว่า 50% ยังเข้าใจผิด การป้องกันเมื่อมีเห็บแล้วไม่ได้ช่วย เพราะถือว่ามีเชื้อแล้ว ดังนั้น ต้องป้องกันด้วยการกินยาและหยอดยาทุกเดือนก่อนจะเกิดเห็บ และเเนะนำให้ใช้ยาที่มี อย.

นอกจากสาเหตุจากเห็บแล้ว ยังมีพยาธิในหัวใจที่เกิดจากยุง ดังนั้นทุก 3 เดือนก็ต้องป้องกันพยาธิหัวใจด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเฉียบพลัน แต่มักจะเป็นตอนติดเชื้อไปแล้วหลายปี จะมีอาการไอ หอบ ไม่เหมือนพยาธิในเม็ดเลือดที่มีอาการฉับพลัน โดยทุกอาการที่กล่าวมามีโอกาสเกิดกับสุนัขทุกสายพันธุ์

โรคเลือดในแมว

สำหรับโรคพยาธิเม็ดเลือดในเเมว มีสาเหตุมาจากหมัด ซึ่งจะทำให้เกิดพยาธิตัวตืดด้วย ซึ่งสามารถติดสู่คนได้ด้วย โดยสังเกตเวลาเเมวมีหมัด จะมีจุดดำเล็กๆ ตกตามพื้นหรือตามตัวเเมว ซึ่งเป็นขี้หมัด

อาการพยาธิตัวตืด สังเกตได้จากเมื่อแมวอุจจาระจะเป็นลักษณะยาว ๆ หรือเป็นปล้อง แนะนำให้เจ้าของพาเเมวไปถ่ายพยาธิที่โรงพยาบาลหรือคลีนิก และใช้ยาหยอดหลัง โดยต้องให้สัตวแพทย์แนะนำและสั่งจ่ายยา ไม่แนะนำให้ซื้อเอง

การดูแลรักษา

สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าวว่า การรักษาดูแลขึ้นอยู่กับว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคอะไร ถ้าเป็นพยาธิในเม็ดเลือดก็ต้องรักษาโดยตรงร่วมกับการรักษาสิ่งเเวดล้อมรอบ ๆ ต้องได้รับยาป้องกันเห็บหมัดทั้งตัวที่เป็นรวมถึงตัวอื่น ๆ ด้วย

ดังน้้น จึงแนะนำให้เลี้ยงระบบปิดจะดีที่สุด หรือหากนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านก็ควรใช้รถเข็นหรือกระเป๋า เพราะการเดินจะทำให้ติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์เล็กหรือพันธุ์ใหญ่

สำหรับสายพันธุ์ก็มีผล สุนัขบางสายพันธุ์อาจมีปริมาณเม็ดเลือดเเดงและเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่ออยากเลี้ยงก็ต้องศึกษาก่อน เช่นโรคประจำพันธุ์คือโรคเลือด โรคผิวหนัง โรคสะโพก เป็นต้น

ส่วนแมว สาเหตุโรคเลือดไม่ค่อยเกิดจากสายพันธุ์ แต่จะเป็นหมัดส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดู เพราะในไทยส่วนมากเลี้ยงระบบเปิด อาจติดเชื้อไวรัส เอดส์แมว มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งทำให้มีปัญหาเกียวกับเลือดตามมา

ตัวอย่างเช่น โรคเอดส์แมว จะเริ่มจากการถูกกัด จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มบกพร่อง ทำให้เลือดจาง การรักษาคือการถ่ายเลือดซึ่งทำได้แค่ประคับประคอง ถ้าแมวไม่สร้างเลือดใหม่ก็ต้องถ่ายเลือดเรื่อย ๆ จนเสียชีวิตในที่สุด

วัคซีนสำคัญ ป้องกันก่อนรักษา

สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าวว่า ควรป้องกันโรคมากกว่าเป็นแล้วค่อยรักษา สำหรับแมวแนะนำให้ 2-4 เดือนแรกทำวัคซีนให้ครบ ทั้งไข้หัด หวัดแมว พิษสุนัขบ้า รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคเอดส์ก่อนนำเเมวใหม่เข้าบ้านมาเลี้ยงกับเเมวเดิม เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวติดต่อจากการกินอาหารถ้วยเดียวกัน ส่วนเอดส์ติดต่อจากการกัดกัน

“วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าแมวเริ่มป่วย เริ่มซึม แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ ห้ามให้ยาพาราเด็ดขาด เพราะเม็ดเลือดแดงในแมวจะแตก และทำให้เลือดเป็นพิษ ห้ามป้อนยาเอง” สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าว

สำหรับสุนัข เมื่ออายุ 2 เดือนควรเริ่มทำวัคซีน รวมถึงป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหัวใจทุก 1-3 เดือนอย่างต่อเนื่อง จะป้องกันการเกิดพยาธิเม็ดเลือดได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของเลือดจาง และต้องถ่ายพยาธิลำไส้ด้วย โดย 6 ปีแรกทำให้ครบ 3-4 เข็ม และกระตุ้นปีละ 1 ครั้งตลอดชีวิต

“วัคซีนที่หมาและเเมวควรฉีดปีละ 1 ครั้ง คือ วัคซีนพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคสัตว์สู่คน…แม้วัคซีนจะไม่ได้ป้องกัน 100% แต่จะลดอาการรุนเเรงหากเป็นโรค” สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าว

ธนาคารเลือด ทำบุญต่อชีวิต

สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าวถึง การนำสุนัขและเเมวมาบริจาคเลือด ว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนมากจะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่รับบริจาคเลือด ซึ่งมีหน่วยบริการเคลื่อนที่ ผู้ประสงค์จะนำน้องหมา-แมวมาบริาค สามารถติดต่อเข้ามาได้ เช่น รวมกันหลาย ๆ ตัวในหมู่บ้าน เราก็จะมีหน่วยเคลื่อนที่ออกไปรับ

สัตวแพทย์จะตรวจเลือดว่าปกติหรือไม่ ซึ่งทราบผลใน 10-15 นาทีไม่ได้ใช้เวลานาน ถือเป็นการทำบุญ และหมุนเวียนเปลี่ยนเลือดใหม่ในร่างกายสัตว์ด้วย

สำหรับสุนัขจะต้องเป็นพันธุ์ใหญ่น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมขึ้นไป ทำวัคซีนครับ และป้องกันเห็บหมัดต่อเนื่อง ส่วนแมวต้องมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัมขึ้นไป โดยมีอายุช่วง 1-5 ปี และควรเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิด พร้อมทั้งทำวัคซีนต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากแมวมีโรคจำเพาะ เช่น เอดส์แมว

ปัจจุบัน ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาบริจาคเลือด 20 ตัว อาจบริจาคได้ 5-10 ตัว และเมื่อปั่นแยกคุณภาพ อาจใช้เลือดได้ 5 ตัวเท่านั้น นับว่ายังขาดเเคลนเลือดสำรองอีกมาก

บางครั้งผ่าตัดเร่งด่วน ก็ต้องใช้เลือดเพื่อประคองอาการน้อง ๆ หรือบางตัวต้องฟอกไต หมาและเเมวต้องถ่ายเลือดก่อนถึงจะฟอกไตได้ เลือดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อเลี้ยงชีวิต ธนาคารเลือดจึงต้องมีเลือดสำรองเสมอ

ถ้าเจ้าของมีสุนัขหรือแมวพันธุ์ใหญ่ สามารถยื่นความจำนงที่จะบริจาคเลือดได้ เราจะเก็บเป็นธนาคารเลือดเพื่อช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น หรือในอนาคตหมา-แมวของเราอาจต้องการเลือด จึงอยากเชิญชวนให้มาบริจาคเลือดตอนที่ยังเเข็งเเรง

“ถ้าสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพเเขงเเรง อยากให้มาทำบุญร่วมกัน ให้เลือดต่อลมหายใจหมา-แมวที่ป่วย ถ้าเรามีเลือดสำรองก็จะช่วยเหลือชีวิตเขาได้ทัน ช่วยเหลือในโรคที่เขาเป็น ด้วยกรุ๊ปที่ตรงกัน และตรวจการเข้ากันได้ของเลือดเเล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลือโดยปลอดภัยสำหรับสัตว์” สพ.ญ.สุวรัตน์ กล่าว