เปิดประวัติ สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

เปิดประวัติ “สมณะโพธิรักษ์” นักบวชผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของสำนัก “สันติอโศก” ผู้นำกองทัพธรรม มรณภาพด้วยโรคชรา ในวัย 90 ปี

“สมณะโพธิรักษ์” มีชื่อเดิมว่า “มงคล รักพงษ์” เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อ “นายทองสุข แซ่โง้ว” มารดาชื่อ “นางบุญโฮม รักพงษ์” เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพมหานคร ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “รัก รักพงษ์”

ต่อมาได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยได้รับฉายาว่า “โพธิรกฺขิโต” จากนั้นวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ได้เข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกาย ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม โดยไม่ได้สึกจากคณะธรรมยุต จนกระทั่ง พ.ศ. 2516 ได้คืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุต และถือไว้แต่ใบสุทธิฝ่ายมหานิกาย

ภายหลัง ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์ ได้ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม (นานาสังวาส) เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกรีต จากการปฏิบัติที่เคร่งครัด

มหาเถรสมาคมเห็นว่าพระโพธิรักษ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัยหลายประการ จึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 และมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง โดยคณะทำงานด้านพระธรรมวินัยมีความเห็นว่า พระโพธิรักษ์ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายมีความเห็นว่า พระโพธิรักษ์ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ต่อมาคณะการกสงฆ์ (ใช้เรียกสงฆ์หมู่หนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้มีมติ 4 ประการ ดังนี้

1.ให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยสั่งให้ พระโพธิรักษ์สละสมณเพศ

2.บริวารของพระโพธิรักษ์ซึ่งเข้าบวชโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าต้องการจะบวชให้ถูกต้อง ก็ให้มารายงานตัวต่อสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดผู้เป็นการกสงฆ์ขึ้นไป

3.ให้ประกาศนียกรรมแก่พุทธบริษัทให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน

4.ให้กรมการศาสนาแจ้งแก่ภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักรให้ทราบข้อเท็จจริงและมิให้คบหาสมาคมสมณะโพธิรักษ์และบริวาร

เมื่อได้รับการพิพากษาว่าเป็นผู้แพ้ สมณะโพธิรักษ์ จึงไม่สามารถเรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกว่า สมณะ แทน

สมณะโพธิรักษ์จึงประกาศแยกตัวไม่อยู่ในอาณัติคณะสงฆ์ไทย และได้ไปตั้งชุมชนสันติอโศก ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, ชุมชนศรีสะอโศก ที่ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ, ชุมชนศาลีอโศก ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ และชุมชนปฐมอโศก ที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบวชของชาวอโศกมิชอบด้วยกฎหมาย ในเดือนมิถุนายน 2532 “พิศาล มูลศาสตร์สาทร” ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น จึงสั่งให้จับกุมสมณะโพธิรักษ์และพวกทั้งหมดรวม 105 คน โดย พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน 80 คดี

จำเลยที่ 1-79 มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 คือ ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์ และให้จำคุกคนละ 3 เดือน

สำหรับสมณะโพธิรักษ์ จำเลยที่ 80 สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าว จำนวน 33 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 66 เดือน

บทบาททางการเมือง

สมณะโพธิรักษ์ ได้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” เป็นหัวหน้าพรรค และมีบทบาททางการเมืองคือการนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาลระบอบทักษิณ ใน พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 ตลอดจนเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ใน พ.ศ. 2555

นอกจากนี้ ยังเข้าการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ใน พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2557 ด้วย โดยร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งสมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ที่มา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง