จุดไฟ-วางเป้าหมายกับ นักวิ่งระดับโลก มากกว่าการแข่งขัน คือแรงบันดาลใจให้ชีวิต

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

กีฬาวิ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ จะเห็นได้จากกระแสการจัดงานแข่งขันวิ่งมินิ มาราธอน, ฮาล์ฟ มาราธอน, มาราธอน รวมถึงกีฬาวิ่งเทรลที่กำลังได้รับความสนใจจากเหล่าคนรักสุขภาพในขณะนี้ นอกจากสุขภาพที่ผู้วิ่งได้รับแบบเต็ม ๆ แล้ว กีฬาวิ่งยังเป็นชนิดกีฬาที่หลายคนให้นิยามว่าเป็น “กีฬาวิเศษ” เพราะไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ราคาแพงอะไรมากมาย เพียงแค่มีรองเท้าวิ่งสักคู่ และใจที่พร้อมจะออกสตาร์ตเท่านั้นที่จะสามารถพาตัวเราออกมาสร้างสุขภาพที่ดีได้

ความนิยม และความสำคัญของการวิ่งถูกถ่ายทอดอีกครั้งบนเวทีเสวนาสร้างแรงบันดาลใจที่จัดขึ้นโดยแบรนด์รองเท้าสำหรับนักวิ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา “โฮก้า โอเน่ โอเน่” (HOKA ONE ONE) ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวแบรนด์ครั้งแรกในประเทศไทยด้วย ทางแบรนด์ได้เชิญนักวิ่งไทย และนักวิ่งระดับโลกมาร่วมพูดคุยส่งต่อแรงบันดาลใจทั้งหมด 5 ท่าน ได้แก่ ไทเลอร์ แอนดรูวส์ นักวิ่งระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา, ภูมิพัฒน์ แจ่มเวหา, นฤพนธ์ ประธานทิพย์, จ่าเอกอนันต์ ดวงโสภา และ นพมาศ รัชวิวัฒน์ 4 นักวิ่งไทยที่ได้รับการ qualified แข่งขันวิ่งมาราธอน และไตรกีฬาระดับนานาชาติมาแล้ว

จุดเริ่มต้นในการออกสตาร์ต

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับกีฬาวิ่งไม่ใช่การเตรียมอุปกรณ์ หรือการหาคู่เล่นเหมือนกีฬาชนิดอื่น ๆ แต่เป็นการตัดสินใจของตัวเราเองที่พร้อมจะก้าวออกมาจากข้ออ้างสารพัดร้อยแปดหรือไม่ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการวิ่งของนักวิ่งทั้ง 5 ก็มีทั้งเหมือน และแตกต่างกันออกไป นักวิ่งระดับโลกอย่างไทเลอร์ แอนดรูวส์ เล่าว่า เขารู้จักกับกีฬาวิ่งครั้งแรกในช่วงอายุ 16-17 ปี ขณะที่ก่อนหน้านั้นไทเลอร์ไม่ใช่คนที่สนใจกีฬามากนัก ด้วยร่างกายที่ไม่ได้สูงใหญ่-แข็งแรง ไม่ได้เป็นนักกีฬาโรงเรียน แต่จุดเปลี่ยนหรือ “turning point” จริง ๆ ที่ทำให้หันมาเอาดีด้านการวิ่งมาจากครูโรงเรียนมัธยมปลายที่อยากให้เขาพัฒนาตัวเองด้วยการหากิจกรรมยามว่างทำ และการวิ่งก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่ทำให้เขาหันมาใส่ใจตัวเอง ไทเลอร์บอกว่า การออกไปวิ่งในทุก ๆ วันแม้แต่การซ้อมฝึกฝนที่ไม่ใช่การแข่งขันก็ทำให้เขาตระหนักที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ เพราะการวิ่งเป็นกีฬาที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร แต่ทำให้ได้แข่งกับตัวเองทุกวัน

ด้าน นฤพนธ์ ประธานทิพย์ ผู้ที่เคยมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม แต่วันนี้เขากลายเป็นนักวิ่งที่สามารถเข้าแข่งขันกีฬาวิ่งระดับนานาชาติได้แล้ว เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นในตอนแรกมาจากปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานจึงทำให้เขามีสุขภาพย่ำแย่ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ครบทุกโรค ซึ่งจุดพลิกผันจริง ๆ เป็นเพราะเขาประสบอุบัติเหตุล้ม

หลังจากพักพื้นแล้วนฤพนธ์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตัวเอง จึงหันมาเอาดีด้านการวิ่งเพราะไม่รู้จะเล่นกีฬาอะไร ในช่วงแรกการวิ่งของเขาจึงเป็นการวิ่งเพื่อรักษาชีวิต แต่หลังจากฝึกซ้อมทุกวัน ๆ นฤพนธ์บอกว่า การวิ่งก็ไม่ต่างกับการอาบน้ำ แปรงฟัน หรือกินข้าว วิ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปแล้ว จากเดิมที่เป็นการวิ่งเพื่อรักษาชีวิต ปัจจุบันหากวันไหนไม่ได้วิ่ง เขาจะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที

ภูมิพัฒน์ แจ่มเวหา นักกีฬาวิ่งที่อายุน้อยที่สุดบนเวทีเสวนาเล่าว่า การวิ่งของเขาเริ่มต้นจากความสงสัยส่วนตัว ความสงสัยที่ว่า ทำไมหลายคนถึงยอมตื่นแต่เช้า และจ่ายตังค์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนกัน ภูมิพัฒน์ฝึกซ้อมเพียงไม่นานก็ตัดสินใจสมัครวิ่งในรายการเล็ก ๆ เพียง 5 กิโลเมตร ปรากฏว่า วันนั้นเขาวิ่งไป 10 กิโลเมตร ทำให้เข้าใจในทันทีว่า ความสุขที่ได้จากความสำเร็จจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างไร

รับมือกับความล้มเหลว-ผิดหวังจากเป้าหมาย

แม้จะเป็นนักวิ่งแข้งรางวัล ประสบความสำเร็จกันมาหลายต่อหลายรายการ แต่แน่นอนว่า ทั้ง 5 คนต้องเคยเผชิญกับความล้มเหลวมาก่อนเช่นกัน ไทเลอร์ที่เป็นนักกีฬาวิ่งระดับโลกเองบอกว่า เมื่อไม่นานมานี้เขาก็พลาดหวังจากรายการแข่งขันระดับเวิลด์ แชมเปี้ยนชิพมาเมื่อต้นปี 2019 ณ ตอนนั้นสุขภาพร่างกายไทเลอร์ไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาไม่สามารถจบการแข่งขัน และต้องออกจากการแข่งไปก่อน ไทเลอร์เล่าว่า ตอนนั้นเขาเสียใจ และรู้สึกผิดหวังกับตัวเองอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญมากกว่าการนั่งเสียใจ คือ ตัวเขาได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดครั้งนี้บ้าง

“ตอนนั้นผมไม่สามารถวิ่งได้จนจบเพราะไม่สบาย เราก็ผิดหวังในตัวเอง แต่ผมให้เวลาตัวเองเสียใจแค่วันเดียวพอหลังจากนั้นผมพยายาม move on จากความเสียใจ แล้วมองย้อนกลับไปว่า เราจะทำอย่างไรให้ครั้งหน้าดีขึ้น ผิดพลาดน้อยลง ครั้งนี้ปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมตอนนั้นเราป่วยระหว่างแข่ง ที่ป่วยเพราะเราอาจจะเตรียมตัวมาไม่ดีหรือเปล่า มีจุดไหนที่ต้องเตรียมตัวมากกว่านี้มั้ย ฉะนั้นถ้าไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ให้เวลาตัวเองเสียใจได้วันเดียวพอแล้วลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่จะพัฒนาตัวเราต่อไป ต่อให้เราประสบความสำเร็จก็ดีใจวันเดียวพอ เป็นเรื่องธรรมดามากที่แม้จะเตรียมตัวมาอย่างดี แต่ก็สามารถผิดพลาดกันได้ เราอาจจะคิดว่า เราต้องทำมันให้ดี แต่บางทีหน้างานอาจจะเกิดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ให้ลองทบทวนว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไร เราแก้ไขมันได้มั้ย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นบ้าง ฉะนั้นความล้มเหลวจริง ๆ สำหรับผมจึงไม่ใช่ความพลาดหวังระหว่างทาง แต่เป็นการที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวนั้นเลยต่างหาก”

ส่วนนฤพนธ์แชร์ประสบการณ์ว่า สนามล่าสุดที่เขาพลาดไป คือ สนามที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 ในปีนั้นเขาฝึกซ้อมอย่างเคร่งครัดมากกว่าการแข่งขันในสนามอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การจบระยะด้วยเวลาที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นฤพนธ์บอกว่า วันนั้นอุณหภูมิลดต่ำลงเหลือ 0 องศา การวิ่งในครั้งนั้นจึงคล้ายกับเป็นการวิ่งเพื่อประคองตัวเองให้ไปถึงเส้นชัย เพราะหากหยุดวิ่งร่างกายก็จะยิ่งแย่ลงเพราะอากาศที่หนาวจัด จึงต้องพยายามเร่งฝีเท้าเพื่อให้ความอบอุ่นเข้ามาแทนที่ หลังจากจบการแข่งขันในสนามนี้เมื่อปี 2018 นฤพนธ์นำความผิดพลาดในครั้งนั้นกลับมาตั้งเป้าหมายใหม่ ฝึกซ้อม-วางแผนให้รัดกุมขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเขากลับไปแก้มือที่รายการเดิมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้สามารถจบระยะได้ไวกว่าสถิติครั้งก่อนราว ๆ ครึ่งชั่วโมง และในปีหน้านฤพนธ์ก็ตั้งใจจะเข้าแข่งขันที่สนามเดิมด้วยเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้นไปอีกด้วย

“a better me” : สิ่งที่ได้รับจากการวิ่ง

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า นอกจากสุขภาพร่างกายอันแข็งแรงที่ได้จากการวิ่งแล้ว บทเรียนที่เหล่านักวิ่งได้รับระหว่างทางยังสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ด้วย

“a better me” คือ นิยามที่ไทเลอร์ แอนดรูวส์ ให้กับการฝึกซ้อมในทุก ๆ วัน เขาบอกว่า การวิ่งช่วยกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต ทำให้เขาอยากเป็นคนที่ดีขึ้นเก่งขึ้นในทุก ๆ วัน การวิ่งได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเขาในทุก ๆ ด้านทั้งเรื่องสุขภาพ รวมถึงการจัดระเบียบชีวิตในแง่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก เวลาเกิดปัญหาจากประเด็นเหล่านี้ เขาสามารถหยิบบทเรียนจากความล้มเหลวในการวิ่งมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ สามารถมองและเรียนรู้เหมือนกับการมองเห็นความล้มเหลวจากการแข่งขันวิ่งได้

ไทเลอร์ยังฝากทิ้งท้ายสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ด้วยว่า การวิ่ง และการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างสามารถทำได้ด้วยการชวนเขาเหล่านั้นออกมาวิ่งไปด้วยกัน เพราะถ้าวิ่งคนเดียวบางคนอาจจะล้มแพลนกะทันหันไปเองด้วยความขี้เกียจ หรืออะไรก็ตาม แต่หากเราวางแผนกับเพื่อน หรือคนรักแล้ว เราจะไม่สามารถล้มเลิกความตั้งใจนั้นได้คล้ายกับการมี commitment ที่จะต้องออกไปวิ่ง และเมื่อได้เริ่มต้นขึ้นให้วางตารางคร่าว ๆ ไว้สัก 2-3 วันต่อสัปดาห์ จากนั้นการวิ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันเราไปเอง