มายด์ ภัสราวลี : ถ้ารัฐบาลถามว่าเมื่อไหร่จะหยุด ประยุทธ์ลาออกสิ แล้วมาคุยกัน

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

สาวน้อยตาคม หน้าสวย รอยยิ้มสดใส พูดจาฉะฉาน น้ำเสียงหนักแน่น ฉลาดตอบโต้ด้วยเหตุผล สุภาพ แต่ก็ดุดันเมื่ออยู่บนเวทีปราศรัย คือภาพของมายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในแกนนำการชุมนุม “ราษฎร 2563” จากกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นขวัญใจฝ่ายผู้ชุมนุม และถูกเรียกด้วยคำนำหน้าที่เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนว่า “น้องมายด์” พร้อมทั้งได้รับคำชมว่า มีบุคลิกที่น่าจะเจรจากับฝ่ายตรงข้ามได้ดี

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร คนนี้เล่าแบ็กกราวนด์ของตัวเองว่า เธอมาจากครอบครัวชนชั้นกลางในจังหวัดสระบุรีที่พ่อทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง แม่ทำกิจการค้าขายเครื่องสำอาง ก่อนจะเปลี่ยนมาขายเครื่องประดับ จากวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป เหตุที่ทำให้เธอหันมาสนใจเรื่องการเมืองก็เพราะครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลังจากการทำรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557

เธอเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาเรื่องการเมือง แล้วจับกลุ่มกับเพื่อน 3-4 คนในมหาวิทยาลัยพูดคุยเรื่องการเมือง ก่อนจะก่อตั้งกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมทางการเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหวจริงจังเมื่อต้นปีที่ผ่านมาร่วมกับกลุ่มนิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยมีบทบาทเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการร่วมกับกลุ่มมอกะเสด (KU Daily) จัดการชุมนุม “เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ

หลังจากนั้นมา มายด์และกลุ่มของเธอทำงานสนับสนุนการชุมนุมอยู่เงียบ ๆ จนเมื่อแกนนำการชุมนุมหลายคนถูกจับกุมคุมขัง มายด์จึงรับไมค์ต่อและก้าวขึ้นมาเป็นมือปราศรัยคนสำคัญ

ในห้วงเวลาที่เสียงตะโกน “พี่น้องคะ” อันหนักแน่นของเธอยังดังก้องอยู่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวน มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล มานั่งคุยกันแบบผ่อนคลายสบาย ๆ ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในช่วงเวลาที่สำคัญแห่งยุคสมัย

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

Q : มีวาทกรรมที่ว่า “เด็กถูกล้างสมอง” และ “มีผู้ใหญ่บงการ” อยากอธิบายหรือโต้แย้งอะไรไหม

(ขำเบา ๆ) ทุกครั้งที่หนูได้รับคำพูดที่บอกว่า “เด็กถูกล้างสมอง” หรือว่า “มีผู้ใหญ่ชักใย” หนูรู้สึกเสียใจนะ คุณดูถูกคนที่จะเป็นอนาคตของชาติแบบนี้เหรอ ในเมื่อคุณนิยามว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ทำไมคุณไม่ให้พื้นที่เขาในการแสดงความคิด ทำไมคุณเอาความคิดของคุณไปครอบว่าเด็กจะพูดแบบนี้ได้ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง ทำไมคุณถึงไม่ลองเปิดใจและมองดูศักยภาพของเด็กบ้าง

หนูมองว่าการพูดคุยระหว่างบุคคลที่มีความต่างระหว่างวัยต้องยกเรื่องวัยออกไปก่อน แล้วมาพูดในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน การที่เราเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผลมันจะทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจความคิดกันได้มากขึ้น คือเราไม่จำเป็นจะต้องเอาความคิดของเราไปให้เขาคิดเหมือนกับเรา เราทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดหลักประชาธิปไตยด้วย สิ่งที่ถูกต้องคือเราต้องแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้โดยที่ยังเคารพสิทธิของคนอื่น เราพยายามฟังในสิ่งที่เขาพูดและทำความเข้าใจกับมัน แล้วหาจุดร่วมมาเป็นทางออกที่จะอยู่ร่วมกัน หนูว่าอย่างนี้มันจะเวิร์กกว่า การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะปัญหาไหนก็ตาม

Q : ทั้งคนทั่วไป ทั้งนักวิชาการแนะนำว่าผู้ชุมนุมต้องหาแนวร่วม ต้องโน้มน้าวอีกฝั่งหนึ่งให้มาร่วม ไม่ใช่เอาแค่คนที่เห็นร่วมกันอยู่แล้ว ในหมู่แกนนำมีการพูดคุยเรื่องนี้ไหม มีความพยายามจะดึงคนกลาง ๆ หรือคนอีกฝั่งเข้ามาอย่างไรบ้าง

หนูเคารพในความเห็นต่างของทุก ๆ คน หนูเชื่อว่านี่มันเป็นความหลากหลาย เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย แต่ละคนต้องมีความเป็นปัจเจกของตัวเองและสามารถจะโชว์ศักยภาพหรือความคิดของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนคิดเหมือนเรา แต่หนูต้องการให้ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เปิดกว้างทางความคิด เปิดใจให้กว้างแล้วรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยความจริงใจ มันควรเป็นแบบนั้นมากกว่า

Q : หมายความว่า ในมุมมองของคุณคือ มวลชนไม่เพิ่มก็ไม่เป็นไร ถ้าคนที่เขาเห็นต่างเขายังเปิดใจรับฟังเรา

ใช่ หนูมองว่าการที่แต่ละคนมีความคิดเห็นต่างกันมันไม่ได้เป็นปัญหา แต่มันเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีมุมมองใหม่ ๆ จะได้เห็นมุมมองเหลี่ยมใหม่ ๆ ที่ทำให้เราได้มาขัดเกลาเรื่องราวที่เรากำลังหาทางออกอยู่นั้นให้มันดีมากขึ้น ให้มันเหมาะสมกับสังคมมากขึ้น ซึ่งถ้าวางอารมณ์ลงแล้วมองกันด้วยเหตุผลจริง ๆ หนูว่าเราสามารถพูดคุยกันได้ ทางฝั่งที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยไม่มีปัญหาหรอก คนที่มาชุมนุมมีการเปิดกว้างมากพอที่จะรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายอื่น ๆ อย่างที่เห็นว่ามีลุงที่ใส่เสื้อเหลืองมาม็อบเราก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้แบ่งแยกคนจากสีเสื้อ เรามองจากความคิดว่าเขาคิดอะไร เขาต้องการสื่อสารอะไร แต่ละคนมีปัจเจกความคิดของตัวเอง ซึ่งเราควรจะให้เกียรติความคิดของแต่ละคน

Q : การต่อสู้มันต้องการมวลชนที่มากขึ้นเพื่อมาเป็นพลัง แต่จากที่ฟังคือคุณไม่ได้มองว่าพลังมันมาจากแค่จำนวนมวลชนเท่านั้น

ใช่ค่ะ ส่วนหนึ่งมันมาจากจำนวน อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ การกดดันอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ อย่างอำนาจรัฐบาลต้องใช้คนจำนวนมากในการที่จะทำให้รัฐบาลเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันอย่างไร แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ความเข้มแข็งของมวลชน ณ ตอนนี้เราพยายามเปิดพื้นที่เสรีที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่จะได้แสดงออกทางความคิด การกระทำตรงนี้มันเปรียบเสมือนการปลูกความเป็นประชาธิปไตยลงในสังคม ณ ปัจจุบันนี้หนูมองว่าเราแค่บำรุงอย่างเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องปลูกเพิ่ม ทำยังไงก็ได้ให้มันกระจายสู่วงกว้างได้มากที่สุด

ตอนนี้หนูมองว่าการที่ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ และมันเป็นสิ่งที่จะสืบสานต่อไปในอนาคต ถ้าประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลทำอะไรไม่น่าพอใจ เขาสามารถเรียกร้องได้ มันจะทำให้ประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น และเรื่องนี้มันจะไม่ถูกทำลาย ไม่ถูกลดทอนไป มันอาจจะถูกมองข้ามไปบ้าง แต่เมื่อมันถูกปลูกแล้ว วันหนึ่งมันจะกลับขึ้นมาเสมอ สิ่งที่เราทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ คือเราจะทำยังไงให้การตื่นตัวครั้งถัด ๆ ไปมันยังมีพลังและยังเข้มแข็งสืบไปเรื่อย ๆ และมันต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ มันจะต้องไม่ดับลง

Q : เราสรุปได้ไหมว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งที่สำคัญมากที่ทำให้คนตระหนักเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย

บอกได้เลยว่าเกี่ยวมาก ๆ ตัวหนูคนหนึ่งที่ทนไม่ไหว เพราะว่าที่บ้านไม่ไหว รายจ่ายเราเท่าเดิมและเพิ่มขึ้น แต่รายรับเราน้อยลงแบบเท่าตัว บ้านหนูไม่ได้มีเงินเดือนประจำมันเลยมีปัญหาฝืดเคือง ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ครอบครัวหนูที่เป็นแบบนี้ บางคนเรียนจบปริญญาต้องมาขายลูกชิ้นในม็อบเพราะเขาหางานทำไม่ได้ หลายคนทำงานแล้วก็แย่ เพราะเงินเดือนไม่ขยับ เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 มากี่ปีแล้ว แต่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่มีรายรับมากพอที่จะดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ควรเป็นแบบนั้น ประเทศเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มาก ทรัพยากรธรรมชาติเยอะแยะ แต่ประชาชนเรากลับไม่มีกิน ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ประชาชนไม่ควรจน ประชาชนควรต้องมีกิน และมีกินได้อย่างสุขสบาย มันควรต้องเป็นแบบนั้น

เราจะมองแค่การบริหารงานของรัฐบาลอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ เศรษฐกิจโลกมีผล สงครามการค้ามีผล แต่พวกนั้นเราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้คือการทำงานของรัฐบาล เราถึงออกมาเรียกร้องว่านี่เป็นความผิดของรัฐบาลนะ ถ้ารัฐบาลมีศักยภาพมากพอในการพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร พอเจอโควิดมันจะไม่หนักขนาดนี้ เราจ่ายเงินภาษีให้รัฐบาลทำงานแทนเรา เราฝากความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เราได้ แต่รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องยอมรับสิ่งที่ตัวเองกระทำไป ประชาชนบอกว่าเราต้องการคนทำงานคนใหม่ที่มีศักยภาพมากกว่านี้ คุณก็ต้องยอมรับได้

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

Q : ภาคธุรกิจมักจะเข้ากับรัฐบาลเสมอ แม้เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร มีอะไรอยากสื่อสารกับกลุ่มนี้ไหม

หนูเข้าใจได้ เพราะว่ามันคือธุรกิจ มันคือสิ่งที่ต้องแลกกันด้วยผลประโยชน์ เขามีธุรกิจมีทรัพย์สินที่เขาต้องปกป้องดูแล หนูเข้าใจว่าทำไมนักธุรกิจระดับบน ๆ ถึงเข้ากับรัฐบาลเพื่อที่จะรักษาธุรกิจเอาไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าฝากถึงนักธุรกิจหนูอยากจะให้มองอย่างนี้ว่า เราเข้าใจในมุมมองของนักธุรกิจค่ะ คุณต้องปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่อีกนัยหนึ่งก็อยากให้มองถึงความเดือดร้อนของประชาชนในปัจจุบันด้วย อยากให้คุณลองชั่งใจและวิเคราะห์ปัญหาในสังคมตอนนี้ว่า คุณจะช่วยทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ไม่ได้บอกว่าคุณต้องเข้าข้างฝ่ายใด แต่หลักสำคัญคือคุณได้อะไรจากสังคม แล้วคุณจะทำอะไรให้สังคมบ้าง

Q : มีความกังวลจากภาคธุรกิจว่าการชุมนุมยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง

ถ้าจะบอกว่าเราทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อยากให้มอง 2 ทาง ทางหนึ่งคือเราอาจจะทำให้รถติดไปบ้าง ต้องขออภัยจริง ๆ เพราะว่าประชาชนต้องการพื้นที่เรียกร้อง และเขาต้องทำได้ อีกทางหนึ่งก็คือ ถ้าคุณไม่ปิดกิจการของคุณ กลุ่มทุนใหญ่จะได้ลูกค้ามากขึ้นนะ ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเซเว่นฯมีคนเต็มเลย ทุนใหญ่ได้ผลพลอยได้ในบางส่วน แต่คนที่ได้ผลพลอยได้เยอะมากคือคนตัวเล็ก ๆ ที่มาขายของในม็อบ เราอาจจะทำให้กลุ่มใหญ่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็เป็นผลกระทบเล็ก ๆ คุณเจ็บน้อยนะ ถ้าเทียบกับที่ประชาชนเจ็บมา 6 ปี พวกคุณเจ็บน้อยมาก สิ่งที่เราทำตอนนี้เราทำให้คนหาเช้ากินค่ำได้มีช่องทางในการค้าขายมากขึ้น ซึ่งมันดีที่เราได้กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรายย่อย ทำให้คนกระตือรือร้นมากขึ้น ไม่ใช่หมดหวังกับสภาพเศรษฐกิจอย่างเดียว

Q : ให้ย้ำอีกทีว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร

ข้อเรียกร้อง ณ ตอนนี้นะคะ มี 3 ข้อหลักที่ประชาชนเห็นตรงกัน หนึ่งคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก สองคือ ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ สามคือ ต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการทำให้ดีขึ้น ปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้น ให้กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำไมเราถึงต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติหลายอย่าง ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างงดงามสถาพรและเป็นมิ่งขวัญของคนไทยสืบไป

Q : มีคนพยายามบอกว่า “ปฏิรูป” เท่ากับ “ล้มล้าง”

หนูอยากเอาพจนานุกรมไปยื่นให้เขาแล้วบอกว่า พี่คะ เปิดเลย คำว่าปฏิรูปไม่ได้เท่ากับล้มล้าง ปฏิรูปคือการปรับปรุงให้ดีมากขึ้น หนูอยากให้ดูคำขยายความมากกว่า มันจะทำให้คนในสังคมเข้าใจได้ตรงกันมากขึ้น มันอาจจะเป็นโจทย์ของผู้ชุมนุมตอนนี้ว่า เราจะทำยังไงให้ขยายความเข้าใจตรงนี้ไม่ให้ผิดเพี้ยน

Q : คิดอย่างไรกับแนวทางที่จะใช้คณะกรรมการสมานฉันท์

(ถอนหายใจ) ถ้าจะเอาคณะกรรมการสมานฉันท์มาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย หนูมองว่าไม่สัมฤทธิผลหรอก เพราะว่าประชาชนไม่ได้ต้องการคนกลาง ประชาชนต้องการคนที่มาอำนวยความสะดวกในการเปิดพื้นที่เสรีมากกว่า ไม่สามารถจะเอาใครเป็นตัวแทนใครเข้าไปพูดแล้วหาข้อสรุปจากคนกลุ่มเดียวได้ มันไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ถ้ารัฐบาลจริงใจ รัฐบาลต้องออกมาเปิดเวทีรับฟังข้างนอก คุณเปิดคอลเซ็นเตอร์ก็ได้ เปิดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ได้ เปิดแอ็กเคานต์ไลน์ให้มีการส่งข้อเรียกร้องก็ยังได้ เทคโนโลยีมันเอื้อมาก หรือถ้าจะเอาแบบคลาสสิกหน่อยก็เปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เปิดรับฟังประชามติ มันสามารถทำได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำ

หนูมองว่าคนกลางจะทำให้มีปัญหา เพราะว่าคนกลางจะเป็นตัวกรองที่ทำให้ประเด็นนั้นซอฟต์ลงและสามารถพูดคุยกันได้มากที่สุด คนกลางคือนัก compromise แต่เราไม่ต้องการนัก compromise เราต้องการพื้นที่ให้คนต่างฝ่ายได้เอาเหตุผลของแต่ละคนมาพูดคุยกัน แล้วบอกว่าฉันมีเหตุผลแบบนี้นะ และฉันรับอะไรได้บ้าง รับอะไรไม่ได้บ้าง คุณรับอะไรได้บ้าง รับอะไรไม่ได้บ้าง มาคุยกันหาจุดร่วมตรงกลาง อย่างนี้มันจะหาทางออกได้มากกว่า

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

Q : ที่จริงแล้วการสะท้อนปัญหาของประชาชนก็เป็นเรื่องที่เราทำได้ผ่านสภา ถ้าการเมืองมันปกติ

มีคนโจมตีเยอะมากว่ามาลงถนนทำไม ทำไมไม่ไปผลักดันในสภา หนูอยากจะถามว่าตอนนี้สภาคุยกันเรื่องอะไรคะ เปิดประชุมวิสามัญที่ผ่านมา ประชาชนอยากเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เปล่าเลย มีแต่เรื่องการใส่ร้ายผู้ชุมนุม อยากถามว่าพวกคุณผลักดันประเด็นของพวกเรายังไงคะ

หนูคิดว่าการหาทางออกในสภามันจำเป็น แต่พึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ มันต้องควบคู่กันไป คนข้างนอกก็ต้องผลักดันปัญหาให้เสียงดังที่สุด คนในสภาก็ต้องเอาปัญหาที่อยู่ข้างนอกเข้าไปขับเคลื่อนต่อในสภา ให้มันเกิดกระบวนการการแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด ถ้าไม่มีการกดดันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภา ก่อนหน้านี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพูดว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แล้วตอนนี้ทำไมประยุทธ์บอกว่า ผมจะเป็นคนผลักดันให้มีการแก้ไข นี่มันคือพลังของประชาชน เป็นการกดดันที่ทำให้ในสภาต้องเปลี่ยนไปในทิศทางไหน อย่างไร

Q : คุณมั่นใจใช่ไหมว่า “ถ้าการเมืองดี” ประเทศจะดี ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดี หลายคนอาจแย้งว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การเมือง

คำว่า “ถ้าการเมืองดี” อาจจะเป็นคำที่นิยามกว้างมาก ๆ หนูขอสโคปเข้ามาหน่อย หนูใช้คำนี้ดีกว่า “ถ้าการเมืองไทยมั่นคง” มันจะทำให้รัฐบาลสามารถดูแลและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมามัวสนใจโครงสร้างทางการเมือง หมายความว่า สมมุติว่าเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่มั่นคง ไม่มีการรัฐประหาร รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มากขึ้น ใส่ใจกับระบบการศึกษาได้มากขึ้น เขาจะมีเวลาไปใส่ใจเรื่องอื่น ๆ ของประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเอาเวลามาจมอยู่กับการแก้ไขปัญหาโครงสร้างอำนาจทางการเมือง มันควรจะต้องเป็นแบบนั้น

การจะทำให้การเมืองไทยมั่นคงได้มันต้องมีส่วนผสมหลายอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญที่มั่นคง ประชาชนที่เข้มแข็ง ประชาชนที่รู้และเข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง และเคารพในสิทธิของคนอื่น อีกเรื่องหนึ่งก็คือคนที่ถูกเลือกเข้าไปทำงานในส่วนที่สำคัญอย่างเช่น รัฐบาล รัฐสภา ต้องเข้าใจว่าคุณเข้ามาทำอะไร เข้ามาทำเพื่อใคร และต้องทุ่มเทกับการทำงานในจุดนั้น เพราะว่าคุณแบกประชาชนทั้งประเทศไว้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้บริหารต้องแก้ไขจัดการมันได้ และป้องกันไม่ให้ปัญหาแบบเดิมเกิดซ้ำอีก

Q : ตอนนี้มองการทำงานของฝ่ายค้านเป็นอย่างไรบ้าง

หนูมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีการเอาเปรียบในสภาอยู่แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น หนูสัมผัสได้ถึงการใจฝ่อของฝ่ายค้านบางคน แต่มันก็ยังมีกลิ่นอายการค้านการทำเพื่อประชาชนอยู่ ซึ่งหนูมองว่าตรงนี้ดีอยู่แล้ว และต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ เข้มแข็งให้มากขึ้นกว่าเดิม ใจฟูให้มากขึ้นกว่าเดิม คุณต้องหัวใจพองโตว่า ณ ตอนนี้ประชาชนที่อยู่ข้างนอกเขาตัวเล็กตัวน้อย แต่เขาเข้มแข็งมากขนาดไหน คุณอยู่ในสภามีเกราะป้องกันมีอภิสิทธิ์ คุณต้องเข้มแข็งให้ได้มากกว่าคนที่อยู่ข้างนอก คุณเป็นคนที่คนข้างนอกเลือกเข้ามา คุณต้องทำหน้าที่ ต้องต่อสู้ในกระบวนการที่มันควรจะขับเคลื่อนแทนพวกเขาด้วย มันต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

Q : เวลาพูดเรื่องสถาบัน คุณมีความกลัวไหม

เมื่อก่อนมันเป็นประเด็นที่แหลมคมมากจนไม่สามารถพูดถึงได้เลย แต่ ณ ปัจจุบัน หนูอยากให้ทุกคนมองว่า จุดประสงค์ของการพูดคุยไม่ได้เป็นการสร้างความขัดแย้ง บางครั้งการพูดคุยก็ทำให้เราหาทางออกร่วมกันได้ดีขึ้น จุดประสงค์ของตัวหนูเองที่พูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หนูไม่ได้ต้องการสร้างความบาดหมางในสังคม หนูมีจุดประสงค์อยากให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น หนูพูดด้วยจุดประสงค์ที่มีความปรารถนาดี เพราะฉะนั้น หนูจะไม่ผิด เรามั่นใจในเจตนารมณ์ของเรา และเราพยายามอธิบายเจตนารมณ์ของเราให้ทุกคนเข้าใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม

Q : มองกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐอย่างไร ที่จับแล้วปล่อย จับแล้วปล่อย

หนูว่าเขายังคงเดินเกมแบบเดิม เขาอาจจะกำลังหาแนวใหม่ ๆ ในการกำราบอยู่ แต่ว่าจะกำราบได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะว่าในปัจจุบันประชาชนไม่ได้ยอมจำนนต่ออำนาจที่มันไม่ถูกต้องขนาดนั้นแล้ว เมื่อไหร่ที่มีการกระทำที่ไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม หนูเชื่อว่าประชาชนหลายคนก็ทนไม่ได้ และออกมาแสดงออกเพื่อจะทวงความยุติธรรมคืนให้สังคมอยู่แล้ว

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

Q : เคยได้ยินคำถามจากฝ่ายสนับสนุนการชุมนุมเองว่า น้อง ๆ มีที่ปรึกษากลยุทธ์ไหม หรือคุยกันเองแค่นี้ ทนายอานนท์คือคนที่มีประสบการณ์มากสุดหรือยัง

ก็คุยกันเองอยู่แค่นี้ค่ะ พี่อานนท์เขามีเสน่ห์ตรงที่ว่าเขาพูดอะไรทุกคนจะฟัง ไม่ใช่ว่าเขาสามารถครอบได้ทุกคน แต่เขารับฟังคนนั้นคนนี้แล้วหาจุดร่วมตรงกลาง เขาเป็นคนคอยบอกว่าเอาแบบนี้ไหม มาอยู่ตรงกลางร่วมกันไหมแล้วเดินด้วยกันอย่างนี้ดีกว่าไหม ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้อย่าดูถูกความคิดเด็กเชียว บอกได้เลยว่าพวกนี้ไม่ใช่เด็ก พวกนี้ออกมายืนอยู่จุดนี้ในนามประชาชนที่มองเห็นปัญหาและต้องการแก้ไขมัน พวกเขาทำด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์จริง ๆ คนที่ออกมาทุ่มหมดหน้าตัก พวกเขาไม่ได้ออกมาเพราะอยากจะดังหรืออยากทำตัวเป็นฮีโร่ แต่พวกเขาออกมาเพราะเห็นว่าประเทศมีปัญหาและพวกเขาต้องการจะแก้ไขปัญหา โดยที่จะทำอย่างไรให้มันชาญฉลาดที่สุดในการต่อสู้ที่อันตรายครั้งนี้

Q : แกนนำคุยกันบ่อยไหม ทำงานประสานกันอย่างไร

มูฟเมนต์ในปัจจุบันมันแตกต่างจากเมื่อก่อนตรงที่ว่าเมื่อก่อนเป็นลักษณะแกนตั้ง ตอนนี้มันเป็นหลาย ๆ องค์กร ซึ่งไม่ได้ขึ้นตรงต่อกันอย่างชัดเจน แต่มีการติดต่อประสานงานกัน ด้วยความที่การเคลื่อนไหวมันไม่ได้เป็นองค์กรเดียว เมื่อไหร่ที่รัฐพยายามจะตัดตอนหัวขององค์กร อย่างเช่น จับแกนนำหรือจับผู้ปราศรัย มันเลยไม่มีปัญหา เพราะว่าเมื่อกลุ่มหนึ่งถูกจับ มันก็จะมีกลุ่มที่เหลือผุดขึ้นมาเสมอ มันทำให้มูฟเมนต์ ณ ตอนนี้เข้มแข็งและหลากหลายมาก

Q : ไม่ได้เกิดจากการวางกลยุทธ์อะไรใช่ไหม มันเป็นธรรมชาติที่หลาย ๆ กลุ่มอยากเรียกร้องสิ่งเดียวกัน

ใช่ค่ะ หนูคิดว่าการตื่นตัวของประชาชนในรอบนี้เป็นมูฟเมนต์ที่สวยงามมาก ๆ เพราะว่ามันถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยมันต้องหลากหลาย นี่คือหัวใจอยู่แล้ว แล้วการที่ทุกคนมีประเด็นในการเรียกร้องของตัวเองมันสำคัญมากในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่ว่าเราต่อสู้เพื่อไล่ประยุทธ์หรือเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น แต่หนูมองว่าตอนนี้มันเป็นการต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่เสรีในการพูดคุยให้ได้มากที่สุด มันควรเป็นพื้นที่ที่มีการอำนวยความสะดวก เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องอำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนในการแสดงออกทางความคิด แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย

Q : คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองหรือนักวิชาการก็มองไม่ออกว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะไปยังไงต่อ จะไปจบตรงไหนอย่างไร ฝั่งแกนนำเองมองออกไหม

หนูพูดในฐานะผู้ชุมนุมแล้วกัน พูดตรง ๆ ว่าหนูก็มองไม่ออกหรอก (หัวเราะ) ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องประเมินวันต่อวัน เราเคยวางยุทธศาสตร์ระยะยาวแล้วมันใช้ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะสามารถจัดการได้ทุกช่วงสถานการณ์ มันต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม เพราะฉะนั้น ยิ่งการเมืองมันเข้มข้นมาก ๆ ช่วงหนึ่งสัปดาห์มันอาจจะเปลี่ยนพลิกไปอีกหน้าหนึ่งเลยก็ได้ ตัวหนูเองก็ไม่รู้ว่าจุดปลายมันอยู่ตรงไหน แต่ที่แน่ ๆ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก ถ้ารัฐบาลถามว่าเมื่อไหร่จะหยุด ประยุทธ์ลาออกสิ แล้วมาคุยกันถึงเรื่องที่ว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร และเราจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร

Q : คุณมีไอดอลในการต่อสู้ไหม

อืม… (คิด) สำหรับการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาจากใคร แต่ถ้าชื่นชอบตัวบุคคลก็มีหลายคนที่หนูชื่นชอบ อย่างเช่น อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเราเอาแต่ละคนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรา แต่บอกได้เลยว่า ในการต่อสู้ในครั้งนี้ คนที่หนูยกให้เป็น the best คือพี่อานนท์ (หัวเราะอารมณ์ดี) พี่คือสุดยอด (ชูนิ้วโป้งสองข้าง)

Q : ถ้าการเมืองดี ถ้าประเทศเป็นปกติ คุณมีความฝันอยากจะมีชีวิตแบบไหน อยากทำอาชีพอะไร

ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอบง่ายมากเลย หนูอยากเรียนจบแล้วเป็นวิศวกรที่หาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ แค่นั้นแหละ แต่ ณ ปัจจุบันมันตอบยากมาก เพราะว่าเราออกมาต่อสู้อย่างเต็มตัว หนูรู้สึกว่าหนูอยู่ในจุดนี้แล้ว หนูไม่สามารถจะละทิ้งมันออกไปจากชีวิตได้แล้ว หนูมองเห็นปัญหาในสังคมแล้ว หนูรู้ว่าเราจะละเลยไม่ได้ เราต้องเฝ้าดูมันเพื่อแก้ไขมันเสมอ เพราะเราไม่อยากให้มันเกิดปัญหาแบบนี้ในรุ่นลูกรุ่นหลาน หนูคิดว่า ในอนาคตไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร แต่ในอีกบริบทหนึ่ง เราก็ยังเป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หนูคิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไรก็สามารถจะดูแลปกป้องประชาธิปไตยไปควบคู่กันได้