6 เหตุการณ์สำคัญที่เราได้รู้จากภาพเฉลิมฉลองสวย ๆ ของ Google Doodles

ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

เมื่อนึกอะไรไม่ออกให้ถามอากู๋ หรือ Google เซิร์ชเอ็นจิ้นอันดับ 1 ที่คนทั่วโลกคุ้นเคย เชื่อว่าในทุก ๆ วันของการท่องโลกอินเทอร์เน็ต เราจะต้องได้เปิดหน้าเว็บ Google กันอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในบางวันหน้าเว็บที่เราเห็นก็เป็นโลโก้ Google ธรรมดา ๆ แต่บางวันเราจะพบความพิเศษตรงตำแหน่งโลโก้ที่สร้างสรรค์รูปภาพประกอบสวยงาม บางวันอาจจะเป็นภาพนิ่ง บางวันอาจจะเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งภาพเหล่านี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล วันสำคัญ รำลึกถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ซึ่งสิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่นี้เรียกว่า Google Doodles เรียกกันสั้น ๆ ว่า Doodle

Google Doodles เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1998 จนปัจจุบันมีเหตุการณ์และวันต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น กลายเป็นสร้างรอยยิ้มให้ผู้ใช้งานได้ไม่น้อย และยังเป็นการให้ความรู้ไปในตัวด้วย เพราะเมื่อเราเปิดเข้าไปเห็นรูปภาพ เราก็จะอยากรู้ว่า Google กำลังจะพูดถึงอะไร เมื่อคลิกตรงรูปภาพ Google ก็จะพาเราไปพบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์นั้น ๆ

ในเดือนมีนาคมนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” สังเกตเห็นว่า Google ได้นำเสนอ Doodle ค่อนข้างถี่ เราเห็นแล้วรู้สึกสนใจจึงได้เลือก Doodle 6 ตัวในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนมีนาคมมานำเสนอให้คุณผู้อ่านได้ลองดูไปพร้อมกับเราว่า ในช่วงเวลานี้มีวันสำคัญหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในอดีตบ้าง

Dr.Wu Lien-teh’s 142nd Birthday

10 มีนาคม 2021 เป็นวันเกิดครบรอบ 142 ปีของ นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ (Wu Lien-teh) นักระบาดวิทยาชาวจีน-มาเลเซีย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเกี่ยวกับสาธารณสุข การระบาดวิทยาสมัยใหม่ให้แก่แผ่นดินจีนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และยังเป็นผู้คิดค้นแผ่นปิดหน้าสำหรับผ่าตัดซึ่งเป็นต้นแบบของหน้ากาก N95

เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเกิดการระบาดของกาฬโรคขึ้นในมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 6 หมื่นคน ช่วงเวลานั้นเอง นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ เข้ามารับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด จนสามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทางการแพทย์ในสมัยนั้น

นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ คือใคร วันที่ 10 มีนาคม เมื่อปี 1879 อู่เหลียนเต๋อกำเนิดในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปอยู่ปีนัง เขตบริติชมาลายา อาณานิคมของสหราชอาณาจักรในแหลมมลายู ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย เมื่ออายุ 17 ปี เขาสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (Queen’s Scholarship) ไปศึกษาต่อด้านระบาดวิทยาและแบคทีเรียวิทยา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และได้เป็นนักศึกษาจีนคนแรกที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากที่นี่

หลังจากศึกษาวิชาแพทย์ในหลายประเทศในยุโรปจนเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงระดับโลกในยุคนั้น นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ ตัดสินใจเข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ทหารบกและเป็นอาจารย์แพทย์ในวิทยาลัยแพทย์ทหารบกเป่ยหยางแห่งนครเทียนจิน ประเทศจีน

ในการต่อสู้กับการระบาดของกาฬโรค นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ ได้คิดค้นหน้ากากแบบง่าย ๆ ที่นำผ้าก๊อซมาประกบกับสำลีหลาย ๆ ชั้น และแนะนำให้ผู้คนสวมใส่เพื่อป้องการการแพร่เชื้อ เดือนเมษายนปี 1911 ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งเขาใช้เวลาเพียง 4 เดือนหลังจากที่ได้รับมอบหมาย จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นายแพทย์อู่เหลียนเต๋อ เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีนคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา

Udupi Ramachandra Rao’s 89th Birthday

ศาสตราจารย์และนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอินเดีย Udupi Ramachandra Rao หลายคนรู้จักเขาในนามของ “India’s Satellite Man” ในวันที่ 10 มีนาคม 2021 Google Doodles ได้ฉลองวันเกิดครบรอบ 89 ปีของเขา เพื่อระลึกถึงบุคคลที่สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

Rao เกิดในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย เขาเริ่มเส้นทางอาชีพโดยเป็นนักวิทยาศาสตร์รังสีคอสมิก และทำงานภายใต้การนำของ Dr.Vikram Sarabhai นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของโครงการอวกาศของอินเดีย

หลังจากที่ Rao ได้ทำงานเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเทกซัสแห่งดัลลัส จากนั้นได้ทำการทดลองบนยานอวกาศ Pioneer และ Explorer ของ NASA ซึ่งหนึ่งในการทดลองของเขาทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์รังสีคอสมิกสุริยะและสถานะแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างดาวเคราะห์ในอวกาศ

เมื่อเดินทางกลับมาอินเดีย ศาสตราจารย์ Rao ได้ใช้ความรู้ความสามารถของเขาก่อตั้งโครงการเทคโนโลยีดาวเทียมในอินเดียขึ้นในปี 1972 โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ด้วยการส่งดาวเทียมดวงแรกของอินเดียที่มีชื่อว่า Aryabhata ในปี 1975 เป็น 1 ในดาวเทียม 20 ดวงที่เขาพัฒนาขึ้น เพื่อให้บริการด้านการสื่อสารและอุตุนิยมวิทยา

ในฐานะประธานองค์กรวิจัยอวกาศของอินเดียเขาได้ผลักดันโครงการต่าง ๆ และพัฒนาเทคโนโลยีจรวด เช่น Polar Satellite Launch Vehicle (PSLV) ซึ่งปล่อยดาวเทียมไปแล้วกว่า 250 ดวง ทำให้ศาสตราจารย์ Rao เป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับการจารึกชื่อใน Satellite Hall of Fame เมื่อปี 2013

Astor Piazzolla’s 100th Birthday

11 มีนาคม 2021 หาก อัสเตอร์ เพียซซอลลา (Astor Piazzolla) นักประพันธ์ดนตรีชาวอาร์เจนตินา ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ 100 ปีในวันนี้ ซึ่งเขาคือผู้ปฏิวัติการเต้นรำที่เรียกว่าแทงโก้จากแบบดั้งเดิมให้เป็นรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Nuevo tango

อัสเตอร์ เพียซซอลลา เกิดเมื่อปี 1921 ที่เมืองมาร์เดลปลาตา (Mar del Plata) อาร์เจนตินา จากนั้นครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก เมื่อยังเด็กเขาชอบฟังเพลงจากแผ่นเสียงของพ่อ ซึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับดนตรีจังหวะแทงโก้ หลังจากนั้นพ่อของอัสเตอร์ได้ซื้อ Bandoneon เป็นเครื่องดนตรีที่คล้ายกับหีบเพลงของอาร์เจนตินา เขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วและเขียนเพลงแทงโก้ขึ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ขวบ

เมื่ออายุ 33 ปีเขาเริ่มเบื่อแทงโก้ จึงหันไปเรียนดนตรีคลาสสิก โดยเดินทางไปยังปารีสเพื่อฝึกงานกับ Nadia Boulanger นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง จนกลายเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกสมัยใหม่ และกลับมาอาร์เจนตินาอีกครั้งในปี 1955 เขาใช้เวลาในการศึกษาอยู่หลายปีกับการที่จะนำเอาดนตรีคลาสสิกและแทงโก้มาผสมผสานกัน จากนั้นจึงได้ก่อตั้งวงดนตรีของตัวเองขึ้นในชื่อ Octeto Buenos Aires

ตลอดชีวิตของอัสเตอร์ เพียซซอลลา เขาแต่งเพลงไว้กว่า 3,000 เพลง และมีเพลงที่ถูกบันทึกเสียง 500 เพลง ปีนี้เนื่องในวันครบรอบวันเกิด 100 ปีของเขา ทางมูลนิธิ Astor Piazzolla ได้จัดการแข่งขัน Piazzolla Music ขึ้นเป็นเกียรติแก่บิดาแห่งแทงโก้สมัยใหม่ด้วย

Mother’s Day 2021 in UK and Nigeria

วันแม่ วันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและเป็นเกียรติให้แก่แม่ทุกคน ในแต่ละประเทศก็จะมีการกำหนดวันแม่แตกต่างกันออกไป สำหรับสหราชอาณาจักรและประเทศไนจีเรีย วันแม่ปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งการกำหนดวันแม่จะจัดขึ้นก่อนเทศกาลอีสเตอร์ หรือวันอาทิตย์ที่ 4 ในฤดูถือบวชเลนต์ (The period of Lent) ทำให้ในแต่ละปีวันแม่จึงต่างกันขึ้นอยู่กับปฏิทินจันทรคติ

ในสหราชอาณาจักรผู้คนส่วนใหญ่จะไปที่คริสตจักรเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง บางครอบครัวอาจจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน และมอบดอกไม้ การ์ดข้อความหรือรูปภาพเพื่อเป็นของขวัญให้คุณแม่

ไนจีเรียมีการเฉลิมฉลองวันแม่คล้าย ๆ กับสหราชอาณาจักร โดยคุณแม่ส่วนใหญ่จะแต่งกายด้วยชุดที่สวยที่สุดไปเฉลิมฉลองเทศกาลนี้พร้อมกับลูก ๆ ที่คริสตจักร บรรยากาศภายในโบสถ์จะครึกครื้นไปด้วยการร้องเพลง เต้นรำ และสรรเสริญพระเจ้า ลูกแต่ละคนจะแต่งกลอนและมอบของขวัญให้กับแม่ของพวกเขา

Hungary National Day

15 มีนาคม 2021 Doodle ได้เฉลิมฉลองวันชาติฮังการี เพื่อระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศในวันนี้เมื่อปี 1848 ซึ่งมีบุคคลสำคัญในเหตุการณ์คือ ซานเดอร์ เปโตฟี (Sandor Petofi) เป็นนักกวีและนักปฏิวัติเสรีนิยมชาวฮังการี เขาเป็นผู้เขียนบทกวี Nemzeti dal และอ่านบทกวีนี้ในวันที่ 15 มีนาคม บนขั้นบันไดของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติฮังการี ในกรุงบูดาเปสต์ พร้อมกับมวลชนที่มาชุมนุมกัน เพื่อประกาศการสิ้นสุดการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย ต่อมาบทกวีนี้ได้กลายเป็นบทกวีประจำชาติของฮังการี

Photo by AFP

การเฉลิมฉลองวันชาติของฮังการีเริ่มต้นที่จัตุรัส Kossuth ด้วยการชูธงประจำชาติสีแดงขาวและเขียว ตามธรรมเนียมชาวฮังการีจะติดริบบิ้นสีเดียวกับธงชาติเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเช่นเดียวกัน สีเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อชาวฮังการี ซึ่งใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยรัฐธรรมนูญแห่งฮังการีได้ระบุว่า สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งของชาวฮังการี สีขาวหมายถึงความจงรักภักดี และสีเขียวแสดงถึงความหวัง

Celebrating Charoen Krung Road

17 มีนาคมเป็นเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยเรานี่เอง นั่นคือการเปิดใช้งานถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนที่สร้างแบบตะวันตกสายแรกของไทย โดยเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเปิดให้สัญจรอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มีนาคม ปี 1864 แล้วได้เป็นต้นแบบของถนนสายอื่น ๆ ในประเทศไทย

ในช่วง 1860 การค้าขายในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นทางน้ำ ชุมชนเมืองในสมัยนั้นจึงอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเจ้าหน้าที่กงสุลก็มีมากขึ้น จึงมีการเข้าชื่อขอให้สร้างถนนขึ้นมาสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มตัดถนนนี้ในปี 1862

เมื่อแล้วเสร็จถนนเส้นนี้ยังไม่มีชื่อเรียก คนทั่วไปจึงเรียกว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปก็เรียกว่า New Road ต่อมารัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามถนนเส้นนี้ว่า เจริญกรุง มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ปัจจุบันถนนเส้นนี้ยังคงรักษาเสน่ห์ ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันยาวนาน และเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างความเก่าและความใหม่ของเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ

สำหรับการเฉลิมฉลอง 157 ปีของถนนเจริญกรุงในปีนี้ นอกจากทำจะ Doodle สวย ๆ แล้ว Google ยังได้จัดแคมเปญพิเศษ ร่วมกับเพียว โลกุตรา ศิลปินนักวาดภาพประกอบจัดทำโปสต์การ์ดภาพวาดแผนที่ถนนเจริญกรุงในปัจจุบัน และร่วมกับร้านค้าต่าง ๆ บนถนนเจริญกรุงทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ แต่ละร้านมีระยะเวลาจัดโปรโมชั่นไม่เท่ากัน บางร้านมีโปรโมชั่นแค่วันที่ 17 มีนาคม แต่ร้านที่จัดโปรโมชั่นนานที่สุดก็ยาวไปถึงช่วงสงกรานต์เลย