สัมภาษณ์ 2 ผู้มีตำแหน่งบริหารจัดการวัคซีนโควิด ทำไมไทยฉีดวัคซีนได้น้อย

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนตามการจัดลำดับความสำคัญ เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม 2564 ผ่านมาถึงต้นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน เราฉีดวัคซีนไปแล้วราว 6 แสนโดส ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ในห้วงเวลาอันเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังขาในเรื่องการจัดหาและการฉีดวัคซีนให้ประชาชน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ต่อสายไปถึงนายแพทย์ 2 ท่านที่มีตำแหน่งในการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีน

คนหนึ่งเป็นต้นทาง อยู่ในฝ่ายจัดหาวัคซีน นั่นก็คือ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีอีกตำแหน่งหนึ่งคือ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นปลายทาง นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนั่งตำแหน่ง ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

นี่คือคำถามและคำตอบที่เราได้มาจาก 2 ผู้มีตำแหน่งในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งขอเริ่มจากปลายน้ำที่จะให้ภาพการทำงานการกระจายและฉีดวัคซีน แล้วค่อยย้อนกลับไปที่การจัดหาวัคซีนที่ว่าช้ามาตั้งแต่ต้น แล้วตอนนี้จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร

ถาม-ตอบ กับนายแพทย์โสภณ เมฆธน ณ วันที่ 16 เมษายน 2564

Q : (ณ วันสัมภาษณ์) ไทยฉีดวัคซีนเข็มแรกไปราว 600,000 คน ฉีดครบ 2 เข็มประมาณ 75,000 คน ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้หรือไม่

นพ.โสภณ : ไม่ช้า เพราะฉีดได้ประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ของวัคซีนที่มีอยู่จำนวน 1 ล้านโดส ส่วนที่เหลือต้องเก็บไว้สำหรับฉีดเข็มที่ 2 จะนำไปฉีดให้คนใหม่ไม่ได้ ฉะนั้นการนับจำนวนที่ฉีดแล้วให้นับเข็มแรกเป็นสำคัญ ส่วนโดสที่สองเริ่มฉีดไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะครบกำหนดฉีดเข็มที่ 2 หลังวันที่ 21 เมษายน

Q : กังวลเรื่องวัคซีนจะมาไม่ทันที่ต้องการใช้หรือไม่

นพ.โสภณ : ใช่ครับ มันก็ลำบากเพราะไม่มีอะไรแน่นอน เรามีวัคซีนอยู่ในมือจริง ๆ 2.1 ล้านโดส คือที่กระจายไปแล้ว 1.1 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดสที่เข้ามาเมื่อวันที่ 10 เมษายน กำลังอยู่ในกระบวนการรับรองคุณภาพ อีกนิดเดียวคงจะได้เร่งกระจายแล้วครับ

Q : สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ปรับการกระจายวัคซีนอย่างไร

นพ.โสภณ : ตอนนี้ต้องเน้นที่บุคลากรทางการแพทย์ เราจะเห็นว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดกันเยอะ และต้องปิดบริการ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สบายใจ วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของการให้วัคซีนก็คือ เพื่อคุมระบบสาธารณสุขและระบบการบริการทางการแพทย์ให้เดินหน้าได้

แต่ตอนนั้นสถานการณ์ในบ้านเราไม่มีโรคแพร่ระบาดกระจายมากเท่าวันนี้ ในตอนเริ่มแรกเราจึงแบ่งไปฉีดให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่สีแดง ถ้าดูตัวเลขที่ผ่านมา เราแบ่งให้ประชาชนกับบุคลากรทางการแพทย์เท่า ๆ กัน แต่วันนี้โรคกระจายทั่วประเทศก็ต้องเร่งฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เยอะหน่อย

Q : ศักยภาพโรงพยาบาลที่เคยประเมินว่าฉีดได้โรงพยาบาลละ 500 คนต่อวัน ยังเป็นจำนวนนี้หรือไม่ บวกลบได้วันละเท่าไหร่

นพ.โสภณ : มีบวกลบครับ ไม่คงที่ อย่างเช่น จังหวัดชลบุรี เคยฉีดได้ 10,000 เข็มภายในหนึ่งวัน ภูเก็ตฉีดได้ 14,000 เข็มภายในหนึ่งวัน ผมยังยืนยันว่าเราสามารถฉีดได้ 10 ล้านเข็มต่อเดือน ถ้ามีวัคซีนเยอะ ผมว่าน่าจะเร่งฉีดได้มากกว่า 10 ล้านเข็มต่อเดือนด้วย

Q : วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เดือนมิถุนายนจะส่งมอบได้เท่าไหร่

นพ.โสภณ : ทางกรมควบคุมโรคคุยอยู่ครับ เดี๋ยวรอให้ยืนยันชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อนว่าเป็นอย่างไร จะส่งมอบวันที่เท่าไหร่ ได้จำนวนเท่าไหร่ มันถึงมีปัญหาเรื่องการเปิดให้จองฉีดวัคซีน สมมุติว่าเปิดให้จองแล้ว พอถึงวันวัคซีนยังไม่มา ก็จะเกิดความวุ่นวาย ดังนั้น ผมคิดว่าการเริ่มจองในเดือนพฤษภาคมก็โอเค

Q : การจองฉีดวัคซีนจะมีลิมิตต่อเดือนเป็นเฟส ๆ หรือไม่ หรือให้จองสะสมได้ไม่จำกัด

นพ.โสภณ : ผมว่าต้องจัดเป็นกลุ่มด้วย เราอยากให้คนที่มีโรคเรื้อรัง และคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้ฉีดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงควรได้ฉีดก่อน

เพราะฉะนั้น ต้องดู 2 มิติ มิติที่หนึ่งคือดูกลุ่มบุคคลที่ควรได้ฉีดก่อน และมิติที่สอง คือ พื้นที่ซึ่งระบาดเยอะก็ควรได้ก่อน อันนี้คือการจัดลำดับตามวัคซีนที่มา ถ้าวัคซีนมาเยอะ เหลือจากนี้ก็กระจายออกไปเรื่อย ๆ

Q : ในส่วนการกระจายตอนนี้ยังมีข้อกังวลหรือไม่

นพ.โสภณ : ตอนนี้ต้องรู้ให้แน่นอนก่อนว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ ส่งมอบครั้งเดียว 6 ล้านโดส หรือแบ่งเป็น 3 ล้านโดส 2 ครั้ง เป็นรายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเมื่อทราบรายละเอียดตรงนี้ก็ต้องไปลงรายละเอียดว่าโรงพยาบาลฉีดได้เท่าไหร่ แล้วจะเปิดให้จองอย่างไร

Q : ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีน คุณหมอมีความกังวลเรื่องระบบที่ต้องบันทึกข้อมูลเข้าสู่คลังส่วนกลาง ถึงตอนนี้เท่าที่ทำมาหนึ่งเดือนกว่า เป็นอย่างไรบ้าง

นพ.โสภณ : ตอนนี้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น อย่าง “หมอพร้อม” น่าจะพร้อม 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คิดว่าแก้ปัญหาไปได้เยอะแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคและเซิร์ฟเวอร์ และเรื่องการเชื่อมต่อกับศูนย์เทคของกระทรวงสาธารณสุข และตอนนี้ไปขอกระทรวงมหาดไทยส่งรายชื่อมา

คือมันหลายส่วนครับ ก็พัฒนาไป เราพยายามเร่ง คิดว่า 1 พฤษภาคมจะพยายามให้จองคิวได้ แต่จองเสร็จแล้วจะเริ่มฉีดวันไหน พูดตรง ๆ ว่าก็ยังไม่กล้าพูด ผมอยากรู้ว่าวัคซีนจะส่งมอบมาวันไหน แล้วค่อยว่ากันอีกทีในส่วนการกำหนดวันกระจายและฉีด

Q : เรื่องบุคลากร การปฏิบัติงาน ยังมีอะไรน่าเป็นห่วงไหม

นพ.โสภณ : ตอนนี้บุคลากรเรางานหนัก เรื่องการรักษาตอนนี้แต่ละโรงพยาบาลก็ลำบาก ถ้าบุคลากรติดโควิด 1 คน ก็มีคนที่สัมผัสใกล้ชิดที่ต้องกักตัว 14 วันอีกหลายคน ทำให้บุคลากรที่จะปฏิบัติงานหายไปเยอะมาก มีปัญหาตรงจุดนี้หนึ่ง และเรื่องการฉีด การสอบสวนโรค ตอนนี้มีเคสจำนวนมากที่ต้องไปสอบสวน ปริมาณงานก็เยอะขึ้น กำลังคนก็มีปัญหา

Q : การขยายไปฉีดที่ รพ.สต. ได้ข้อสรุปหรือยัง

นพ.โสภณ : ถ้าวัคซีนมาเยอะก็คงต้องลงไปฉีดในระดับ รพ.สต.ด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพการฉีดให้ได้มากขึ้น และบริการประชาชนให้สะดวกขึ้น บางแห่งก็ใช้ระบบมาพูลกัน เรียกคนมาฉีดตามพื้นที่กว้าง ๆ อย่างเช่น ที่ภูเก็ตทำก็ฉีดได้เยอะ การฉีดมีหลายแบบ แล้วแต่ศักยภาพของจังหวัด ตอนนี้เร่งวางระบบ คุยกันว่าระบบจองทำอย่างไร จะเริ่มวันที่เท่าไหร่ ตอนนี้ทางธนาคารกรุงไทยมาช่วยสอบถามความต้องการของประชาชนให้

Q : เตรียมระบบอย่างไรเพื่อไม่ให้ระบบล่ม

นพ.โสภณ : นี่เป็นสิ่งที่กำลังช่วยกันดูอยู่ ก็ต้องพยายามไม่ให้ล่ม แต่ระบบเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะโดนท้าทายอยู่แล้ว

Q : รู้สึกอย่างไรกับการทำงานนี้

นพ.โสภณ : มันเปลี่ยนตลอด มันยาก หนึ่ง-ผลทางวิชาการก็เปลี่ยน สอง-การบริหารจัดการไม่แน่นอน ของมาหรือของไม่มาก็ต้องปรับ สาม-งานบริการ จะทำอย่างไรให้ถูกใจคน ผมพูดอะไรไปก็เปลี่ยนอยู่เรื่อย จนเสียคำพูดไปเยอะแยะ

Q : มั่นใจว่าไม่ได้มีปัญหาที่การกระจายและการฉีด

นพ.โสภณ : ในกระบวนการฉีดวัคซีน ผมว่ามี 3 ส่วนใหญ่ ๆ หนึ่งคือความต้องการของประชาชนที่จะมาฉีด ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงที่เราสงบ ๆ คนไม่อยากฉีด ในกรุงเทพฯ ตอนแรกที่เริ่มกระจายไปไม่มีใครอยากมาฉีด เราชวน 10 คน เขามาฉีด 2 คน  แต่วันนี้มีแต่คนอยากฉีด นี่คือดีมานด์ขึ้น ๆ ลง ๆ

อันที่สองคือ ซัพพลายวัคซีนที่จะได้มาก็ไม่แน่ไม่นอน

อันที่สามคือ ศักยภาพในการฉีด ฉีดอย่างไรให้ปลอดภัย และเรื่องระบบของเรา จุดนี้ฉีดได้ตามเป้าหรือไม่ เป้ารวมคือต้องฉีดวันละ 300,000 กว่าโดส เพื่อจะให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส

มันประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ ถ้า 3 ส่วนนี้พร้อม ยอดการฉีดวัคซีนของเราก็จะเพิ่มขึ้น ในส่วนที่สาม ผมมั่นใจว่าเราไม่น่ามีปัญหา

ถาม-ตอบ กับนายแพทย์นคร เปรมศรี ณ วันที่ 19 เมษายน 2564

Q : วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีความชัดเจนเรื่องการส่งมอบหรือยัง อย่างไรบ้าง

นพ.นคร : วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบได้ลอตแรกในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จำนวนยังไม่แน่ชัดว่าได้มา 6 ล้านโดส หรือทยอยอย่างไร ตอนนี้คุยอยู่ครับ เรื่องแผนกับซัพพลายวัคซีนต้องดูหน้างานกันอีกทีว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ผลิตได้เท่าไหร่ การผลิตวัคซีนมีปัจจัยแวดล้อมเยอะ มีความละเอียดอ่อนมากครับ

Q : หน้างานอาจจะเป็นแบบทยอยมา ไม่ได้มาทีเดียว 6 ล้านโดส

นพ.นคร : ครับ ต้องดูกันตอนนั้น ตอนนี้กรอบก็คือในช่วงของการพูดคุยกัน จำนวนวัคซีนก็อย่างที่ผมเคยพูด คือ ประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อเดือน มันยังเป็นเรนจ์อยู่ ยังไม่ได้เป็นตัวเลขชัด ๆ พอเขาให้มาประมาณนี้ เราก็ต้องมาวางแผนก่อน

เมื่อถึงการส่งมอบวัคซีนจริงต้องไปดูหน้างาน เราจะกำหนดตัวเลขเป๊ะ ๆ เลยไม่ได้ มันไม่เหมือนกับการที่เรามีวัคซีนอยู่ในมือเต็มที่แล้วทยอยจัดส่งตามแผนเป๊ะ ๆ แต่มันคือการผลิตไปด้วยส่งมอบไปด้วย เพราะฉะนั้น มันเป็นการประมาณการและวางแผนร่วมกัน

Q : เรื่องที่ไทยฉีดวัคซีนช้า ในฐานะคนทำงานจะอธิบายอย่างไร

นพ.นคร : เรามีวัคซีนในมือ ณ เวลานี้ 1 ล้านโดส กระจายฉีดไป 600,000 โดส มันเป็นเรื่องของการจัดการตามแผนงาน ถ้ามีวัคซีนจำนวนมากขึ้น เราก็จะกระจายได้มากขึ้น ผมว่าเร็วไปที่จะตัดสินว่าเราฉีดช้าหรือฉีดเร็ว เพราะว่าการฉีดช้าหรือฉีดเร็วมันขึ้นอยู่ที่จำนวนวัคซีน เมื่อวัคซีนมีมาไม่เยอะ มันไม่ควรถูกกระจายแบบเบี้ยหัวแตก

ผมเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขทำงานกันเต็มที่อยู่แล้ว เวลามีวัคซีนมาเราก็กระจายออกไป แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่จะมาฉีดด้วย ตอนที่มีวัคซีนมาใหม่ ๆ คนลังเลอยู่เยอะมาก แต่เวลานี้คนที่ตอนแรกคิดว่าจะไม่ฉีดก็อยากฉีด ความต้องการมันขึ้น ๆ ลง ๆ ไปกับสถานการณ์การระบาด ผมต้องเรียนว่าคนทำงานก็ทำงานกันเต็มที่

Q : วัคซีนยังไม่พอ จะดีลซื้อจากเจ้าไหนอีกบ้าง

นพ.นคร : ตอนนี้ใครมีวัคซีน เราก็ดีลทุกเจ้าครับ แต่มันไม่มีซัพพลาย ผมก็พยายามจะบอกอยู่ แต่ก็ไม่เข้าใจกัน

Q : แต่ประชาชนก็มองได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลช้าตั้งแต่แรก เพราะว่าไม่ซื้อเจ้าอื่นตั้งแต่แรก

นพ.นคร : ความจริงต้องไปดูข้อมูลกัน ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 มีคนรวบรวมข้อมูลไว้ว่า ประเทศต่าง ๆ จองวัคซีนแล้ว 7,500 ล้านโดส แล้วตอนนี้จำนวนการส่งมอบและการฉีดวัคซีนยังไปไม่ถึง 1,000 ล้านโดสเลย

คำสั่งจองซื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นโดยประเทศร่ำรวยที่เขามีความสามารถในการสนับสนุนการวิจัยล่วงหน้า กลไกแบบนั้นมันไม่ใช่การจองซื้อปกติ ต้องไปดูเหตุการณ์ ณ เวลานั้น ต้องไปดูว่า ณ เวลานั้น เราจะจองอย่างไร

Q : ที่ดีลใหม่มีความเป็นไปได้ที่จะได้เจ้าไหนมาเพิ่มไหม

นพ.นคร : ความเป็นไปได้น่ะมี แต่ยังไม่อยากพูดเพราะยังไม่ได้คอนเฟิร์มกัน

Q : น่าจะได้สักกี่เจ้า จำนวนเท่าไหร่

นพ.นคร : ผมว่าอย่าเพิ่งพูดเลยดีกว่า ทุกอย่างมันเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจา ขึ้นอยู่กับเวลา ในการเจรจา ทุกเจ้าเขารับจอง แต่ว่าเขาจะมีของให้เมื่อไหร่ ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เขาไม่รับจอง ถ้าจองวันนี้ทุกเจ้าเขาเอาหมด แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ จองแล้วจะได้ของเมื่อไหร่ เราต้องดูเงื่อนไข

สมมุติว่าเราจอง ณ เวลานี้ ถ้ากำหนดการส่งมอบเป็นปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า สิ่งที่เรากังวลใจก็คือ ณ เวลานั้นถ้าไวรัสกลายพันธุ์ไปเยอะ แล้ววัคซีนใช้การไม่ได้ เราจะทำอย่างไรกับวัคซีนที่เราจองไว้ สถานการณ์มันแปรเปลี่ยน มันมองมุมเดียวไม่ได้ มันไม่ได้เป็นเส้นตรง

Q : เพราะฉะนั้น แผนตอนนี้ก็คือใช้อันที่เรามีอยู่ให้เต็มที่ไปก่อน แล้วระหว่างทางค่อยหาเพิ่มไปเรื่อย ๆ

นพ.นคร : ถูกต้องครับ แต่มันไม่ใช่คำว่าเรื่อย ๆ ต้องเป็นคำว่า เราพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาวัคซีนมาในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด เพียงแต่ว่า ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา กับความเป็นไปได้ในการส่งมอบวัคซีนของผู้ผลิตแต่ละราย นั่นคือข้อสำคัญ

Q : มีความเป็นไปได้ว่า เราจะจองของแอสตร้าเซนเนก้าอีก

นพ.นคร : เป็นไปได้ครับ แต่ว่าเท่าที่มีอยู่ก็ใช้ให้มันหมดก่อน การจองเพิ่มได้อยู่แล้วครับ แต่ผู้ผลิตวัคซีนหลายเจ้ากำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่จะตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ เราก็จับตาดูอยู่ว่ามันจะเป็นช่วงจังหวะเวลาไหน เราควรจะจองไหม เราต้องดูคู่ไปกับการจับตาดูไวรัสกลายพันธุ์ด้วย

ผมถึงเรียนว่ามันไม่ใช่เส้นตรง การจัดหาวัคซีนในช่วงเวลานี้มันมีความยากลำบาก อย่างไรก็ไม่ทันใจ แต่สมมติว่าถ้ามีไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ขึ้นมา ทุกคนก็จะบอกว่าจะทำยังไงวัคซีนไม่ตอบสนองต่อไวรัส ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปมากน้อยขนาดไหน

Q : ข้อกังวลเรื่องวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือด กังวลขนาดไหน

นพ.นคร : ก็เป็นข้อควรระวังและต้องติดตาม แต่ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องหยุดฉีดวัคซีน ณ เวลานี้ มันเป็นข้อสังเกตที่เกิดขึ้นกับวัคซีนรูปแบบ viral vector แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีรายงานจากวัคซีนรูปแบบอื่นแล้ว ก็เป็นอย่างที่ผมเคยบอกว่า เมื่อเริ่มใช้วัคซีนไปเยอะ อัตราอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากมันก็จะเริ่มเห็นมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่ามันคุ้มไหม ถ้ามันคุ้ม เราก็เดินหน้ากันต่อ