น้ำพระทัยในหลวง ต่อการแพทย์และสาธารณสุขยุคโควิด-19

ชาวไทยเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลาเกิน 1 ขวบปี วิกฤตครั้งนี้นับเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสและรับมือยากมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ในช่วงเวลามืดมนนี้เราก็ได้เห็นพลังจิตอาสาและน้ำใจจากหลายภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันมาตลอด

ในช่วงเวลาที่ชาวไทยประสบทุกข์เข็ญนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ก็ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญกับการควบคุมสถานการณ์ การตรวจคัดกรอง การดูแลรักษาประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์มาโดยตลอด

พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์ และทรงพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรับมือสถานการณ์และให้การดูแลรักษาประชาชนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งพระองค์ยังพระราชทานอาหารเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ด้วย

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข่าวในพระราชสำนักในห้วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ที่นำเสนอให้เห็นถึงน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ตรวจโควิดเชิงรุก

วันที่ 18 มีนาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องตรวจวิเคราะห์ด้านอณูชีวโมเลกุล จำนวน 1 คัน

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เฝ้าฯ รับพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพิ่มเติม จำนวน 4 คัน รวมทั้งหมด 5 คัน สำหรับใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

พระราชทานรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล AI สุดทันสมัย

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่พระลานพระราชวังดุสิต สำนักพระราชวังตรวจรับรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลคันแรกในประเทศไทยที่มีระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ทันสมัยที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข สำหรับนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ในการป้องกันดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนอย่างครบวงจร อีกทั้งยังรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

รถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลพระราชทาน ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล เป็นเครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิทัล FDR Smart X on Van ที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบ AI Technology ช่วยแพทย์วิเคราะห์ ประเมินคัดกรองผู้ป่วย เพื่อต้องการตรวจหาร่องรอยของโรค ซึ่งเครื่องจะตรวจจับแสดงตำแหน่งที่พบความผิดปกติด้วยจุด detection แสดงผลผ่านหน้าจอทันที แพทย์สามารถมองเห็นภาพเอกซเรย์ของผู้ป่วยผ่านจอมอนิเตอร์ หาร่องรอยโรค หรือความผิดปกติของโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าช่วยแบ่งเบาการทำงานและลดความเสี่ยงของแพทย์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลยังมีเครื่องเอกซเรย์ X Air เป็นเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา สามารถนำเครื่องเอกซเรย์ไปตรวจในภาคสนามได้ อันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนาม หรือโรงพยาบาลภาคสนาม เพื่อตรวจการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และเพื่อให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี

พระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่แก่ รพ.สนาม 19 แห่ง

วันที่ 28 เมษายน 2564 เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง เผยแพร่ข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ (portable x-ray digital) พร้อมระบบ AI ที่พร้อมปฏิบัติงานภาคสนามให้แก่โรงพยาบาลสนาม จำนวน 19 แห่ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นวงกว้างในขณะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและพบภาวะปอดอักเสบเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจภาพรังสีปอดให้ทันท่วงที เพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการรักษาพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง จะนำเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พระราชทานนี้ไปใช้และอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย และนำออกมาใช้งานในภาคสนามเมื่อมีภารกิจใหม่ต่อไป

โรงพยาบาลสนามจำนวน 19 แห่งที่ได้รับพระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ (portable x-ray digital) พร้อมระบบ AI ได้แก่

– โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ)

– โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน (ส่วนโรงพยาบาลบางขุนเทียน)

– โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน (ส่วนโรงพยาบาลลาดกระบัง)

– โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์

– โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 1 บางบอน (โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์)

– โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 บางกอกอารีน่า หนองจอก (โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์)

– โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

– โรงพยาบาลสนามสนามกีฬาจันทรุเบกษาดอนเมือง (โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช)

– โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

– โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลชลบุรี (โรงพยาบาลชลบุรี)

– โรงพยาบาลสนามศูนย์ห่วงใยคนสาคร (โรงพยาบาลสมุทรสาคร)

– โรงพยาบาลสนามสนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ (โรงพยาบาลนครพิงค์)

– โรงพยาบาลสนามสนามกีฬาบางมด (โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์)

– โรงพยาบาลสนามอาคารชาติชายฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา)

– โรงพยาบาลสนามระยอง (โรงพยาบาลระยอง)

– โรงพยาบาลสนาม ทอ. รร.การบินกำแพงแสน (โรงพยาบาลจันทรุเบกษา)

– โรงพยาบาลสนามปากเกร็ด (โรงพยาบาลปากเกร็ด นนทบุรี)

– โรงพยาบาลสนามขอนแก่น (โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น)

– โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี)

พระราชทานเครื่องมือการแพทย์แก่โครงการราชทัณฑ์ปันสุข

วันที่ 28 เมษายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ

พร้อมคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นำนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และทอดพระเนตรนิทรรศการเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ระยะที่ 2 ผลการดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์พระราชทาน ระยะที่ 2

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จำนวน 118,547,200 บาท แบ่งเป็นสำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย จำนวน 102,691,400 บาท และสำหรับเรือนจำ จำนวน 15,855,800 บาท ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ต้องขังในเขตพื้นที่อำเภอนั้น ๆ

พระราชทานอาหารแก่บุคลากร รพ.บุษราคัม

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลอากาศเอกสุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทนพระองค์เชิญอาหารพระราชทานไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

พระราชทาน “ถุงพระราชทานกำลังใจ” แก่บุคลากร รพ.บุษราคัม

วันนี้ 12 มิถุนายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลตรีนพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้อำนวยการกองโครงการในพระองค์และสารนิเทศ กองกิจการวัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์เชิญถุงพระราชทานกำลังใจ

เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 900 ถุง กล่องขนมพระราชทาน 18 ลัง อาหารกึ่งสำเร็จรูป 80 ลัง น้ำผลไม้ดอยคำ 50 ลัง นมยูเอชทีสวนจิตรลดา 50 ลัง ขนม 160 ลัง คุกกี้สวนจิตรลดา 20 ลัง และน้ำดื่มสวนจิตรลดา 200 แพ็ก ไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

พระราชทานเครื่องมือทางการแพทย์แก่สำนักการแพทย์ กทม.

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ พระราชทานแก่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19

ประกอบด้วย

– เครื่องช่วยหายใจ Hamiton C 1 จำนวน 3 เครื่อง

– เครื่องตรวจติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ จำนวน 20 เครื่อง

– เครื่องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ จำนวน 70 เครื่อง

– เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติแบบสอดแขน จำนวน 10 เครื่อง

– เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิด 2 เฟส จำนวน 5 เครื่อง

– เครื่องช่วยหายใจชนิดอัตราไหลสูง จำนวน 2 เครื่อง

– เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 100 เครื่อง

พระราชทานอาหารและเจลแอลกอฮอล์แก่บุคลากร รพ.บุษราคัม

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลอากาศเอกสุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 เป็นผู้อัญเชิญอาหารพระราชทาน ซึ่งทรงปรุงด้วยพระองค์เอง และเจลแอลกอฮอล์ไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกายและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในการนี้ผู้แทนพระองค์ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมพิธีความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19