มาริษา เจียรวนนท์ ใช้ “ศาสตร์-ศิลป์” ของอาหาร สร้างพลังบวกคืนสู่สังคม

มาริษา เจียรวนนท์
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

กว่า 1 ปี ของ “มูลนิธิเชฟแคร์ส” ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมิติและบริบททางสังคมในวงกว้างอย่างมากในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่การทำอาหารเพื่อบุคลากรด่านหน้าอย่างแพทย์และพยาบาล อาสาสมัคร ให้อิ่มท้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ที่มาที่ไปของ “มูลนิธิเชฟแคร์ส” หลายคนอาจจะเคยได้ยินและรู้จักอยู่บ้าง แต่จุดเริ่มต้นแรกเกิดขึ้นจากแนวคิดของ “มาริษา เจียรวนนท์” ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดรุนแรงอย่างมาก ผู้คนหวาดกลัว และแน่นอนว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“มาริษา เจียรวนนท์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส และประธานบริษัท เชฟแคร์ส โปรเจกต์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตนมีเพื่อนเชฟท่านหนึ่งนามว่า “เชฟวุฒิศักดิ์” ซึ่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต เวลานั้นมีไอเดียว่าอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อบุคลากรด่านหน้า แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัคร ในการต่อสู้กับโควิด-19 ให้มีกำลังในพลัง
ในบทสนทนาของจุดเริ่มต้นแนวคิดไอเดียดังกล่าวนั้น

ตนจึงได้คิดที่จะขยายผลให้ไอเดียดังกล่าวเป็นจริงขึ้นได้และยกระดับสู่ความยั่งยืนเพื่อช่วยสังคมและผู้คน นาทีนั้นจึงรวบรวมทุกสรรพกำลังที่มีทั้ง คอนเน็กชั่น และ แพสชั่น จึงได้รับการสนับสนุนหลักจาก ซีพีเอฟ พร้อมกับเหล่าบรรดาเชฟผู้ใจบุญ ในช่วงแรก 25 ท่าน ต่อมาให้หลังเพียงแค่ 1 เดือน จำนวนเชฟผู้ใจบุญก็เพิ่มขึ้นเป็น 73 ท่าน

“ในเวลานั้นทุกคนอยู่ภายใต้สถานการณ์ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ และ อารมณ์ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อไร แต่ด้วยความเชื่อของทุกคนที่มีต่อโปรเจ็กต์ เชฟแคร์ส ทำให้วันนั้นแม้จะทำอะไรไม่ได้ แต่ทำอะไรเพื่อคนอื่นได้”

มาริษา เล่าให้ฟังต่อว่า จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาในการทำงานและประสานงานด้วยระยะเวลาอันสั้นเพราะทุกคนต่างมาด้วยใจ ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ผลงานในการใช้ “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการทำอาหารมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม เลยนำไปสู่การก่อตั้งมูลนิธิในเดือนธันวาคม 2563

ดังนั้นหากมองในเชิง Soft Power ที่เปรียบเทียบกับ ประเทศเกาหลี ที่มีกระแส K-Pop, K-Drama เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ขณะที่ Soft Power ของประเทศไทย คือ Hospitality และ Gastronomy ใช้อาหารเป็นสิ่งสร้างความประทับใจและสื่อสารให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับ เชฟไทย ที่เป็นผู้มีจิตใจดี และมีความแตกต่างด้วยอาหาร สตรีตฟู้ด

อีกส่วนหนึ่งคือ อาหารปรุงสำเร็จของ เชฟแคร์ส จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่มี คุณภาพ และ ครบหมวดหมู่ ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการนำเชฟที่มีชื่อเสียงในการทำอาหารจึงเป็นคำตอบของโจทย์ในการทำอย่างไรให้คนไทยมีสุขภาพดี

ซึ่งประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ 1.อร่อย 2.วัตถุดิบคุณภาพ และ 3.ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นเมนูใหม่ของเชฟ โดยส่วนตัวจะไม่มีการต่อรองกับราคาวัตถุดิบ ซึ่งทุกเมนูของ เชฟแคร์ส ใช้ หมูชีวา-ไก่เบญจา ทั้งหมด เพราะหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในการสร้างสุขภาพที่ดี

นอกจากนั้น ความยั่งยืนของความเป็น “มูลนิธิ” หลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ เงินทุนสนับสนุน หรือ เงินบริจาค ดังนั้นเราจึงมีแนวคิดไอเดียต่อยอดในการช่วยเหลือสังคมด้วยการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนด้วยการขายเมนูอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานโดยกำไร 100% จะนำมาช่วยเหลือผู้คนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิเชฟแคร์ส กล่าวเสริมว่า ด้วยพันธกิจมากมายของ มูลนิธิเชฟแคร์ส เราจึงสร้างระบบนิเวศบุญด้วยการทำ Social Enterprise ซึ่งเรามองว่าโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

ดังนั้นจึงต่อยอดจากการทำอาหารเพื่อดูแลเป็นกำลังใจให้ แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครแล้ว ยังจะมอบความช่วยเหลือให้ ชุมชนแออัด และผู้ยากไร้ อาทิ บ้านเด็กกำพร้า, ผู้พิการ ซึ่งจะเป็นส่วนในการนำไปสู่ความยั่งยืนในสังคม

อีกทั้งยังได้มีการทำโครงการ สานฝันปั้นเชฟ จากต้นไอเดียแนวคิดในการพูดคุยกับเชฟระดับเอเชียหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ เชฟแคร์ส ของเรา ที่อาจจะไม่ได้มีความราบรื่นในการได้เรียนรู้ในการทำอาหาร และหลายคนมีความสนใจในการทำอาหารแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งโครงการในระยะแรกได้สิ้นสุดลงไปในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดบางส่วนเพื่อจะเปิดรับผู้สนใจในระยะต่อไป

“โภชนาการที่ดีเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าของสังคมและประเทศ พลเมืองที่อยู่ดีกินดีมักจะมีโอกาสพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ ดังนั้นโจทย์ที่จะมอบอาหารที่ดีให้เข้าถึงพลเมืองจึงเป็นสิ่งในการผลักดันให้ประเทศพัฒนา”

อย่างไรก็ตาม โมเดลของโปรเจ็กต์ เชฟแคร์ส นี้จะไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงเฉพาะในประเทศไทย เพราะสามารถต่อยอดแนวคิดไอเดียให้กับเชฟผู้มีจิตใจดีสามารถนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ของแต่ละประเทศซึ่งอาจจะเป็นมูลนิธิระดับนานาชาติได้ จากจุดเริ่มต้นของโครงการในประเทศไทย ให้ได้รู้จักว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่มีอาหารที่อร่อยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเชฟไทยที่เป็นระดับตำนานความดี

ล่าสุด เชฟแคร์ส ได้เปิดตัวเมนู ฟูซิลี่ผัดขี้เมาไก่ ที่ร่วมกับเจ๊ไฝ เชฟมิชลินสตรีตฟู้ดชื่อดังของประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ส่งตรงถึงผู้บริโภคให้เหมือนไปรับประทานที่ร้านอาหารของเจ๊ไฝจริง ๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเมนูคุณภาพที่หลากหลาย

สอดคล้องกับแนวคิดของแบรนด์เชฟแคร์ส ที่เน้นเจาะกลุ่มผู้ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและคุณภาพของอาหาร ทั้งยังสามารถรับประทานได้ทุกที่ทุกเวลา ในราคาที่เข้าถึงได้เพียงกล่องละ 69 บาท วางจำหน่ายในช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น รวมถึงช่องทาง ALL Online App และแม็คโคร (บางสาขา)

สำหรับที่ผ่านมาได้ผลิตเมนูอาหารพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ Chef Cares Ready Meal สู่ตลาดไปแล้วทั้งสิ้น 6 เมนู รวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านกล่อง และนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายทั้ง 100% คืนสู่สังคม ผ่านโครงการต่าง ๆ ภายใต้มูลนิธิเชฟแคร์ส

เช่น โครงการ Chef Cares Dream Academy – สานฝันปั้นเชฟ ที่ให้โอกาสเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกงานจริงกับเชฟเพื่อสั่งสมประสบการณ์ ตลอดจนนำไปช่วยสนับสนุนโครงการสาธารณกุศลอื่น ๆ

พูนเพิ่ม ไพทยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฟแคร์ส โปรเจกต์ จำกัด ระบุว่า แบรนด์เชฟแคร์สตั้งเป้าจะออกผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 8 เมนู นำเสนอเมนูหลากหลาย มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ อร่อยถูกปาก ทั้งอาหารไทย อาหารไทยฟิวชั่น อาหารเอเชีย และอาหารนานาชาติอื่น รังสรรค์โดยเชฟชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก

และในช่วงปลายปีนี้มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแช่แข็ง (Frozen Meal) จาก 3 เมนูสุดฮิตของเชฟแคร์ส คือ (1) ไก่ทิกก้ามาซาล่า ข้าวหุงขมิ้น (2) สปาเกตตีซอสเขียวหวาน อกไก่ และ (3) หมี่ซั่วหมู ซอสปักกิ่ง

เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายไปถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยช่วงแรกจะเริ่มจากการวางจำหน่ายที่โลตัสก่อน จากนั้นจะเริ่มขยายไปตามโมเดิร์นเทรดและซูเปอร์มาร์เก็ตต่อไป