ด้วยรักและอาลัย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป

“ชีวิตมีค่า เวลาเหลือน้อย”
“ไม่รู้พรุ่งนี้หรือชาติหน้า วันไหนจะมาก่อนกัน”

ถือเป็นประโยคสัจธรรมที่หลายคนชอบพูดหยอกล้อ แต่เมื่อไรที่เกิดการสูญเสีย หรือพลัดพรากจากกันจริง ๆ อาจกลับรู้สึกสะอึก พูดไม่ออก และอยากย้อนเวลา เรียกความทรงจำหวนคืน

เหมือนการจากไปของ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 แม้คนใกล้ชิดจะรับทราบว่าท่านป่วยด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด แต่ใจก็คาดหวังให้ท่านรักษาหาย เพราะสังคมไทยยังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถและความจริงใจแบบอาจารย์โกร่ง เพื่อผลักดันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาพรวมให้ไปต่อได้ แม้สักหนึ่งก้าวก็ยังดี

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจประชาชน และใช้ภาษาชาวบ้านอธิบาย ทำให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังคงถูกกล่าวถึงในแง่มุมของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย

ไม่ซับซ้อน ทั้ง ๆ ที่หน้าที่การงานซับซ้อนซ่อนเงื่อนไขตามสภาพแวดล้อม ในฐานะกุนซือถึง 7 รัฐบาล เริ่มตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

บุคคลชั้นผู้ใหญ่ไว้อาลัยเนืองแน่น

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

Advertisment

ตลอด 7 วันในพิธีสวดพระอภิธรรม ณ ศาลา 7 วัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร มีคณะบุคคลชั้นผู้ใหญ่ ทั้งแวดวงข้าราชการ นักการเมือง ภาคเอกชน และเพื่อน ๆ วงการสื่อมวลชน ต่างหลั่งไหลตั้งใจมาร่วมงานไว้อาลัย “ดร.โกร่ง” ผู้ล่วงลับ

Advertisment

อาทิ อาสา สารสิน, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ดร.อาณัติ อาภาภิรม, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, พิชัย นริพทะพันธุ์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, จาตุรนต์ ฉายแสง, มนู เลียวไพโรจน์, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, วันนิวัติ ศรีไกรวิน, ชาญชัย สงวนวงศ์ (ป๋าชาญ) และ สุทธิชัย หยุ่น (กาแฟดำ) เป็นต้น

และวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ พร้อมด้วย ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารในเครือมติชน ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ผู้เป็นทั้งครู พี่ และเพื่อนในคราเดียว

ทั้งเป็นเจ้าของคอลัมน์ “คนเดินตรอก” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่เขียนบทความด้วยลายมือส่งกองบรรณาธิการอย่างสม่ำเสมอตลอดนับสิบปี

โดยเป็นกระจกสะท้อนภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้อย่างคมคายในสไตล์อาจารย์โกร่งที่ตรงไปตรงมา อ่านง่าย เข้าใจง่าย ทำให้มีผลงานรวมเล่มมากมาย เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่คนรุ่นหลังต้องหยิบมาอ่านทวน เพื่อให้อดีตชี้อนาคต

สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายวันเกิดประชาชาติธุรกิจ

เป็นธรรมเนียมทุกปีที่กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ จะทำบุญฉลองครบรอบวันเกิดตัวเอง และปี 2563 ดร.โกร่ง ให้เกียรติเดินทางมาร่วมบวงสรวง “ศาลพ่อปู่” ณ บริเวณด้านหน้าของบริษัทมติชนด้วย และได้ให้สัมภาษณ์แบบสบาย ๆ ในช่วงเช้าของงาน บนโต๊ะอาหารที่รายล้อมไปด้วยสื่อและคนกันเอง

วันนั้นนักข่าวแซวว่า อาจารย์โกร่งมีชื่ออยู่ในพรรคใหม่ด้วย ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า หลายคนโทร.มาถาม เขาให้เกียรติแบบนั้น เราจะไปว่าอะไร คุณก็คอยฟังสิว่า ผมจะรับหรือไม่รับ ชื่อผมจะปรากฏโดยไม่มีการคุยกันมาตลอด

มติชนตัวดี ใส่ชื่อผมอยู่เรื่อย (หัวเราะ) ผมโทร.ต่อว่าใส่ชื่อผมไปได้ไง เขาบอกไม่รู้จะใส่ชื่อใคร ใส่ชื่ออาจารย์ไว้ก่อน เพราะคนไม่ยี้ (คุยแบบล้อเล่น-หัวเราะ)

เมื่อถามถึงการดูแลสุขภาพ อาจารย์ตอบว่า “ก็ไม่ต้องดูอะไร ข้าวกินปกติ ออกกำลังกายก็แค่ไปเดินตอนเช้าที่โปโล แต่เดี๋ยวนี้เดินไม่ได้แล้ว เข่าทรุด เมื่อวานไปแวะข้างทาง เห็นปลาสลิดน่ากินก็เลยหยุดรถ จอดลงไป

ปรากฏว่าก้าวพลาดจากฟุตบาทมาถนน ทรุดพรวดเลย แล้วลุกไม่ขึ้น ต้องเรียกคนมาดึง ไม่ได้ไปให้หมอดู เพราะคิดว่าไม่ต้องดูหรอก จารบีแห้ง ถ้าไปเขาจะฉีดจารบี คือไขข้อมันแห้ง”

 

ทุกวันผมตื่นหกโมงเช้า ตื่นก่อนนาฬิกาปลุก ประมาณ 5 นาที ส่วนตอนกลางคืนก็ดูข่าวพระราชสำนัก แล้วหลับหลังดูข่าวสามมิติจบ แทบไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์เลยนะ ดูรายการข่าวเยอะ พวกนี้อ่านหนังสือพิมพ์ให้เราฟังทั้งนั้น ตอนนั่งรถไปทำงานก็ฟัง

ประชาชาติฯก็อ่านนะ ที่ทำงานรับ พวกรายวันไม่ต้องอ่าน ฟังจากทีวี วิทยุ ประชาชาติฯไม่มีใครอ่านก็เลยต้องอ่านเอง คนก็ถามว่าอายุป่านนี้ยังไม่ล้าสมัยเหรอ ผมก็ถามเขาว่ารู้ได้ไง ก็ที่อ่านยังทันสมัย

แล้วสำนวนเนี่ย ต้องเขียนให้ง่าย หลักการเขียนที่ดี ข้อที่หนึ่ง อย่ามีภาษาอังกฤษ ของผมไม่ค่อยมี นาน ๆ มีที ข้อสอง มีวรรคตอนให้ถูกต้อง …และ ที่ กับแก่ ให้ถูกที่ ข้อสามคือ ใช้ภาษาชาวบ้าน ไม่ต้องบาลีสันสกฤตมาก เวลาด่าก็ด่าตรง ๆ ด่าแล้วเขาไม่รู้ แล้วจะไปด่าทำไม (หัวเราะ)

จริง ๆ ไม่นึกว่าจะมาเป็นนักเขียนเลย ทีแรกเลย พี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) ให้คนมาเกลี้ยกล่อม แต่เราไม่เอา บอกไปว่ายังไงเราก็ไม่เขียน เขียนไม่เป็น แต่วันหนึ่งพี่ช้างมาเอง แกไปดักที่บ้านเจ๊ศุภลักษณ์ ไปขอให้มาเขียนที่ประชาชาติฯ

ประชาชาติฯคือที่เขียนครั้งแรก มติชนทีหลัง ก็ขนาดขรรค์ชัยไปขอแล้ว ผมจะปฏิเสธได้ยังไง เขาอุตส่าห์ไปเอง ซึ่งปกติพี่เค้าไม่เคยไปนะ น่าจะสิบกว่าปีที่แล้ว เขียนเรื่องแรก อธิบายว่าทำไมตั้งชื่อคอลัมน์ “คนเดินตรอก” ทำไมตั้งชื่อนี้

ก็บรรยายว่า นึกอยากเขียนอะไรก็จะเขียน เหมือนคนเดินตามตรอก เพราะบ้านผมอยู่แถวสันติบาล เวลาจะไปซื้อกับข้าวหรือไปไหนมาไหน ก็จะเดินเข้าตรอกวัดปทุมฯ ก็บรรยายว่าข้างตรอกเห็นอะไร กลางตรอกมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีกรรมกรมาตั้งวงเตะตะกร้อ ทำอะไรต่ออะไร

วิธีเขียนให้น่าอ่าน ต้องเอาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เรานึกภาพออกมาเขียน เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพตามที่เราเห็น คือไม่ถึงกับแบบแอ็บสแตรกต์จนเกินไป ดู อ.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเอาเรื่องจริงมาเขียนทั้งนั้น แต่จริงไม่ต้องเยอะ (หัวเราะ) พยายามเลียนแบบท่าน ยังไงก็ไม่เหมือน แค่เรื่องน้ำพริก ท่านยังเขียนได้เป็นเล่มเลย เก่งมาก

สำหรับตัวผมเองยังไม่เคยบันทึกเลย จำอย่างเดียว ยังนึกออกอยู่เลย 8 ปีที่อยู่กับป๋าเปรมทำอะไรบ้าง ช่วงนั้นทะเลาะกับใครยังไง ใจก็อยากบันทึกให้เป็นประวัติศาสตร์ แต่เขียนแล้วไม่จบสักที

ว่าจะเขียนเรื่องตัวเองนะ เขียนมาถึงชั้นประถม ยังไม่จบ ถ้าถูกบังคับว่าอาทิตย์หนึ่งต้องลงประชาชาติฯ ก็จะโดนบีบ เพิ่งเขียนจบชั้นประถม ครูใหญ่ชื่ออะไร ชั้น ป.หนึ่ง ชื่ออะไร ครูทัศนีย์ ครูนิรมล ป.3 ครูจำเพาะ เด็กก็เดินไปโรงเรียนสมัยก่อน

บ้านอยู่แถวโรงเรียน มีเพื่อนข้างบ้านเดินไปด้วยกัน กำลังจะมาถึงเรียนโรงเรียนสามเสนละชั้นมัธยม แค่เล่าเรื่องเดินทางจากนครพนมเข้ากรุงเทพฯ ก็เขียนอยู่สามวัน ออกจากนครพนมโดยนั่งกึ่งรถบรรทุก กึ่งรถโดยสาร ตรงกลางใส่ของ

ออก 6 โมงเช้า ถึงอุดรฯ 6 โมงเย็น เลี้ยวตามหมู่บ้าน เข้าบ้าน ไม่มีอย่างอื่น ถนนตรงกลางเป็นหญ้า มีทางเหมือนทางเกวียน โขยกเขยก ต้นไม้คลุม ประเทศไทยไม่ได้เจริญเร็ว มานอนอุดรฯ รุ่งเช้าก็ขึ้นรถไฟ รถด่วนไม่มี มานอนโคราช แล้วอีกคืนจากโคราชเข้ากรุงเทพฯ

ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ปี 2496 ยังมีรถรางอยู่ เวลาจะไปประตูน้ำ มีสองทางคือเดินไปกับลัดเข้าตรอกวัดปทุมฯก็ได้ หรือนั่งรถรางไปลงประตูน้ำ ชั้นหนึ่ง 20 ตังค์ ชั้นสอง 10 ตังค์ สายประตูน้ำยศเส แล้วก็มีสายประตูน้ำบางรัก เราเรียกรถไอ้โม่ง หัวกลม ส่วนประตูน้ำยศเส โอเพ่นแอร์

ว่าจะเขียนพวกนี้ เบา ๆ เด็กสมัยก่อนจะทำป่านคม คือเอาแก้วไปให้รถรางทับ แล้วเอาแป้งเปียกผสมกับแก้วที่บดละเอียดแล้วไปหุ้มกับด้ายแล้วเอาไปตัดกัน ว่าวที่ดีต้องว่าวยิ้มแย้ม อุรุพงศ์ สมัยนี้เด็กไม่เล่นแบบนี้แล้ว คนขับรถรางก็โกรธ จอดรถรางไล่เตะ (หัวเราะ) …

น่าเสียดายเรื่องเล่าในความทรงจำของอาจารย์โกร่งในวันนั้น “จบแบบไม่จบ” ทั้ง ๆ ที่คนเล่าเองก็เริ่มจะสนุกและมีความสุขกับประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งสมบุกสมบันพอควร

ดร.โกร่งยังคงมองโลกในแง่ดีและใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ อย่างที่เรานึกไม่ถึง พวกเราขอกราบลาอาจารย์ชั่วนิจนิรันดร์ ด้วยความรักและอาลัยยิ่ง