Take Your Seat Together 60 ปี “เก้าอี้สีแดง” สัมพันธ์ “ไทย-แคนาดา”

ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง

สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ร่วมกับ “ไอคอนสยาม” เชิญชมนิทรรศการภาพ “Take Your Seat Together : ถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศแคนาดาและไทยผ่านมุมมองของคนไกลที่มาชวนไปด้วยกัน” บริเวณ ICONLUXE Pop Up Space ชั้น 1 ไอคอนสยาม ตั้งแต่วันนี้-30 เม.ย. 2565

สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ร่วมกับไอคอนสยาม และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ฟูจิ ฟิล์ม ปรินท์ไลฟ์ สายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ ไฟลท์เซ็นเตอร์มูลนิธิเส้นทางธรรมชาติแห่งแคนาดา สมาคมภูมิศาสตร์แห่งแคนาดา และกระทรวงการต่างประเทศ จัดนิทรรศการ “Take Your Seat Together ถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศแคนาดาและไทยผ่านมุมมองของคนไกลที่มาชวนไปด้วยกัน” ฉลองวาระครบรอบ 60 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตของแคนาดาและไทย แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน

แม้ว่าความห่างทางภูมิศาสตร์และความแตกต่างทางสภาพภูมิอากาศจะแยกสองประเทศจากกัน แต่หลายสิ่งที่อยู่ในค่านิยม ทัศนคติ และจิตวิญญาณของผู้คนได้เชื่อมโยงไว้ด้วยกัน อีกทั้งเพื่อต้อนรับบรรยากาศของความสุข ความสนุกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยนิทรรศการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2565 ณ ICONLUXE Pop Up Space ชั้น 1 ไอคอนสยาม

สำหรับนิทรรศการ “Take Your Seat Together ไปด้วยกัน” นี้ เป็นผลงานการถ่ายภาพของช่างภาพสองพ่อลูกชาวแคนาดาที่เดินทางถ่ายภาพผลงานมาแล้วทั่วโลก แรนดี้ แวนเดอร์สตาร์เรน ในฐานะช่างภาพหลักผู้ที่ริเริ่มการเล่าเรื่องราวทั่วโลกผ่านภาพชุด “Take Your Seat” และลูกชายของเขา สเปนเซอร์ แวนเดอร์สตาร์เรน ในฐานะช่างภาพรองและผู้กำกับงานดิจิทัลของนิทรรศการครั้งนี้ ภาพถ่ายทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวต่าง ๆ จากสถานที่ที่ทั้งสองได้เดินทางไปเยือน โดยใช้สัญลักษณ์ “เก้าอี้สีแดง” ตั้งเด่นอยู่ภายในภาพ

นิทรรศการ Take Your Seat Together ไปด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความงามที่แท้จริงและมีเอกลักษณ์ รวมทั้งความเหมือนของประเทศไทยและแคนาดา โดยมีการนำภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่สะท้อนความพิเศษและความหลากหลายของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในประเทศแคนาดา ถ่ายทอดผ่านมุมมองของเก้าอี้ผู้กำกับสีแดง ที่เชิญให้ทุกคนไปนั่งอยู่ท่ามกลางภาพ ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรื่นเริงและความรับผิดชอบที่จะรักษาโลก ตัวเรา และดูแลกันและกัน เป็นการเพิ่มคำบรรยายที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะ

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละภาพที่ถ่ายในประเทศไทย เมื่อนำมาเปรียบเทียบภาพถ่ายที่แคนาดา ทั้ง 2 รูปมีความคล้ายคลึงและให้ความรู้สึกเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นคนละประเทศ คนละซีกโลก แต่ทั้งไทยและแคนาดาต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน กระทั่งครบรอบ 60 ปี ในปีนี้

นอกจากนี้ การที่ช่างภาพทั้งสองจะได้ภาพถ่ายที่สวยงาม นอกจากฝีมือและความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ภาพถ่ายเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว และความสัมพันธ์อันงดงามของช่างภาพสองพ่อลูกชาวแคนาดา และชาวไทย

ความหมายของ “เก้าอี้แดง”

ที่มาที่ไปของการนำเก้าอี้สีแดงมาอยู่ในภาพถ่าย เนื่องจากต้องการสื่อความหมายว่าคนที่ดูรูปภาพเหมือนได้เดินทางไปยังสถานที่เหล่านั้นด้วย อีกทั้งสีแดงยังเป็นสีที่มีความโดดเด่น และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศแคนาดา ซึ่งเสน่ห์ของภาพถ่ายที่นอกจากถ่ายทอดความสวยงามของไทย-แคนาดา และความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแล้วคนดูยังสามารถสนุกเพลิดเพลินไปกับการค้นหาว่า “เก้าอี้สีแดง” ตั้งอยู่ส่วนใดของภาพ

 

กลับสู่จุดตั้งต้น

แรนดี้ แวนเดอสตาร์เรน ช่างภาพหลักและผู้ก่อตั้ง เป็นบัณฑิตสาขาภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์ คิงส์ตัน ออนแทรีโอ ร่วมงานกับบริษัทโฆษณาข้ามชาติหลายแห่งในแคนาดาและในต่างประเทศ การศึกษาด้านพาณิชย์ศิลป์และการโฆษณา ประกอบกับฉันทะที่มีให้กับการถ่ายภาพ ทำให้แรนดี้รังสรรค์ภาพที่มีเอกลักษณ์ที่นอกจากจะโดดเด่นในโลกทัศนศิลป์ ภาพถ่ายยังเป็นการร่วมแบ่งปันเรื่องราวกับผู้ชมทางอารมณ์ในระดับปัจเจก ภาพถ่ายและเรื่องราวที่ถ่ายทอดได้จัดแสดงในห้องแสดงผลงานศิลปะที่เป็นที่รู้จักระดับสากล

ขณะที่ สเปนเซอร์ แวนเดอสตาร์เรน ช่างภาพและผู้กำกับดิจิทัล เป็นบัณฑิตสาขาธุรกิจระหว่างประเทศที่ยั่งยืนจากวิทยาลัยวิทธิเออร์ ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย สเปนเซอร์เคยพำนักและทำงานในกรุงโตเกียว กรุงปารีส นครลอสแองเจลิส นครโทรอนโต และเมืองมอนทรีอัล มุมมององค์รวมของสเปนเซอร์ต่อการพิทักษ์โลกฉายชัดผ่านทางรูปถ่ายและผลงานดิจิทัล

ทั้งนี้ เมื่อตอนที่แรนดี้กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดาเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับเยาวชนที่สถานทูตไทยประจำแคนาดา ทำให้เขารู้จักประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นประเทศแรก ซึ่งเขารู้มีความรู้สึกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “สยามเมืองยิ้ม” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตเขา

เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 การเดินทางของแรนดี้นับได้ว่ากลับมาสู่จุดตั้งต้น เมื่อเขาและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ สเปนเซอร์ ได้จัดนิทรรศการ ณ ที่พำนักของเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวกับที่แรนดี้เคยได้เข้าเยี่ยมชมสมัยเป็นนักเรียน

“ไปด้วยกัน” เป็นการเปิดโอกาสให้ได้เดินทางไปทั่วประเทศไทย และอีกหลายประเทศ จนถึงตอนนี้รวม 11 ประเทศแล้ว การเดินทางของเก้าอี้หนึ่งตัวยังเป็นภารกิจที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ดูแลกันและกัน ดูแลโลก และดูแลตัวของเราเองให้เป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะเป็นได้

พ่อและลูกชายได้ร่วมกันทำให้เก้าอี้เปล่งเสียง เป็นเสียงที่ใช้ภาษาสากลถ่ายทอดความเป็นหนึ่งเดียว ความรับผิดชอบและพลังของปัจเจก แบ่งปันให้กับผู้ชมทั่วโลก และด้วยความบังเอิญที่ว่าเก้าอี้ผู้กำกับไปด้วยกันที่ผลิตในประเทศไทยนั้นบัดนี้ได้เดินทางกลับบ้านแล้ว