ก่อร่างเป็นบางกอก เผยเมืองที่เทพไม่ได้สร้าง

ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง

เรา ๆ ท่าน ๆ ชาวบางกอกกำลังจะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เว้นว่างมา 5 ปี ทั้งยังตรงกับวาระครบรอบ 240 ปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนว่ากรุงเทพฯ ผ่านช่วงเวลาของการขับเคลื่อนโดยผู้คนหลายเชื้อชาติ และชนชั้น จนน่าศึกษาความเป็นมาของเมืองผ่านหนังสือ “ก่อร่างเป็นบางกอก”

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ “ก่อร่างเป็นบางกอก” จาก “Siamese Melting Pot” ผลงานของ เอ็ดเวิร์ด แวน รอย (Edward Van Roy) กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องราวของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบางกอกผ่านมุมมองของคนหลายกลุ่ม แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีคนเขียนหนังสือถึงชาวมอญ ชาวจีน หรือชาวโปรตุเกส แต่ก็ยังไม่มีการรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน และเขียนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างละเอียด

อีกทั้งผู้เขียนใช้วิธีการของนักมานุษยวิทยา โดยเดินทางไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่ จนระบุได้อย่างชัดเจนว่าสถานที่ใดอยู่บริเวณไหน ได้ทราบประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้น ๆ ว่ามีคนเข้ามาอยู่อาศัยในช่วงใด และคนกลุ่มนี้มาจากถิ่นใด เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการฉายภาพของกรุงเทพฯ จากคนเดินถนน นอกจากนี้ ยังพบว่ากรุงเทพฯเองก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองอื่น ที่เกิดจากคนนอก เกิดขึ้นจากคนร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีใครที่จะมาอ้างความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯได้

ด้าน รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยธนบุรีจนกระทั่งถึงกรุงเทพฯ ด้วยสายตาของนักมานุษยวิทยา ช่วงที่เขาโฟกัสคือตั้งแต่ช่วงที่กรุงศรีอยุธยาแตกจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการนำความสมัยใหม่เข้ามา รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากมาย

“เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือผู้เขียนเห็นการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และเขาอธิบายในหนังสือได้อย่างน่าสนใจและไม่ได้อธิบายในกรอบที่โรแมนติกเรื่องของระบบอุปถัมภ์ของไทย ที่ทำให้ชาติพันธุ์ต่าง ๆ มารวมกันเป็นเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยอย่างสมานฉันท์ หรือไม่มีความขัดแย้งใด ๆ”

คนทุกชนชั้นไม่มีความเป็นไทยบริสุทธิ์

รศ.พวงทองกล่าวว่า ผู้เขียนแสดงให้เห็นปัจจัยหลายอย่างทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน พร้อมทั้งมีการอธิบายว่าเหตุใดคนแต่ละกลุ่มจึงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากการวางแผนของผู้นำในขณะนั้น ที่กำหนดว่าคนกลุ่มใดมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ก็ควรสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงให้กลุ่มคนที่จะต้องเข้ามาตอบสนองความต้องการ เกิดร้านค้า ช่างฝีมือต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเลือกสรรให้คนที่มีความสามารถบางอย่างมาสร้างบ้านบนทำเลกลางเมือง

ขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น ไพร่ หรือกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงคราม คนกลุ่มนี้มักถูกกำหนดให้อาศัยอยู่ตามชายขอบของกรุงเทพฯ ไปเป็นแรงงานที่ผูกติดกับเจ้านาย หรือเป็นชาวนาทั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการแบ่งแยกชนชั้นฐานะตามแหล่งที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ

รศ.ดร.ยุกติกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราเห็นก็คือคนกรุงเทพฯทุกชนชั้นไม่ได้มีความเป็นไทยบริสุทธิ์ มีเชื้อสายชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผสมอยู่ด้วย ตั้งแต่ชั้นปกครองนั่นคือราชวงศ์จักรี จนกระทั่งถึงประชาชนคนรากหญ้า เนื่องจากชนชั้นนำต้องสร้างเครือข่ายทางการเมืองกับคนกลุ่มต่าง ๆ และไม่เคยคิดว่าการเป็นผู้นำต้องเป็นชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์ หรือแต่งงานกับคนไทยด้วยกันเท่านั้น

“หนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะช่วยขยายอำนาจทางการเมืองนั่นก็คือการแต่งงาน ผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนสื่อกลางในการสร้างสายสัมพันธ์ทางอำนาจ เมื่อผู้มีอำนาจจากชาติอื่น ๆ ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เขาก็ต้องให้ลูกหลานหรือพี่น้องมาเกี่ยวดองกับชนชั้นนำของสยาม”

จากกระจายอำนาจสู่รวบอำนาจ

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 จะต้องทำให้คนที่อยู่ในดินแดนภายใต้การปกครองมีความรู้สึกผูกพันกับอำนาจรัฐศูนย์กลาง จึงเกิดการปฏิรูปการปกครอง จากที่เคยกระจายอำนาจรัฐให้บรรดาขุนนาง หรืออุปราชตามหัวเมือง หรือเมืองประเทศราชต่าง ๆ มีอิสระ ก็ถูกรวมเข้ามา เช่นเดียวกันในแง่ของประชากรก็ถูกรวมให้มีสำนักว่าเราคือพวกเดียวกันที่จะต้องปกป้องดินแดนนี้ รวมถึงต้องจงรักภักดีต่ออำนาจศูนย์กลาง รัฐไทยก็จัดการกับกลุ่มต่าง ๆ แตกต่างกันไป แต่ไม่ได้เป็นกระบวนการที่นุ่มนวล

สมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นว่าเกิดกบฏตามที่ต่าง ๆ สมัยก่อนการปกครองชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เขาจะตั้งหัวหน้าของกลุ่มตัวเองให้เป็นผู้แทนติดต่อกับชนชั้นนำ และเพื่อดูแลปกครอง คนเหล่านั้นก็ถูกตัดอำนาจด้วยการสร้างระบบใหม่ขึ้นมา

ฉะนั้นหากกลุ่มใดมีความห่างเหิน ก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น ผู้นำชุมชนชาวจีนถูกสั่งหารไปตั้งเท่าไหร่ แม้ไม่ใช่กบฏอั้งยี่ แต่หากรัฐไม่ไว้ใจผู้นำเหล่านั้นก็จะถูกสังหาร หรืออย่างประเทศลาว เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปทำสงครามทางตอนเหนือ อีสาน หรือลาว ก็จะมีการกวาดต้อนผู้คน เพื่อลดกำลังของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น กลยุทธ์ของสยามในยุคกลางคือการรบเพื่อกวาดต้อนผู้คนมาสะสมกำลัง และมาเป็นกำลังการผลิตของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการลดกำลังคนของฝ่ายตรงข้าม

ความหลากหลายกับปัญหาในสังคม

ในสังคมที่มีความหลากหลาย เราต้องตั้งคำถามว่า ความหลากหลายแบบไหนที่เป็นประโยชน์และไม่มีปัญหา กับความหลากหลายแบบไหนที่เป็นปัญหาแล้วต้องจัดการ และทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า ความหลากหลายทางเศรษฐกิจนั้นเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน เนื่องจากคนแต่ละกลุ่มมีความรู้ที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันความหลากหลายทางการเมือง ความเชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้ หรือเขาคิดว่าการเข้ามาอาศัยในสยามชั่วคราว แล้วพอทำการค้าขายจนร่ำรวยก็จะกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ไม่มีความจงรักภักดีต่อประเทศแถบนี้ หรือความจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ชาวลาวโกรธแค้นที่เจ้าอนุวงศ์ถูกประหารอย่างโหดเหี้ยม ทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่รัฐสยามต้องจัดการในสมัยนั้น

แม้กระทั่งในปัจจุบันที่เราต่างก็พูดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายมาก มีทั้งชาวไทย จีน ยุโรป อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่ในทางกลับกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่าทำไมความหลากหลายบางอย่างมีปัญหา บางอย่างไม่มีปัญหา

ความโกลาหลจากการเลือกปฏิบัติ

“หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของตัวเองกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศ คือมีคนมากมายมาช่วยกันสร้างเมืองนี้ มาจากลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา ชาวมอญ ชาวทวาย ดังนั้น ถ้าเราจะบอกว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยกันสร้างขึ้นมา อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้นว่าไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ บรรพบุรุษของเราคือใครเมื่อเราต่างก็มาจากร้อยพ่อพันแม่ เป็นรากฝอยที่เชื่อมโยงกันเต็มไปหมด” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

ด้าน รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า “เราเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับการก่อตั้งกรุงเทพฯกันมา ก็จะเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่แสดงให้เห็นบทบาทของสถาบันหลักในการสร้างชาติขึ้นมา แต่ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันมาเราไม่เห็นผู้คนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แวน รอย เป็นคนแรกที่เขียนประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ โดยโฟกัสคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างกรุงเทพฯขึ้นมา สโลแกนของกรุงเทพฯคือ กรุงเทพฯเมืองเทพสร้าง จริง ๆ แล้วไม่ใช่เมืองเทพสร้าง แต่เป็นเมืองที่สร้างโดยไพร่ เชลยสงคราม สามัญชน คนจีนและฝรั่งที่อพยพมา มีคนสารพัดกลุ่มที่ทำให้เป็นกรุงเทพฯในทุกวันนี้และเป็นกรุงเทพฯที่ไม่ได้โรแมนติกเสียทีเดียว มีคนหลายกลุ่มหลายชนชั้นอยู่ด้วยกัน”

“การเลือกใช้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มีเรื่องของชนชั้น มีเรื่องของการที่รัฐเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม แล้วไม่สนใจคนบางกลุ่มลักษณะแบบนี้ทำให้คนกรุงเทพฯในปัจจุบัน อยู่ในภาวะที่โกลาหลความโกลาหลในกรุงเทพฯที่เราเห็นในปัจจุบันที่ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย คิดว่ามีรากมาจากประวัติศาสตร์ด้วย ที่ไม่ได้มีหลักการชัดเจน แต่เลือกปฏิบัติตามผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ”

มุมมองที่น่าสนใจนี้ปรากฏใน “ก่อร่างเป็นบางกอก