กำเนิดทหารของพระราชา สำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง

สวัสดีปีใหม่ไทย หลังเทศกาลสงกรานต์ ขอปิดท้ายเสวนางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ของสำนักพิมพ์มติชน เมื่อ 3 เมษายน 2565 หัวข้อ “กำเนิดทหารของพระราชา : สำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” โดย “เทพ บุญตานนท์” ที่มาบอกเล่าเรื่องที่มาของการกำเนิดกองทัพสมัยใหม่ รวมถึงความสำคัญของพิธีกรรมและพระราชกรณียกิจทางทหารของพระมหากษัตริย์ หลังการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ อันแสดงถึงความจงรักภักดี และการเป็นทหารของพระราชา

เกี่ยวกับผู้เขียน “เทพ บุญตานนท์” มาจากครอบครัวข้าราชการทหาร เขาได้อ่านหนังสือวารสารเกี่ยวกับกองทัพแล้วเกิดความชอบเรื่องเกี่ยวกับทหาร โดยเมื่อครั้งที่เขาศึกษาในระดับปริญญาโท และได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการแสดงบทบาทต่อกองทัพของรัชกาลที่ 6 โดยหนึ่งในวิธีการที่พระองค์ทรงทำก็คือ ชักจูงให้ทหารและประชาชนมองพระองค์ ในฐานะจอมทัพของชาติ ซึ่งเมื่อเทพ บุญตานนท์ ทำวิทยานิพนธ์เสร็จเรียบร้อย จึงเกิดรู้สึกว่า แท้จริงแล้วก่อนสมัยรัชกาลที่ 6 น่าจะมีกระบวนการบางอย่างที่เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว เขาจึงพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาถึงจุดเริ่มต้นของกองทัพสมัยใหม่ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพบว่าไทยไม่ได้นำเพียงเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ทางการทหารแบบตะวันตกเข้ามาเท่านั้น แต่มีการนำ Ideology บางอย่างของตะวันตกเข้ามาผนวกกับแนวคิดสถาบันกษัตริย์แบบไทย ๆ ด้วย จึงทำให้เกิดการสร้างแนวคิดทหารของพระราชาขึ้นมาในกองทัพไทย

จุดเริ่มต้นของกองทัพสมัยใหม่

กองทัพสมัยใหม่เริ่มต้นปี พ.ศ. 2411 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นทางการ มีการจ้างชาวตะวันตกมาเป็นทหาร พร้อมส่งพระราชโอรสเสด็จไปศึกษาด้านการทหารที่ต่างประเทศ เมื่อพระราชโอรสเสด็จกลับมา จึงเริ่มปรับกองทัพไทยเป็นกองทัพสมัยใหม่แบบตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากกองทัพสมัยโบราณ คือสมัยก่อนบรรดาไพร่ต่างก็มีอาชีพของตน จากนั้นพอถึงช่วงที่เรียกว่า เข้าเดือนออกเดือนก็ต้องไปรับราชการ เมื่อมีสงครามคนเหล่านี้ก็ต้องออกไปรบ ดังนั้นจึงแตกต่างจากกองทัพสมัยใหม่ที่เป็นทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกฝนด้านการทหาร ที่สำคัญสมัยก่อนไม่ได้มีการปลูกฝังให้ทหารจงรักภักดีต่อเจ้านาย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พิธีกรรมทางการทหารมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า งานรื่นเริงประจำปี หรืองานสำเร็จการศึกษา โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร และพระบรมราโชวาท ซึ่งแนวคิดการพระราชทานกระบี่สมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน คือตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ของทหาร รวมทั้งเงินเดือนที่ได้รับมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์

จากนั้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อเป็นพิธีมอบกระบี่ เนื่องจากต้องการอธิบายว่า กระบี่และเงินเดือนที่ได้รับนั้น มาจากหยาดเหงื่อและความสามารถของทหารเอง ไม่ได้มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ หมายความว่า สมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทหารต้องจงรักภักดีต่อพระราชา แต่สมัยคณะราษฎร จอมพล ป.เน้นย้ำว่า ทหารต้องจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ

พิธีกรรมทางการทหารในสมัย ร.5

เมื่อพูดถึงพิธีกรรมทางการทหาร ทั้งหมดทั้งมวลที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่มีการปรับปรุงแก้ไขมาหลายต่อหลายครั้ง อย่างเช่นงานรื่นเริงประจำปีที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ที่เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากยอดของธงชัยจะมีเส้นพระเกศาของพระมหากษัตริย์อยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนว่าธงชัยเฉลิมพลอยู่ที่ไหน พระมหากษัตริย์ก็ทรงประทับอยู่ที่นั่นด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับกรมทหารต่าง ๆ เก็บรักษาไว้ เป็นการแสดงว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่กับทหารตลอดเวลา แม้ในยามศึกสงคราม

กับอีกหนึ่งพิธีคือ พิธีถวายเครื่องแบบจอมพล คือสมัยก่อนทุกคนต่างเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีการยืนยันเป็นทางการ จนกระทั่งครั้งที่มีการเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุครบ 50 พรรษาของรัชกาลที่ 5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช มีพระดำริให้มีการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องแบบจอมพล และพระคทาจอมพลให้กับพระมหากษัตริย์ เพื่อยืนยันสถานะของพระองค์ ว่าทรงเป็นจอมทัพของชาติ ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารทั้งมวลในกองทัพไทย ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมา เหล่าทัพต่าง ๆ จะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องแบบจอมพลให้กับพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระองค์ได้ฉลองเครื่องแบบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีกรรมทางการทหาร เพื่อสร้างความจงรักภักดี

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่ได้มีพิธีกรรมใหม่เกิดขึ้น แต่ใช้พิธีกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 และพิธีกรรมตามจารีตประเพณีโบราณอย่างพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ซึ่งสมัยก่อนพิธีนี้มีทหารที่ต้องเข้าร่วมเฉพาะพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ไม่มากนัก กระทั่งหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 130 รัชกาลที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ประจำการในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดต้องเข้าร่วมพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ สมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีพิธีสำคัญคือพิธีสวนสนามของกรมทหารรักษาพระองค์ ที่จัดขึ้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

เหตุของการปลูกฝังความจงรักภักดี

แท้จริงแล้วโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเน้นการสร้างกองทัพสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย เนื่องจากเวลานั้นไทยเสียดินแดนให้กับหลายประเทศในยุคล่าอาณานิคม เพราะฉะนั้นความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ในการปกป้องประเทศชาติ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงแบ่งสัดส่วนงบประมาณให้กับกองทัพมากที่สุด ที่น่าสนใจคือในเวลาต่อมามีการกล่าวว่า จริง ๆ แล้วกองทัพที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นมาถูกสร้างเพื่อแก้ปัญหาภายในมากกว่าป้องกันการรุกรานจากตะวันตก

อย่างไรก็ตาม การพยายามสร้างความจงรักภักดีโดยใช้พิธีกรรมทางการทหารไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 7 มีกระแสของการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น สถาบันกษัตริย์ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้หายไป เมื่อกระแสประชาธิปไตยเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะรับการปกครองรูปแบบนี้เข้ามา อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีนักเรียนนายร้อยที่ไปศึกษาวิชาทหารที่ต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาตระหนักว่า ความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการของตนนั้น ตราบใดที่ไม่ได้เป็นชนชั้นนำ ต่อให้ทำงานดีแค่ไหนก็จะไม่มีโอกาสไปมากกว่านี้ ขณะที่ประชาธิปไตยทำให้เขามีโอกาสมากขึ้น เกิดความเท่าเทียม การเรียนรู้ถึงกระแสประชาธิปไตยของนักเรียนนายร้อยเหล่านั้น จึงทำให้การพยายามยับยั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศทำได้ยาก แต่รัชกาลที่ 7 ก็พยายามหยุดยั้งกระแสประชาธิปไตยโดยเฉพาะกับกลุ่มทหาร เพราะกลุ่มคนที่จะสามารถล้มล้างสถาบันได้คือทหารเท่านั้นเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวในประเทศที่มีอาวุธ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปลูกฝังความจงรักภักดี

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 พยายามดึงอำนาจเข้าสู่พระองค์ มีการสับเปลี่ยนกำลังทหาร โดยรับสั่งให้คนที่ใกล้ชิดกับพระโอรสขึ้นเป็นผู้บังคับบัญชาในหน่วยทหารที่สำคัญ มีการสร้างพิธีต่าง ๆ เพื่อดึงทหารเข้าสู่พระองค์ ซึ่งการโยกย้ายทหารครั้งสุดท้ายก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความน่าสนใจคือ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโยกย้ายเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้ามาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ การโยกย้ายครั้งนั้นมีคณะราษฎร 2 คนที่เป็นหนึ่งในนั้นคือ พระยาพหลพลพยุหเสนาย้ายมาเป็นจเรทหารทั่วไป กับพระเหี้ยมใจหาญ ที่ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย ทำให้โรงเรียนนายร้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเคลื่อนไหวของทหารในกองทัพ แต่พระองค์ไม่ทรงทราบว่า เป็นใครกันแน่

กองทัพไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“เหตุที่หนังสือเล่มนี้บอกเรื่องราวทหารถึงปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทัพไทยคือการสืบทอดไอเดีย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พิธีกรรมยังเหมือนเดิม ทหารต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าตนเองจงรักภักดีต่อพระราชา โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2530 จะเห็นชัดว่า ทหารต้องทำให้ประชาชนเห็นพวกเขาเป็นทหารของพระราชาแต่รัฐประหารหลังปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา หนึ่งข้อสำคัญที่บอกมาตลอดคือเพื่อปกป้องสถาบัน ข้ออ้างเหล่านี้มักมีทุกครั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร” เทพ บุญตานนท์ กล่าว