คูโบต้ามองครึ่งหลังปี’65 ห่วงลานิญา วางเป้ายอดขาย 6.3 หมื่นล้าน

สยามคูโบต้าตั้งเป้ายอดขายปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 6.3 หมื่นล้าน เล็งแตกไลน์ธุรกิจแทรกเตอร์กลุ่มพืช ผัก ผลไม้ หลังพบเทรนด์ใหม่กลุ่ม Nonfarmer กลุ่มคนที่เคยทำงานประจำสนใจทำธุรกิจการเกษตรมากขึ้น ช่วยปั๊มยอดขาย ชี้อานิสงส์รัสเซียยูเครน ดันดีมานด์กลุ่มมัน อ้อย ดันมูลค่าตลาดโต 10% ห่วงครึ่งปีหลัง ลานิญา น้ำท่วมพื้นที่เกษตร

วันที่ 19 กันยายน 2565 นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มพืชผลทางการเกษตรราคาสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนกลับต่างจังหวัดและคนเมืองสนใจการทำเกษตรมากขึ้น

ส่งผลให้ยอดขายในปี 2564 มีสัดส่วนที่เป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยทำการเกษตรถึง 35% ส่วนอีก 75% มาจากเกษตรกรเดิมที่ซื้อเป็นเครื่องทดแทนเครื่องเดิม ยกระดับการเกษตรให้มีประสิทธิผลเพิ่ม ประกอบกับรัฐบาลมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่สนับสนุนการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทำให้ในปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร มีการเติบโตถึง 22%

พิษณุ มิลินทานุช
พิษณุ มิลินทานุช

ขณะที่แนวโน้มตลาดครึ่งแรกของปี 2565 ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เทรนด์โลกในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทได้อานิสงส์จากเกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลเกษตรมีอัตราการเติบโต 10% ซึ่งสยามคูโบต้ายังเป็นอันดับ 1 ตลาดเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 80% หรือมีมูลค่าตลาดที่ 70,000-80,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ยอดขายปี 2564 สยามคูโบต้ามีรายได้รวม 6.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2563

ส่วนปีนี้ 2565 คูโบต้ายังคงตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท โดยตลาดในประเทศอยู่ที่ 60% ส่วนส่งออกอยู่ที่ 40%  โดยเป้าหมายนี้ถือว่าอยู่ในเป้าระดับที่เหมาะสม เนื่องจากดูจากปัจจัยจากการขยายตัวของสินค้าแทรกเตอร์ในกลุ่มพืชไร่ (มัน อ้อย ข้าวโพด) และยาง ปาล์ม เนื่องจากทิศทางราคาปรับตัวดีขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีความต้องการพืชอาหารและพืชพลังงานมากขึ้น

โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย จากภาวะสงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้เกิดความต้องการสูงมากกว่าทุกปี นอกจากนี้ปัจจัยด้านราคาและสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยมีส่วนช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของปียังคงต้องจับตาสถานการณ์น้ำ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ลานิญาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมทำให้ไร่นาหรือสวนต่าง ๆ เสียหาย ซึ่งแน่นอนอาจจะส่งผลกระทบ บวกกับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ยังคงสูงและชิปที่ขาดแคลน การขนส่งส่วนหนึ่งจากความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครน ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ดี บริษัทเองก็มีแผนลดต้นทุนมากขึ้นเพื่อควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโอกาสในการขยายการลงทุนในอนาคตนั้น มองว่าตลาดที่เป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหม่ ๆ น่าสนใจมาก จึงมีการปรับแนวคิดการทำตลาดรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเน้นการทำตลาด ภายใต้แนวคิด “Better Together” โดยเฉพาะ Nonfarmer ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานประจำสนใจทำธุรกิจการเกษตรมากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องจักรกลเกษตรขยายตัวมากขึ้น

โดยพบว่าเกษตรกรกลุ่มผัก ผลไม้ ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำเกษตร อนาคตจึงอยากขยายไปยังกลุ่มนี้ อีกทั้งมองการลงทุนโดรนการเกษตร ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดเวลาแล้วยังสามารถลดต้นทุน ปริมาณการใช้ปุ๋ยที่มีราคาแพง

สำหรับสถานการณ์พลังงานที่สูงในปัจจุบัน หากอนาคตรถแทรกเตอร์จะต้องเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปเช่นเดียวกับยานยนต์เพื่อพัฒนาสู่เครื่องจักรกลไฟฟ้า อาทิ รถแทรกเตอร์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า (EV) เบื้องต้นมีการพัฒนาอยู่แล้ว แน่นอนว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนเเปลงแต่อาจจะต้องใช้เวลา โดยบริษัทเเม่ญี่ปุ่น จะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายมาให้ และคงจะต้องพิจารณาจากนโยบายจูงใจภาครัฐด้วยการลดภาษี ปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ