วิกฤตซ้อนวิกฤต “ประมงไทย” แก้ IUU 7 ปี สูญ 1.4 ล้านล้านบาท

ประมงไทย

ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตอาหาร (global food crisis) อย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน วิกฤตนี้ควรโอกาสที่ดีของไทยฐานะครัวของโลก แต่อุตสาหกรรมประมงไทยกลับพลาดโอกาสทอง หลังจากการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) เมื่อ 7 ที่ผ่านมา

เหมือนติดกระดุมผิดเม็ด สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจัดเสวนา “ประมงไทย ในวิกฤตอาหารโลก” เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2565 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องดังกล่าว

โลกขาดแคลนอาหารแต่สินค้าเกษตรตกต่ำ

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒนา นักวิชาการด้านการประมง กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันและกลายเป็นผู้จับสัตว์น้ำอันดับที่ 15 ของโลก แต่หลังปี 2558 ไทยกลับมาเป็นผู้นำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคจนถึงขณะนี้ 2565 ไทยหลุดจากอันดับ 1 ใน10 ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมากที่สุดของโลกไปแล้ว ทำให้ประเทศไทยกลับมานำเข้าสัตว์น้ำอีกครั้งในรอบ 50 ปี และสูญเสียรายได้จากการประมง กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ช่วง 7 ปี

สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินการของรัฐ ที่ไม่เข้าใจบริบทชาวประมง เมื่อครั้งปี 2558 ใช้อำนาจ ม.44 จัดตั้งศูนย์บัญชาการการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ประกาศใช้ “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” (พ.ร.ก.ประมง 2558) เพิ่มโทษปรับสูงสุด สามารถสั่งหยุดประกอบกิจการแม้เรือมีความผิดเล็กน้อย เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของสหภาพยุโรป (EU)

ในประเด็นควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU fishing) การดำเนิน “กลัดกระดุมผิดเม็ด” ทั้งที่ควรมีแบบแผนจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เรือประมงพาณิชย์จอด จม ถูกทำลาย กว่า 5,000 ลำ การประมงนอกน่านน้ำ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องล่มสลาย การจับสัตว์น้ำลดลงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน/ปี สุดท้าย เกิดวิกฤตอาหารทะเลขาดแคลน

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มองว่า การอยู่รอดของอุตสาหกรรมนี้ท่ามกลางความท้าทายวิกฤตอาหาร

1) จะต้องกระจายอำนาจการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบการทำประมง ตามพื้นที่จังหวัด ไม่ควรขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพียงคนเดียว เพราะแต่ละน่านน้ำมีบริบทที่ต่างกัน 2) รัฐควรเพิ่มผลผลิตให้สอดรับกับความต้องการการบริโภค 3) การใช้สิทธิประโยชน์ ภายใต้ FTA และ GSP ต้องมีเอกภาพ เพื่อสร้างแต้มต่อการแข่งขันอุตสาหกรรมประมงเกี่ยวเนื่อง

สมาคมวอนรัฐเร่งเครื่อง 3 ข้อ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระยะหลังราคาอาหารทะเลขึ้นลงตามปริมาณการผลิตที่ไม่แน่นอน ทั้งที่ไทยเป็นผู้ผลิตมากที่สุดแต่กลับต้องเผชิญวิกฤตแรงงาน ราคา การถูกข่มขู่ของกฎหมาย ทั้งหมดนี้เกิดจากอะไรกันแน่

“นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมประมงแทบเหลือแต่ซากเรือ หลังจากที่ถูกรัฐบาลทำลายด้วยการใช้กฎหมายอยุติธรรม แต่รัฐรู้หรือไม่ว่าเรือแต่ละลำสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ ได้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี การปิดอ่าวในช่วงฟื้นฟูก็ไม่สามารถช่วยฟื้นฟูมากพอเมื่อมีเรือเถื่อน เรือประมงพื้นบ้านที่ไม่สามารถควบคุมได้

และขณะนี้กลับพบเรือประมงพาณิชย์หายไปจากระบบ และบางส่วนถูกขายไปต่างประเทศในราคาถูกจำนวนมากกว่า 5,000 ลำ ส่งผลต่อความเสียหายกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศปีละกว่า 150,000-180,000 ล้านบาท ถึงเวลาหรือยังที่ไทยควรจะก้าวข้ามข้อกำหนด IUU ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กลับมาเป็นผู้นำการผลิตเพื่อแก้วิกฤตอาหาร”

สมาคมขอให้รัฐบาลเร่งรัด ทบทวน 3 ข้อ 1.ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกให้มากที่สุด 2.รัฐบาลต้องทบทวนแนวทางให้ชัดเจนจากการแก้ไขปัญหา IUU 3.รัฐบาลควรมีแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการด้านการประมง ตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ เพราะขณะนี้ชาวประมงแทบจะไม่เหลือรายได้ หมดตัว และน่าแปลกที่ไทยสามารถปลดใบเหลืองแล้วแต่ทำไมปัญหายังไม่หมดและประมงไทยนับวันยังไม่ยั่งยืน

ตาราง มูลค่าความเสียหาย IUU

เล็งบรรจุ “พืชน้ำ” รับเทรนด์อาหารอนาคต

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงธุรกิจประมงว่า จำนวนเรือที่จะออกนอกระบบ 2,000 ลำ ปัจจุบันสามารถซื้อเรือคืนได้เพียง 200 ลำ ดังนั้น คณะกรรมการฟื้นฟูการประมงจึงอยู่ระหว่างออกแบบแนวทางซื้อเรือรูปแบบใหม่ให้เร็วขึ้นถึงมือชาวประมงมากขึ้น

โดยจะใช้หลักการการจ่ายเงินซื้อเรือทั้งหมดจากธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าจะสำเร็จไม่เกินกลางปีหน้า 2566 เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง ให้ชาวประมงกลับมามีรายได้ พร้อมทั้งพิจารณา แก้ไข พ.ร.ก.ประมง 2558 ให้เป็นธรรม

“อุตสาหกรรมประมงเคยทำรายได้ 1 แสนล้าน เริ่มถูกผลไม้แซงหน้า และน่าเห็นใจที่กระทบอย่างหนักเมื่อครั้ง IUU จนทำให้เกิดเป็น พ.ร.ก.ประมง 2558 ผมได้คุยกับทาง EU โดยตั้งประเด็นเรื่องของมาตรฐานสากล ว่ามีกฎหมายบทลงโทษรุนแรงเช่นเดียวกับที่ไทยมีหรือไม่ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

โดยนโยบายที่ผมสามารถทำได้จากนี้คือ กฎหมาย พ.ร.ก. 2558 ต้องถูกแก้ไข และไม่ควรกำหนดเพื่อเอาใจคนใดคนหนึ่ง เพราะไทยเราเป็นประเทศที่เรียกได้ว่า มีความมั่นคงทางอาหาร เมื่อให้คำมั่นสัญญาต่อ FAO แล้วขอให้เวลาปรับตัวบ้าง ควรยืดหยุ่น สามารถแก้ไข สร้าง กฎหมายให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”

และจากนี้ ควรยกระดับอาหารประมงสู่อาหารแห่งอนาคต รองรับการบริโภคสอดรับเทรนด์โลก โดยภาคประมงต่อไปจะไม่มีเพียงแค่ “สัตว์น้ำ” ควรต้องบรรจุ “พืชน้ำ” ไม่ว่าจะเป็น สาหร่าย ผำ แหนแดง

ซึ่งเป็น “พืชอนาคต” ซูเปอร์ฟู้ดแพลนต์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างร่างแผนมาตรฐานการเพาะเลี้ยงทั้งแบบระบบปิดและแบบไฮบริด และได้หารือคู่ค้าต่างประเทศคู่ขนาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรประมงไทย ต่อจากนี้ ต้องให้ตัวแทนทุกหน่วยงานเข้ามารับรู้ถึง “เพนพอยต์” และร่วมกันแก้ไข