โต้ “ฮิวแมนไรต์วอตช์” บิดข้อมูล ชงอียูล็อกใบเหลืองอ้างปัญหาค้ามนุษย์

กระทรวงการต่างประเทศไทยตอบโต้ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เสนออียูคงใบเหลือง IUU ไทย ระบุไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาแรงงานประมงอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัดใช้ข้อมูลเก่ามาบิดเบือน

จากกรณีองค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ (HRW) ได้เสนอรายงานต่อสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวหาไทยยังมีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง จึงควรให้ใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) กับไทยต่อไปนั้น

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ เปิดเผยว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว ที่ระบุให้อียู (สหภาพยุโรป) ควรให้ใบเหลืองกับไทยต่อไป เพราะเรื่องแรงงาน เนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) มีเป้าหมายส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงาน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่น

แก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจัง และได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการบังคับใช้ โดยได้ทำงานร่วมกับทั้งภาคเอกชน องค์กรเอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน การที่รายงานที่อ้างอิงนำข้อมูลส่วนใหญ่มาจากสถานการณ์ในปี 2559 และบางส่วนย้อนหลังไปถึงปี 2558 ดังนั้น จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์แรงงานภาคประมงคือ การบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนดโทษปรับการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงต่อหัวที่สูงมาก ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งส่งผลในการป้องปรามการนำแรงงานผิดกฎหมายมาใช้บนเรือประมง และจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีกว่า 4,240 คดี ทั้งคดีแรงงานและคดีประมง โดยเป็นการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภาคประมงกว่า 85 คดี ผู้ต้องหาถูกพิพากษาจำคุกไปแล้วกว่า 50 ราย โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี และมีโทษปรับสูงสุด 2.5 ล้านบาท และริบเรือ

ในประเด็นการป้องกันแรงงานบังคับ มีมาตรการใหม่หลายด้าน อาทิ การออกหนังสือคนประจำเรือ (ซีบุ๊ก) ให้กับแรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 11,100 ราย การกำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำหนังสือสัญญาจ้าง จำนวน 2 ฉบับ โดยมอบให้ลูกจ้างเก็บไว้ 1 ฉบับ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งมีแรงงานประมงที่ได้รับค่าตอบแทนผ่านบัญชีธนาคารแล้วประมาณเกือบ 5,000 ราย การกำหนดให้การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเป็นความผิดตามกฎหมายค้ามนุษย์ และการออกกฎหมายจัดระเบียบบริษัทจัดหางาน โดยห้ามเรียกเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน และให้บริษัทมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งมาขอขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 100 บริษัท การกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในภาคประมง ณ สิ้นปี 2560 มีแรงงานต่างด้าวยื่นขอเปลี่ยนนายจ้างแล้วมากกว่า 1 แสนราย การผ่อนปรนเรื่องบัตรชมพูไม่ให้ยึดติดกับนายจ้างและการออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีในเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

เมื่อปี 2559 ซึ่งในปี 2560 มีการสั่งปิดโรงงานที่พบการใช้แรงงานเด็กจำนวน 3 โรง และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงาน

ประเด็นการตรวจแรงงาน มีการดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งที่ท่าเรือ บนเรือ และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้หาเป้าหมายได้ตรงจุด มีการใช้เทคโนโลยีการสแกนม่านตาและใบหน้าเพิ่มขึ้นจากการสแกนลายนิ้วมือลูกเรือประมงทั้งหมดกว่า

8 หมื่นคน เพื่อให้การตรวจแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจและล่ามกว่า 1,500 คน ตลอดจนการฝึกอบรมผู้ตรวจแรงงาน ล่าม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง 32 แห่ง ได้มีการตรวจและสัมภาษณ์แรงงานประมงจำนวนกว่า 5.3 หมื่นคน ซึ่งได้มีการแยกแรงงานมาสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ได้พบแรงงานถูกละเมิด 3,500 คน และมีการตรวจแรงงานในสถานประกอบการแปรรูป 358 แห่ง พบการกระทำผิดใน 142 แห่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ให้การช่วยเหลือและดำเนินการกับเจ้าของสถานประกอบการเหล่านี้แล้ว ปัจจุบัน ได้มีการออกคำสั่งให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ เมื่อพบกรณีการละเมิดสิทธิของแรงงาน ให้ดำเนินคดีอาญาทันที โดยไม่ต้องรอออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในอดีตที่เคยให้โอกาสนายจ้างได้ทำให้ถูกกฎหมายก่อน เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอแนะของ HRW หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านกฎหมายนั้น ไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29

ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล โดยกำหนดให้การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารและอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม 2561 และคาดว่าจะให้สัตยาบันในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ต่อไป ในส่วนของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิ ในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯยืนยันการทำงานมีความก้าวหน้า ตามที่สหภาพยุโรป (อียู) แนะนำมาเกือบทุกเรื่อง ทั้งนี้เรื่องรายงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงรายละเอียดแล้ว ส่วนที่จะปลดใบเหลืองหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับทางหน่วยงานสหภาพยุโรปเป็นผู้ประเมิน ในส่วนงานของกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ดำเนินการดูแลและควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมายของไทยและมาตรฐานสากลอยู่แล้ว