พาณิชย์ หนุนเอกชนใช้สิทธิลดภาษีตามกรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ล็อตสุดท้าย 1 ม.ค. 61 หวังขยายตลาดส่งออกจีน

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เพื่อขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทย เห็นถึงโอกาสในการสร้างแต้มต่อในการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดจีนจากการที่ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี(FTA) อาเซียน – จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อปี 2548 เป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ไทยและจีนต่างก็ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าล็อตสุดท้ายที่ยังไม่ได้ลดภาษีให้กันลงเหลือร้อยละ 0 – 5

โดยสินค้าสุดท้ายที่จีนได้ลดภาษีให้ไทยเหลือร้อยละ 0 – 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 มีประมาณ 286 รายการ (พิกัดศุลกากร 8 หลัก) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ภาษีเดิมอยู่ที่ร้อยละ 15 -20 เช่น กาแฟ พริกไทย ข้าวหัก แป้งข้าวเจ้า ลำไย สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีสินค้าหลายรายการที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทย กรมฯจึงต้องการ สร้างการรับรู้ของผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์เต็มที่จากการเปิดเสรีล็อตสุดท้ายดังกล่าว

“สินค้าล็อตสุดท้ายที่ไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้จีนเหลือร้อยละ 0-5 ตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เช่น แป้งข้าวสาลี มะเขือเทศบด หินอ่อน/หินแกรนิต ซีเมนต์ สีย้อม/สีทามอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีทั้งวัตถุดิบที่การลดภาษีจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น กระเปาะแก้วสำหรับหลอดไฟ เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณของเทียมสำหรับทำเครื่องประดับ รวมทั้งที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ยางรถยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลการเปิดเสรีสินค้าล็อตสุดท้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและจัดหามาตรการเยียวยาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลการลดภาษีศุลกากรในกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ได้จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://tax.dtn.go.th/

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ FTA อาเซียน – จีน มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปจีนมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จาก 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 เป็น 23.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560

โดยสินค้าที่ไทยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถิติการค้าระหว่างสองประเทศในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีสินค้าที่จีนลดภาษีเป็นศูนย์ให้ไทยแล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังส่งออกไปจีนไม่มากนัก เช่น ปลาและกุ้งแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผัก/ผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จากการที่จีนลดภาษีให้ไทยมากขึ้น