ขาดดุล 3 ไตรมาสอ่วม นำเข้าพลังงานทะลัก 4.9 หมื่นล้าน

พลังงาน

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทย 3 ไตรมาสแรกของปี 2565 จะมีมูลค่า 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% สูงเกินเป้าหมายที่วางไว้ 4%

แต่หากเทียบกับภาพรวมการนำเข้าที่สูงถึง 236,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.7% จะเห็นว่าไทยขาดดุลการค้าสูงถึง 14,984.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดทอนเป็นเงินบาทจะขาดดุลมูลค่าถึง 6.24 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี

จากภาวะอัตราค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 สัดส่วน 21% ของการนำเข้าทั้งหมด มีมูลค่า 49,885 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.2% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 10,515 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 204%

ส่งออกไม่น่าห่วง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังมองว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงเติบโตได้ดี และจะทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 8% ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมีปัจจัยจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาเป็นแรงหนุน ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นกลับมาหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

เปิดโผสินค้า-ตลาดรุ่ง

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.7% จากสินค้าข้าวขยายตัว 25.7% ยางพาราขยายตัว 3.2% อาหารขยายตัว 6.9% อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 22.5% น้ำตาลทรายขยายตัว 141.4% อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งกระป๋อง ขยายตัว 10.1% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัว 26.9%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.0% จากสินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 7.1% เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 7.1% อัญมณีและเครื่องประดับขยายตัว 73.1% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัว 3.6% วัสดุก่อสร้างขยายตัว 11.3% สิ่งทอขยายตัว 11.2% เคมีภัณฑ์ขยายตัว 5.5%

ขณะที่ภาพรวมตลาดส่งออก 9 เดือนแรก สหรัฐขยายตัว 18.8% อาเซียนขยายตัว 18.5% CLMV ขยายตัว 16.0% สหภาพยุโรปขยายตัว 8.7% ส่วนตลาดที่หดตัว เช่น จีนหดตัว 5.9% บรูไนหดตัว 11.4% ปากีสถานหดตัว 10.3% ฮ่องกงหดตัว 9.1% แอฟริกาใต้หดตัว 4.9% รัสเซียหดตัว 35.4%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เงินเฟ้อที่รุนแรงทั่วโลกจนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระเทือนไปยังตลาดเกิดใหม่ (Emergin market) ซึ่งจะเป็นความท้าทายของการส่งออกโค้งสุดท้าย ไปจนถึงปี 2566 ด้วย