ไทยจ่อยื่น ขอคืนสถานะปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ธ.ค.นี้

ชัยวัฒน์ โยธคล กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

กรมปศุสัตว์ เตรียมยื่นเอกสารขอคืนสถานะไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ต่อการประชุมใหญ่คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์ ธ.ค.นี้ ลุ้นสถานภาพปลอดโรคในปี’66

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารขอคืนสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ ให้แล้วเสร็จและจะยื่นเอกสารดังกล่าวต่อการประชุมใหญ่ของคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์ ภายในกลางเดือนธันวาคม 2565 เพื่อให้ทันการพิจารณาในเดือนพฤษภาคม 2566
หากผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

การปลอดโรคดังกล่าวจะเกิดผลดี โดยทำให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าระหว่างประเทศได้ตามปกติ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าและการส่งออกม้า ส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันม้าทุกประเภททั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพและรายได้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน อาทิ เกษตรกรผู้เลี้ยงม้า ผู้ประกอบการ สมาคม ชมรม แรงงาน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

“ผลกระทบจากการเกิดโรคดังกล่าวมีมากมาย อาทิ การเคลื่อนย้ายม้าถูกระงับทั้งระบบ สูญเสียรายได้เข้าประเทศจากผลกระทบที่มีต่อการค้าและการส่งออกม้า ไม่สามารถจัดการแข่งขันม้าทุกประเภททั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจากผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

สำหรับการดำเนินการของกรม ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้ง Dr.Ann-Susanne Munstermann ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำและร่วมกำหนดแนวทางการขอคืนสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH)

ทั้งนี้ Dr.Ann-Susanne Munstermann ได้มาเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 และครั้งล่าสุดได้เดินทางมาระหว่างวันที่ 16-24 ตุลาคม 2565 โดยการมาเยือนทั้ง 2 ครั้งเป็นการเข้ามาเพื่อศึกษาดูการดำเนินงาน วิเคราะห์ข้อมูล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทยทั้งระบบ อาทิ การเฝ้าระวังโรค การตรวจตัวอย่าง การป้องกันโรค การควบคุมโรค ระบบสัตวแพทย์บริการ และการจัดทำแผนเตรียมความพร้อม เพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น

โดยได้มีการลงพื้นที่เพื่อดูการจัดการระบบต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำในการเขียนเอกสาร (Dossier) ซึ่ง Dr.Ann-Susanne Munstermann ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และทุกหน่วยงานภาคีที่ได้เร่งรัดดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ดำเนินการครอบคลุมในทุกมิติ จนทำให้โรคสงบลงในที่สุด สามารถสร้างความเชื่อมั่นและมีความพร้อมสูงมากที่จะยื่นขอคืนสถานะปลอดโรคกับองค์การสุขภาพสัตว์โลก

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดสากลขององค์การสุขภาพสัตว์โลกระบุไว้ชัดเจนว่า การที่แต่ละประเทศจะปลอดโรคได้ จะต้องไม่พบการระบาดของโรคมากกว่า 2 ปี พร้อมกับมีการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อยื่นเสนอองค์การสุขภาพสัตว์โลก ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว องค์การสุขภาพสัตว์โลกจะแจ้งเวียนประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ทราบต่อไป