5 กฎหมายเศรษฐกิจไม่ถึงฝั่ง EEC อืด-ลงทุนต่างชาติชะงัก

แผนปฏิรูปเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.สุดอืด สะเทือนงบฯลงทุนต่างชาติ “วิษณุ” เผยเร่งขั้นตอนยุ่บยั่บ 5 ร่างกฎหมายไม่เห็นฝั่ง พ.ร.บ. EEC สุดหิน จัดเวทีฟังความเห็น 7 ครั้งยังไม่ผ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกเตะถ่วง 5 รอบ ต่อเวลามาแล้ว 300 วัน ยังต้องลุ้นต่อ

ผ่าตัดรัฐวิสาหกิจยื้อหาโมเดลต่างประเทศเทียบ เอาผิด 7 ชั่วโคตร ยังเพิ่งเริ่มคำนิยาม กม.น้ำไม่น้อยหน้า ต่อเวลามาแล้ว 4 รอบ

ถึงแม้ว่ารัฐบาล คสช.จะแถลงผลงานการออกกฎหมายในรอบ 3 ปี มี 280 ฉบับ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ 5 ฉบับหลัก ๆ ที่ตั้งใจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ “รัฐบาลแห่งการปฏิรูป” ยังไม่สามารถผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังไม่มีความชัดเจนในการประกาศบังคับใช้ ส่งผลต่อความไม่มั่นใจต่อนักธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลจะเร่งรัดกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังล่าช้าในการพิจารณา 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 2.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. 3.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. 4.ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. 5.ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ….

“ทั้ง 5 ฉบับอยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาปรับแก้ ซึ่งผมไม่ขัดข้องที่จะให้ตรวจสอบให้รอบคอบ เพราะอาจจะกว้างเกินไปจนมีปัญหาการตีความ ทุกคำต้องแน่ใจว่า

แปลแบบนี้ ๆ ตรงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็อยู่ในระหว่างจัดทำ ซึ่งก็มีกำหนดเวลากฎเกณฑ์อยู่” นายวิษณุกล่าว

ยื้อ พ.ร.บ. EEC 2 รอบ 150 วัน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.อีอีซี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 และเข้าสู่กระบวนการของการนำเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 สนช.มีมติรับหลักการ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 30 คน และกำหนดกรอบเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ประชุมมีมติรับหลักการ (ครบกำหนดวันที่ 26 พ.ย. 60) แต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กมธ.วิสามัญขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2561 ยังมีการขอขยายเวลาออกไปอีกเป็นครั้งที่ 2 อีก 30 วัน เมื่อ 19 มกราคม จะครบกำหนด 24 กุมภาพันธ์ 2561

นายวิษณุในฐานะประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น 7 ครั้ง ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี 3 ครั้ง ถือเป็นกฎหมายที่ผ่านการรับฟังมากที่สุดของรัฐบาลนี้ อีกทั้งโครงสร้างคณะกรรมการ EEC มีตัวแทนจาก ครม.ถึง 12 คน 12 กระทรวง”

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ โฆษก กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.อีอีซี กล่าวว่า เหตุผลที่ กมธ.วิสามัญขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2 อีก 30 วัน ไม่ได้ติดขัดอะไร แต่เนื่องจากกฎหมายมีความยากและสลับซับซ้อน จึงต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบ แต่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จเรียบร้อยทั้งฉบับ และพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 คงใช้เวลาไม่นาน

กม. 7 ชั่วโคตร 120 วัน เพิ่งเริ่ม

ขณะที่ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ขั้นตอนล่าสุดอยู่ในวาระที่ 1 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานนั้น สนช.มีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 จากนั้น กมธ.ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาไป 2 ครั้ง ครั้งแรก 12 ตุลาคม 2560 ขอขยายไปอีก 60 วัน และวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ได้ขอขยายเวลาครั้งที่ 2 ออกไป 60 วัน

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า กมธ.เริ่มพิจารณาลงรายมาตราในส่วนของคำนิยาม เพราะแม้กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์จะมีตัวร่างกฎหมายมานานแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่ในความเป็นจริง มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นคือ กรณีที่เกิดขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขที่ออกประกาศห้ามชาร์จโทรศัพท์ในที่ทำงาน แสดงว่ายังไม่ค่อยเข้าใจที่แท้จริง จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสรุปเนื้อหา ปรับเปลี่ยนในกฎหมาย

“ดังนั้นในส่วนของคำนิยามที่จะต้องมีการแก้ไข เช่น คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จะต้องรวมไปถึง “รัฐวิสาหกิจ” ด้วยหรือไม่ หรือคำว่า “ญาติ” จะกินความถึงญาติแค่ไหน และยังต้องดูว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายมีความทับซ้อนกับกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องตัดออก ในส่วนนี้จึงต้องพิจารณาต่อลงในรายมาตรา ดังนั้นยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกพอสมควร”

ควานหาโมเดลคุมรัฐวิสาหกิจ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 โดยได้มีการขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ครั้งที่สอง วันที่ 25 ธันวาคม 2560

นายสมชาย แสวงการ โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างดังกล่าวว่า อยู่ระหว่าง กมธ.พิจารณาความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายที่เห็นต่าง มีทั้งคนคัดค้านที่ยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยคิดว่ากฎหมายดังกล่าวออกมาใช้แล้วจะเปิดช่องให้มีการขายรัฐวิสาหกิจได้

“อีกส่วนคือกลุ่มนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ดังนั้น กมธ.อยู่ระหว่างการเปรียบเทียบโมเดลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศว่ามีรูปแบบใดบ้าง และจะนำมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจไทยอย่างไร เช่น อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัท แต่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเหมือนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงทำให้การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ” นายสมชายกล่าว

ภาษีที่ดินฯเลื่อน 300 วัน

ด้านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. สนช.มีมติรับหลักการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 กมธ.วิสามัญขอต่ออายุการพิจารณามาแล้วเป็นครั้งที่ 5 ครั้งละ 60 วัน โดยขอขยายครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่สอง 20 กรกฎาคม 2560 ครั้งที่สาม 23 กันยายน 2560 ครั้งที่สี่ 23 พฤศจิกายน 2560 และครั้งที่ห้า 19 มกราคม 2561 ขยายออกไปอีก 60 วัน

พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่าได้ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มี.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกฎหมายลำดับรองประมาณ 7 ฉบับ รวมถึงประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศกระทรวงมหาดไทย

โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเพื่อปรับปรุงให้กฎหมายหลัก และกฎหมายรองสอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยคณะอนุกรรมการได้ทบทวนเป็นครั้งที่ 3 แล้วส่วนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นรายมาตรา เพื่อให้ตอบคำถามในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในการประชุมใหญ่ของ สนช.ได้

ดังนั้นหากกระบวนการพิจารณากฎหมายลำดับรองที่คณะอนุกรรมาธิการไปศึกษาดำเนินการเสร็จ กมธ.อาจจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 ก่อนกำหนด 25 มีนาคมได้

เปิดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน

ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เพื่อลดผลกระทบและกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่รัฐบาลตั้งเป้าประกาศบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562 จะกำหนดบัญชีแนบท้ายกฎหมายลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 1.ที่เกษตรกรรม กับบ้านพักอาศัย 2.ที่พาณิชยกรรมและอื่น ๆ 3.ที่ดินรกร้างในส่วนที่ดินเกษตร เช่น 10 ไร่ เสียภาษีเต็มแปลงหรือไม่ ต้องดูการใช้ประโยชน์จริง เช่นเดียวกับบ้านพักอาศัย ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านและโฉนดที่ดิน เพราะสำรวจพบว่า 90% เป็นบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่บ้านหลังที่สองต้องเสียภาษี ที่พาณิชยกรรมก็จะดูการใช้ประโยชน์จริง

จากเดิมกำหนดเพดานจัดเก็บภาษีที่เกษตรกรรม 0.15% ที่อยู่อาศัย 0.3% พาณิชยกรรมและอื่น ๆ 1.2% ที่รกร้าง 3% แต่เพื่อคลายความกังวลใจ คณะกรรมาธิการได้กำหนดอัตราการจัดเก็บจริงให้ชัดเจนอาทิ ที่ดินเกษตรมูลค่า 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 1 หมื่นบาท มูลค่า 200 ล้านบาท เสียภาษี 6 หมื่นบาท บ้านหลังหลักยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก 50 ล้านบาทต่อไป เสีย 6 พันบาท มูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 2.6 หมื่นบาท 200 ล้านบาท เสียภาษี 1.26 แสนบาทที่พาณิชยกรรมมูลค่า 50 ล้านบาท ภาษีปีละ 1.5 แสนบาท มูลค่า 100 ล้านบาท ภาษี 3.5 แสนบาท มูลค่า 500 ล้านบาท ภาษี 2.25 ล้านบาท มูลค่า 1 พันล้านบาท ภาษี 4.75 ล้านบาท ที่ดินรกร้าง อัตราเดียวกับที่พาณิชยกรรม แต่หากไม่ทำประโยชน์เก็บเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

กม.น้ำ สะเทือนอีก 38 ฉบับ

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. สนช.มีมติรับหลักการเมื่อ 2 มีนาคม 2560 และขอขยายเวลาไปอีก 4 ครั้ง คือ 20 เมษายน 2560 ครั้งที่สอง 22 มิถุนายน 2560 ครั้งที่สาม 24 สิงหาคม 2560 และครั้งที่สี่ ขอขยายไปถึง 90 วัน จะครบกำหนดวันที่ 25 เมษายน 2561

ทั้งนี้ เหตุผลที่ขอขยายเวลาการคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ มีเนื้อหาสาระที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 42 หน่วยงานและมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากถึง 38 ฉบับ มีวัตถุประสงค์การบังคับใช้และปัญหาที่แตกต่างกัน ซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ไม่เชื่อมโยง มีช่องว่าง กมธ.จึงต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ

2.จากมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อ 8 สิงหาคม 2560 ให้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดการบูรณาการ จำเป็นต้องรอการพิจารณาโครงสร้าง หน้าที่ และอำนาจของสำนักงานดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบกับร่าง พ.ร.บ. ให้สอดคล้องกัน

3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง

พล.ร.อ.วีระพันธ์ สุขก้อน รองโฆษก กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ กมธ.วิสามัญพิจารณาครบทั้ง 100 มาตราแล้ว และอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้น กมธ.จะต้องแก้ไข พร้อมกับเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยราชการต่าง ๆ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ติดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบในวงกว้าง และเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จากนั้น กมธ.วิสามัญจะส่งร่างกฎหมายไปให้รัฐบาลพิจารณาในเดือนมีนาคม 2561

“มั่นใจว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จตามที่ขอขยายเวลาเพิ่มเติม 90 วัน แน่นอน” พล.ร.อ.วีระพันธ์กล่าว

หวั่นสะเทือนลงทุนต่างชาติ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ พ.ร.บ. EEC ล่าช้า ต้องพิจารณาว่าประเทศอื่นมีพื้นที่และนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจขนาดไหนเม็ดเงินลงทุนอาจมีผลกระทบบ้าง แต่อย่างน้อยไตรมาส 2 ปี 2561 น่าจะเริ่มทยอยซื้อที่ดินกันแล้ว ระหว่างรอกฎหมายประกาศในช่วงกรอบของเดือนมีนาคมนี้

“ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) นักลงทุนต้องใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินที่ไทยเป็นศูนย์กลาง อยู่ในเส้นทาง ไม่มีทางที่นักลงทุนจะถอดใจไปลงทุนที่อื่นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นทั้งไบโอชีวภาพ ยานยนต์ ที่มั่นใจว่านักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve จะไม่ย้ายไปไหน เพราะใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมที่ไทยมีเป็นตัวกำหนด”

นายเจนกล่าวถึงความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนว่า ส่วนใหญ่อยากเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของกฎหมายก่อน เพื่อขอความมั่นใจว่า กฎหมายฉบับที่สมบูรณ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดใด ๆ อีก ก่อนนำเสนอต่อบอร์ดของบริษัท เพื่อตัดสินใจถึงแผนการลงทุนจริง