ส่งออกมั่นใจข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพสู้ ผกาลำดวน กัมพูชาได้ แต่ต้องไม่ประมาท

ส่งออกข้าวไทย

ส่งออกไทยมั่นใจข้าวหอมมะลิไทย คุณภาพยังสู้ผกาลำดวนได้ ยังครองใจตลาดสหรัฐ แต่ห้ามประมาทระยะยาว เนื่องกัมพูชาได้เปรียบต้นทุนภาษีโควตาข้าวอียู แถมเวียดนามปาดหน้าเค้กแย่งใช้ผกาลำดวนส่งออกราคาต่ำกว่า 20 เหรียญต่อตัน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมข้าวโลก ครั้งที่ 14 (14th World Rice Conference) ที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งภายในงานยังจัดให้มีการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกประจำปี 2022 ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิของกัมพูชาชื่อ ผกาลำดวน ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้

โดยชนะข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยไป โดยไทยชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน คือปี 2563-2564 ที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ถือว่าเสียแชมป์ให้กับกัมพูชา

แหล่งข่าวในวงการข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเรื่องผกาลำดวน จากกัมพูชาแชมป์โลกโค่นข้าวหอมมะลิไทยนั้น จะยังไม่มีผลต่อการส่งออกของไทยในระยะใกล้นี้ เพราะตลาดส่งออกไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ อเมริกาและแคนาดา รวมกันประมาณ 550,000 ตันต่อปี เป็นตลาดที่ยังไม่ยอมรับในชื่อเสียงและคุณภาพของข้าวหอมกัมพูชา

ดังนั้น กัมพูชาจะทำได้ดีในสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี คือไม่ต้องเสียและไม่มีจำกัดโควตาจำนวนนำเข้า ส่วนไทยต้องเสีย 175 ยูโรดอลลาร์ต่อตัน ในกรณีที่จำนวนเกินโควตาที่ได้รับ 25,000 ตันต่อปี

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ผกาลำดวนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวแบบเวียดนาม ที่ในช่วงเริ่มต้นยังสู้ไทยไม่ได้ แต่ใช้ราคาที่ต่ำกว่ามากมาสู้ โดยปัจจุบันนี้ราคาผกาลำดวนต่ำกว่าไทยนิดหน่อย ประมาณ 15-20 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาไทยประมาณ 720-750 เหรียญสหรัฐ/ตัน กัมพูชา 710-740 เหรียญสหรัฐ/ตัน

อีกเรื่องคือ ข้าวกัมพูชาทุกประเภทถูกพ่อค้าเวียดนามแย่งซื้อไปมากช่วงเก็บเกี่ยว เพราะมีชายแดนติดกัน ใช้ขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ ผ่านคลองขนส่งในลุ่มน้ำโขง กัมพูชาจึงเหลือข้าวส่งออกจากท่าเรือกัมพูชาที่สีหนุวิลล์น้อยลง ทำให้ต้นทุนราคาข้าวเปลือกไม่ลงต่ำมาก ซึ่งก็เป็นผลดีต่อชาวนากัมพูชา

“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาสามารถผลิตข้าวชนิดนี้เพิ่ม 5-10% แต่โดนพ่อค้าเวียดนามเข้ามาแย่งซื้อตามชายแดน เพราะดีกว่ามะลิเวียดนาม จากโครงสร้างดินพื้นที่ปลูกใกล้เคียงกับไทย เวียดนามใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตข้าวคุณภาพ และรับซื้อเข้าเวียดนาม เพราะเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด”

“ที่สำคัญไทยต้องทำการตลาดเชิงรุก ข้าวไทยทานคู่กับอาหารไทยในการท่องเที่ยวที่ไทยได้เปรียบมาช่วย คือ Soft power”

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยปี 2022 น่าจะใกล้เคียงกับ 2021 แต่ได้ตลาดอิรัก และค่าเงินบาทมาช่วยข้าวขาวได้มาก

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามการประกวดพบว่าข้าวหอมมะลิไทยแพ้ข้าวกัมพูชาเพียงนิดเดียว เมื่อมีการหุงข้าวกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทยมีน้อยกว่าข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา ส่วนในตัวคุณภาพข้าว และรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน โดยปีนี้ไทยได้คัดเลือกข้าวที่ดีที่สุด ในนามสมาคมส่งไปประกวดแค่ 1 ตัวอย่าง

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์

สำหรับข้าวที่มีการส่งเข้าประกวดในปีนี้มีทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐ จีน โดยข้าวไทยแพ้กัมพูชาไปแค่ 1 คะแนน ส่วนอันดับ 3 เป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับ 4 ข้าวหอมมะลิจาก สปป.ลาว

นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า การเสียแชมป์ข้าวโลกครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนว่าไทยจะต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลหันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยอย่างมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดจะเน้นดูแลแค่เรื่องราคา แต่ยังขาดการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทย

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปี 2565 น่าจะทำได้ถึง 7.5 ล้านตัน ส่วนปีหน้าน่าจะแตะ 8 ล้านตัน เพราะปีนี้ผลผลิตมีมาก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ นาปรังไม่มีปัญหา ส่งผลให้มีผลผลิตออกมามาก อีกทั้งค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไป อยู่ที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ข้าวไทยราคาไม่ห่างจากคู่แข่งมากนักเมื่อเทียบกับอดีต โดยปัจจุบันข้าวไทยประมาณ 410-450 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวเวียดนาม 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวอินเดีย 390 เหรียญสหรัฐต่อตัน