จัดระเบียบ 80,000 วิสาหกิจชุมชน ลดซ้ำซ้อน-ตั้งกองทุนช่วยเหลือ

ทรงศัก สายเชื้อ

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จัดระเบียบวิสาหกิจชุมชน 80,000 รายทั่วไทย ลดภาระงานซ้ำซ้อน 8 หน่วยงาน แนะวาง 5 มาตรการส่งเสริมกำหนดนโยบายระดับชาติ แก้กฎหมาย พ.ร.บ.วิสาหกิจ ปรับสถานะเป็นนิติบุคคล พร้อมตั้งกองทุน 8,000 ล้านบาท แก้ปมสภาพคล่อง

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางดำเนินการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบของประเทศ เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนมีความสำคัญอย่างมาก เฉพาะวิสาหกิจชุมชนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับจดทะเบียน (ณ มีนาคม 2565) ก็มีถึง 86,000 กว่าแห่ง ไม่นับรวมจากหน่วยงานอื่น

ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมากถึง 8 หน่วยงาน นอกเหนือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วก็ยังมีกระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการอุตสาหกรรมชุมชน อินดัสตรีวิลเลจ, กรมพัฒนาชุมชน จัดทำโครงการ OTOP, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดูแล SMEs ทั้งหมดและใช้ System Integrator

กระทรวงพาณิชย์มีกระจายอยู่ในกรมการค้าภายใน-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและพัฒนา มีจัดทำหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ 300 กว่าแห่ง คลินิกเทคโนโลยี SIT For OTOP UBI city, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มี IBEs, IDEs และ Social Innonvation และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งหากนับรวมทั้งหมดจะมีวิสาหกิจเป็นหลัก 100,000 ราย ครอบคลุมสมาชิกหรือคนในพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านคน

“วิสาหกิจชุมชนมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมอุตสาหกรรมแล้ว ผมว่าน่าจะมี 100,000 กว่าแห่ง มีความสำคัญ 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เศรษฐกิจรากหญ้า การสร้างความเข้มเเข็งให้ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ระดับที่ 2 วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งสามารถส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดระดับชาติ เช่น วิสาหกิจชุมชนพืชผักเกษตรอินทรีย์ จ.เพชรบูรณ์ ส่งไปยังเลมอนฟาร์ม ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เกต เข้ามาในงานแฟร์ขนาดใหญ่เป็นประจำ

และระดับที่ 3 คือ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ฉะนั้นพวกนี้มีความสำคัญฐานราก เศรษฐกิจระดับชาติ และเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจในการส่งออก แต่โครงสร้างในปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดกลุ่มนี้มีเพียง 17% ที่เหลืออีก 80% คือบริษัทขนาดใหญ่ จะทำอย่างไรให้เขาได้ขยายมาร์เกตแชร์ได้ เราจึงเริ่มที่วิสาหกิจชุมชน มีเป้าหมายให้พวกเขาได้รับการสนับสนุน” นายทรงศักกล่าว

ชำแหละปัญหา

จากการรวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดของผู้ตรวจการแผ่นดินพบปัญหาคือ เมื่อวิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเสร็จแล้วจะไม่ได้รับการดูแล มีเพียงกระทรวงเกษตรฯที่จัดสรรงบประมาณเพียงกระทรวงเดียว แต่คงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 80,000 กว่าแห่งได้ ประกอบกับหน่วยงานที่ดูแลก็มีความซับซ้อน ทำให้งบประมาณกระจัดกระจายไปตามหน่วนงานต่าง ๆ

“ตอนนี้ทางปฏิบัติที่เราไปดูมาอย่างน้อย 3-4 จังหวัด พบว่าวิสาหกิจชุมชนเพรชบูรณ์ นครศรีธรรมราช และในกรุงเทพฯ ไปแค่ 3 เขตมีกว่า 20 วิสาหกิจชุมชน แต่คนไม่ค่อยรู้ เช่น กทม.มีวิสาหกิจชุมชนเขตภาษีเจริญ แปรรูปสมุนไพรชุมชนเข้มแข็งมาก เขาจดทะเบียนแรกเริ่มกับกระทรวงเกษตรฯและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาช่วยแนะนำความรู้ แปรรูปอย่างไร ทำมาร์เกตติ้งจนประสบความสำเร็จ พอเข้าตลาดฝรั่งเศสสามารถเปิดสาขาที่ปารีสเป็นไฮเอนด์ กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ชื่อ KUSUMA เขตประเวศมี 6-8 แห่ง ที่มีศักยภาพสูงในการทำอัญมณี มีต่างประเทศมาศึกษาเยอะมาก เขาทำป้อนบริษัทใหญ่ ซึ่งเขาอยากจะทำส่งออกเอง

และเขตพระโขนงมีน้ำพริกลุงพุตที่ขายตามซูเปอร์และงานแฟร์และเคยส่งไปสิงคโปร์ด้วย แต่เกิดโควิด-19 ก็ถอยมาทำตลาดในประเทศ พวกนี้ต้องการการสนับสนุนการทำธุรกิจสมัยใหม่ อยากให้หน่วยงานมหาวิทยาลัยมาเเนะนำ นอกจากนี้มีโอท็อป 95,000 แห่ง อีกเกือบ 100,000 กลุ่ม โดยวิสาหกิจชุมชนที่ได้โอท็อปด้วย 5,300 ชุมชน ที่เหลือน่าจะเป็นการเชื่อมโยง SMEs” นายทรงศักกล่าว

เขย่าแยกวิสาหกิจ-SMEs-OTOP

สำหรับแนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจะมี 5 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรก จำต้องวางนโยบายระดับชาติที่จะสนับสนุนกลุ่มธุรกิจภาพรวม ซึ่งทั้งหมดยังไม่เกิดนโยบายที่สอดประสานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องนี้ สิ่งที่มองก็คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินอยากจะผลักดันให้เป็นนโยบายภาพรวม นำมาซึ่งประเด็นที่สองคือ เมื่อเราสามารถมีนโยบายที่ชัดเจนเเล้ว มีวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งที่มีศักยภาพที่จะยกระดับเป็น Innovation Based Enterprise : IBE หรือ INE Innovation Driven Enterprise

สองคำนี้หมายถึงอันเดียวกันซึ่งหมายความว่าอาจจะเป็น SMEs วิสาหกิจชุมชน โอท็อปที่ใส่นวัตกรรม เทคโนโลยีเข้าไปในสินค้าของเขาได้ อีกส่วนคือ ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจนจะสามารถเชื่อมโยงไปยังนโยบายรัฐบาล อาทิ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียนเเละรวมทั้งกรีน

ประเด็นที่ 2 คือ การบูรณาการหน่วยงานหลัก 8 หน่วยตามที่กล่าวข้างต้น เพื่อวางแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามศักยภาพของเขา เช่น รายใดเริ่มใหม่ รายใดเริ่มทำตลาดในประเทศหรือรายใดที่มีศักยภาพสามารถผลิตสินค้าส่งออกได้ตามมาตรฐานต่างประเทศแล้วมีการบูรณาการอย่างไร เป็นประเด็นหลักที่กำลังศึกษาและหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร ร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตอนนี้จำนวนจด 100,000 แห่ง ต้องมาเขย่าตะกร้า เพราะวิสาหกิจชุมชนเป็นชาวบ้านมารวมกัน ต้องเป็นเจ้าของโดยไม่มีใครเป็นเถ้าแก่ แต่ตอนนี้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่มี “เถ้าแก่” แล้วไปเอาลูกจ้างมาบอกว่าเป็นสมาชิก ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ลักษณะอย่างนี้เราเขย่าแยกออกมาเป็น SMEs ได้ไหม แล้วให้ สสว.ดูแล

“เมื่อเขย่าหน่วยงานให้ชัดเจนขึ้นแล้ว จะได้รู้ว่าหน่วยงานต้องทำอะไรเพราะศักยภาพแต่ละแห่งมีไม่เท่ากัน กลุ่มแรกมีขีดความสามารถขายในท้องถิ่นหรือกลุ่มอำเภอ ตำบล หรือจังหวัด กลุ่มที่ 2 สามารถส่งตลาดระดับชาติ และกลุ่มที่ 3 ไปอินเตอร์ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ พัฒนาสู่โกลบอลแบรนด์ เมื่อจัดสรรได้แล้วจะจัดไพออริตี้ได้ในแต่ละปี แล้วไล่ดูจัดสรรงบประมาณยังไง เพราะคงไม่สามารถส่งงบลงไปได้ในทุกกลุ่มในทุกปี และมีแผนงาน 3 ปี 5 ปีออกมา”

สำหรับแนวทางการบูรณาการ 8 หน่วยงานจะมีคณะกรรมการและให้มีฝ่ายกรรมการประสานฝ่ายเลขาฯ มาทำงานร่วมกันตรงกลาง ส่วนในระดับจังหวัดเราได้นำร่องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาที่ จ.พิษณุโลก โดยดึงหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน เเละใช้กลไกในระดับจังหวัด

วางระบบนิเวศ “กฎหมาย-ภาษี-สภาพคล่อง”

ประเด็นที่ 3 ระบบนิเวศของวิสาหกิจชุมชน ในเรื่องกฎหมาย ควรมีการปรับ “พระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน” ยังไม่ชัดเจนในหลายจุดต้องปรับให้ชัดเจน เช่น ใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดว่ากระทรวงเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะต้องทำหน้าที่อะไร และกลุ่มที่ไปจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน “ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล” ทำให้ไม่สามารถยื่นขอการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้ จึงต้องไปยื่นเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทุกกลุ่มเสนอมาคือควรจะให้เป็น “นิติบุคคล” เพื่อทุกคนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ต่อมาเรื่องภาษี เป็นเรื่องใหญ่ โดยวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดต้องเสียภาษี แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นชั่วคราวสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ซึ่งได้รับการยกเว้นแต่จะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 ทาง ครม.ได้อนุมัติตามที่กรมสรรพากรขอให้ขยายเวลาไปอีก 3 ปี ถึงปี 2568 แต่ในหลักการ หมายความว่า วิสาหกิจชุมชนยังต้องเสียภาษีเพียงแต่ “ยกเว้น” ให้กลุ่มที่มีรายได้ไม่ถึงเป็นการชั่วคราว ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินก็คือ กลุ่มที่รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท/ปี ควรเป็นการยกเว้นตลอดไปเลย ส่วนผู้ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี อาจจะใช้วิธีอื่น เช่น จากที่เก็บภาษีจากรายได้ให้เป็นเก็บภาษีจากกำไรได้หรือไม่

ประเด็นที่ 4 เรื่องเงินทุนหมุนเวียน หลังจากจัดสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว อาจต้องสร้างเน็ตเวิร์กพิเศษ ดึงสถาบันการเงิน ทั้ง ธ.ก.ส, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, เอสเอ็มอีแบงก์ ให้มีโครงการพิเศษเพื่อให้เข้าถึงเงินทุนสะดวกขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ระหว่างการหารือคือ “การจัดตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชน” โดยจะต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนวงเงินตั้งต้นควรวางไว้ที่ 8,000 ล้านบาทต่อปี โดยอาจจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลก่อน แต่งบจากรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ

ดังนั้นหากวิสาหกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไปให้จ่ายเข้ากองทุน ปีละสมมติ 2,000-3,000 บาท/หนึ่งวิสาหกิจชุมชน มีเงินไหลเข้าอีกส่วน จากนั้นบริหารจัดการ เช่น เข้าไปให้ความช่วยเหลือ สมมุติ วิสาหกิจโรงคั่วกาแฟต้องการ 1 ล้านบาท อาจจะเป็นลักษณะไม่ใช่การให้เปล่า อาจจะมีดอกเบี้ย 0.5% ระยะเวลาในการส่งคืนยาวกว่าปกติ

วางมาตรฐาน-เสริมนวัตกรรม

เรื่องมาตรฐาน เช่น มาตรฐานของวิสาหกิจชุมชนทั้งในระดับฟาร์มตั้งแต่การปลูกพืช GAP ไปจนถึงมาตรฐานระดับโรงงาน GMP เพื่อดูแลทั้งตลาดผู้บริโภคภายในประเทศและตลาดเพื่อการส่งออก และ ประเด็นที่ 5 การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขาดมาก มีข้อเสนอว่า เราไปแนะนำที่เพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช ในการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย

และถัดไปคือ การจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ สถาบันการศึกษาสามารถเข้าไปช่วยให้ความรู้เรื่องการวางแผนธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด การพัฒนาแบรนด์สู่ตลาดในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงผู้ซื้อ

“เราวางกรอบว่า ปี 2566 จะสรุปทั้งหมดได้ เราจะเสนอการวางแนวทางพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเข้า ครม.เพื่อหลายเรื่องจะต้องมีเจ้าภาพหลัก วิสาหกิจชุมชนแจ้งแยกหน่วยงานจะไม่เกิด เข้า ครม.ถึงจะมีคนรับลูกนำไปปฏิบัติต่อไป”