ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ที่ 1,106.40 บาท/ตัน จ่อลงดาบ มิตรผล รับอ้อยเผา

อ้อย
ภาพจาก PIXABAY

สำนักงานอ้อยฯ เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดู 64/65 ที่ 1,106.40 บาท/ตัน ชาวไร่ได้เพิ่มตันละ 36.4 บาท พร้อมลงดาบชาวไร่ 5 จังหวัด โคราช อุดรฯ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุพรรณฯ และโรงงานน้ำตาลมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น วังขนาย เอราวัณ หลังเพิกเฉยรับอ้อยเผาที่ลอบเผาสูงถึง 10 ล้านตัน หวั่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤต

วันที่ 18 มกราคม 2566 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย

การประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการดูแลชาวไร่
การประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

สำหรับวาระหลักในการประชุมนัดนี้คือ การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ราคา 1,106.40 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่ราคา 1,070 บาท

โดยการกำหนดราคาดังกล่าวจะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายรับเพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ราคา 474.17 บาท/ตันอ้อย

การที่ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มกำลังซื้อในระบบ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่และโรงงาน เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะมีขั้นตอนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียและสรุปตัวเลขเสนอ กอน.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน.ได้มีการเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศ ที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% โดยเน้นให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐดำเนินการ

เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทย ในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ที่ล่าสุดเพิ่มเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เป็น 25 ล้านคน

อัพเดตล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565-15 ม.ค. 2566 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 32 ล้านตันอ้อย และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 9.2 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 28.73%

“จากตัวเลขดังกล่าว โดยเฉพาะสัดส่วนการลักลอบเผาที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทั้งสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้ กระทบกับสุขภาพประชาชนและภาคการท่องเที่ยวโดยตรง และยังเป็นตัวเลขที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่า มีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพคนไทย

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา โดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ”

จังหวัดที่มีอ้อยถูกลักลอบเผาสูงสุด
สถิติ จังหวัดที่มีอ้อยถูกลักลอบเผาสูงสุด

จากข้อมูลลักลอบเผาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2566 ยังพบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด ดังนี้ นครราชสีมา 1.2 ล้านตัน อุดรธานี 0.78 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 0.76 ล้านตัน ขอนแก่น 0.66 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 0.57 ล้านตัน ตามลำดับ

ขณะที่ 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ดังนี้ กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 1.83 ล้านตัน กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง (10 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 0.94 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 0.78 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเอราวัณ (2 โรง)  0.57 ล้านตัน ตามลำดับ

กลุ่มบริษัทที่รับอ้อย
กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยที่ถูกลักลอบเผา ฤดูกาลผลิต 2565/2566