ไฟฟ้าสีเขียว : UGT ทางรอดใหม่โรงงานหนี “ค่าไฟแพง”

ปัญหาต้นทุนค่าไฟแพงกำลังเป็นปัญหาสำคัญของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องแบกรับ อีกทั้งแรงกดดันจากที่ลูกค้าต่างประเทศเรียกร้องให้โรงงานผลิตสินค้าของไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นตลาดยุโรปที่กำลังจะบังคับใช้มาตรการ CBAM เรียกเก็บค่าคาร์บอน และยังมีสหรัฐ ญี่ปุ่น ที่ต่างก็ทยอยออกกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้โรงงานจึงหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเพิ่มขึ้น และล่าสุดเอกชนต้องเริ่มตื่นตัวกับทางเลือกใหม่ นั่นคือ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (utility green tariff : UGT) ที่กำลังจะเปิดขายสิทธิในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ย้อนไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปี 2565 ได้มีมติให้ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแลด้วยการกำหนดราคาสะท้อนต้นทุน ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยขณะนี้กกพ. อยู่ระหว่างการศึกษาสูตรการคำนวณ ว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียวในรูปแบบต่าง ๆ ควรมีอัตราค่าไฟฟ้าแต่ละประเภทเท่าไหร่ถึงจะเกิดความเหมาะสม

ไทม์ไลน์ UGT

เรื่อง UGT นั้น ทาง กกพ.ได้ออกหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2566 จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะนำเสนออัตราค่าไฟ UGT

และจะมีการสำรวจตลาดเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือนมีนาคม ก่อนที่ กกพ.จะนำความคิดเห็นดังกล่าวไปพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อที่จะประกาศใช้ในเดือนเมษายน และเริ่มขายสิทธิการจองสิทธิในเดือนมิถุนายน 2566 คาดว่าจะเริ่มขายไฟจริงในปี 2567

นำร่อง RE 5,000 MW

ไฮไลต์ที่สำคัญอีกด้าน คือ การประกาศใช้ UGT จะเชื่อมโยงกับ “โครงการการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน” (RE) ในรูปแบบ feed in tarrift หรือ FiT ปี 2565-2573 จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ที่กำลังคัดเลือกอยู่

ต่อไปโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า RE จะได้ใบรับรองการขายไฟฟ้าสีเขียว REC จากโรงไฟฟ้า ผ่านทาง กกพ. โดยอัตโนมัติ เพื่อจะให้โรงงานหรือุตสาหกรรมนั้นนำไปรับรองกับผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“การตกลงเงื่อนไข UGT นี้ก็เหมือนเรานำข้าวเปลือกไปสีที่โรงสี ระหว่างเจ้าของข้าวกับโรงสีก็ต้องตกลงกัน ว่าเมื่อสีออกมาแล้วข้าวสาร แกลบ รำข้าวจะเป็นของใคร ในกรณีนี้ กกพ.ตกลงว่าผลิตไฟฟ้าแล้ว เรื่องการรับรอง REC นั้น กกพ.จะนำส่งผ่านให้ผู้ใช้ปลายทางแบบอัตโนมัติ โดยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้ตรงนี้

แต่ไม่ได้หมายความว่า กกพ.จะนำเอาการรับรองนี้ไปขายหากำไร เพราะเมื่อเราศึกษาได้ข้อสรุปและกำหนดโซลูชั่นออกมาแล้ว ว่าจะใช้ไฟประเภทไหน ค่าไฟเท่าไร เราก็จะกำหนดเป็นหนึ่งในประเภทการจำหน่ายไฟ”

318 โครงการ RE

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของการคัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้ กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกผ่านคุณสมบัติ 523 โครงการ และผ่านการอุทธรณ์คุณสมบัติอีก 27 โครงการ รวมเป็น 550 โครงการจากจำนวนผู้ที่ยื่นคำขอทั้งหมด 629 โครงการ

โดยในจำนวน 550 โครงการนี้ ผ่านการคัดเลือก 548 โครงการ อีก 2 โครงการไม่ผ่าน เพราะเสนอเอกสารเท็จ

ขั้นตอนทางเทคนิคลำดับถัดมา กกพ.คัด ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ 230 โครงการออก เหลือเพียง 318 โครงการ คิดเป็นจำนวน 7,729.08 เมกะวัตต์ (ตาราง)

ตาราง พลังงานสีเขียว

สาเหตุทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 230 โครงการไม่ผ่านมาจาก 5 ประเด็น อาทิ จากเหตุผลด้านพื้นที่ 210 โครงการ อาทิ ติดปัญหาผังเมือง เรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง รวมถึงติดเรื่องผังรวมแปลง ส่วนที่ 2 คือติดปัญหาด้านเทคโนโลยี 23 โครงการ อาทิ ไม่พบเอกสารเรื่องแพลนเลย์เอาต์ วิศวกรไม่ลงนามในแบบแพลนเลย์เอาต์ ไม่มีสำเนาใบอนุญาตวิศวกรผู้รับรอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เพราะขาดความพร้อมในเรื่องเชื้อเพลิง 6 โครงการ เพราะไม่มีรายงานประเมินความสามารถในการผลิตไฟฟ้า และผู้ที่ไม่ผ่านด้านการเงิน 26 โครงการ เช่นไม่แนบหนังสือสนับสนุนทางการเงิน ไม่ระบุวงเงินในการสนับสนุนหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ และผู้ที่ไม่มีแผนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นอีก 1 โครงการ

“เกณฑ์การพิจารณาเราก็แบ่งกลุ่มแต่ละประเภท จากเกณฑ์เช่นที่ดิน ที่ผ่านมาได้กรรมสิทธิ์หมดแล้ว แต่ต้องดูว่ากรรมสิทธิ์ที่ได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ระดับไหน ถ้าเป็นผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของที่ก็มีกรรมสิทธิ์เยอะกว่า หรือถ้าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายต้องดูว่ามีคอมมิตเมนต์กันชัดเจนมีการลงทะเบียนก็เป็นอีกระดับหนึ่ง”

เพิ่มแบงก์การันตี

หลายฝ่ายมองว่า 318 โครงการที่เหลือมีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ด้วยหลายราย ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันย่อมเข้มข้นขึ้น แต่ตามเงื่อนไข กกพ.กำหนดราคาซื้อขายไฟเท่ากัน จึงเกิดคำถามว่า กกพ.จะใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน

นายคมกฤชระบุว่า เกณฑ์การให้คะแนนรอบหลังจะเข้มข้นขึ้น แต่จะไม่ใช่การแข่งขันราคา เพราะเรากำหนดราคาให้ทุกประเภทเท่ากันอยู่แล้ว แต่จะเข้มเรื่อง “การการันตี” ว่าผู้ประกอบการที่ยื่นสมัครมานั้นสามารถผลิตไฟฟ้า COD ได้ตามสัญญาแน่นอน โดยเรื่องแรกจะดูเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน และดูเรื่องเทคนิคค่อนข้างละเอียด เพื่อที่จะมีความมั่นใจได้ว่าคนที่จะเข้ามามีความพร้อมในการก่อสร้างจริง

เกณฑ์สำคัญที่สองในรอบนี้ เรามีการเพิ่มแบงก์การันตีสูงกว่ารอบอื่น ๆ ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเมกะวัตต์ แพงกว่ารอบก่อนซึ่งคิดในอัตรา 500 บาทต่อเมกะวัตต์ ฉะนั้น คนที่เข้ามาถ้าใครที่ทำไม่จริง หรือทำไม่ได้เขาก็จะถูกยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีราคาแพงมากกว่าเดิมด้วย

“กกพ.ให้ความสำคัญกับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบนี้ เพราะเราจะเอาใบรับรองไปให้คนที่ใช้ไฟฟ้าสีเขียว ดังนั้น หากสมัครแล้ว COD ไม่ได้ ก็จะมีผลกระทบ เพราะมีลูกค้าคอยอยู่ ผู้ใช้ไฟอาจจะนำใบรับรองนั้นไปแสดงกับลูกค้าปลายทาง หรือนำไปขายสิทธิต่อก็ได้ แตกต่างจากการซื้อในรอบที่ผ่านมา

เช่น เอสทีพีไฮบริดที่ประมูลได้ 78 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนั้นผลิตไม่ได้ก็ไม่มีอะไร เราก็ใช้ไฟฟ้าอื่นแทนได้ แต่รอบนี้เป็นคนละมิติ เราจึงอยากได้คนที่มาสมัครแล้วผลิตได้ มากกว่าที่จะเข้ามาแล้วให้เราคิดค่าปรับบอนด์”

ทั้งนี้ UGT จะนับเฉพาะไฟฟ้าจากโครงการ RE 5,000 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่จะไม่นับรวมประมูลผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม เพราะไม่ใช่เป็นพลังงานสีเขียว และไม่นับรวมโครงการผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid firm 78 เมกะวัตต์ ที่ผลิตก่อนหน้านี้ เพราะถือว่าเป็นโครงการเก่า

ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ UGT ที่กำหนดว่า ผู้ซื้อจะต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของรัฐและเอกชนเท่านั้น เพื่อช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น หากยอมซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากโครงการเก่า ๆ ก็เท่ากับว่าไม่ได้ช่วยให้มีการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นนั่นเอง

เปลี่ยนผ่านการเมืองสะดุด

ต่อไปภาคเอกชนต้องตัดสินใจเลือกเองว่า หากเขาต้องการการันตีกับลูกค้าว่ามีการผลิตสินค้าโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เขาจะเลือกใช้วิธีใด หากเป็นคนที่มีงบฯลงทุนสูงก็อาจจะเลือกติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา

ส่วนไฟฟ้าสีเขียวจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเพิ่มการลงทุนจำนวนมาก ๆ และมีโอกาสจะสร้างความคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงค่าไฟฟ้าได้รับผลกระทบจาก LNG ราคาแพง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่อยู่ในระดับ 2 บาท/หน่วย อาจจะคุ้มกว่าไฟฟ้าทั่วไปที่ 4 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม กกพ.มีความเป็นห่วงว่า ถ้าหากรอบนี้คัดเลือกไม่ได้ครบ 5,000 เมกะวัตต์ อาจจะทำให้โครงการต้องสะดุดลากยาว เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะกระทบ เพราะความต้องการการผลิตไฟฟ้าสีเขียวของลูกค้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กว่าจะรอการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ก็จะใช้เวลายาวนานจนกลายเป็นการเสียโอกาสของประเทศ