ราคาน้ำมันดิบเบรนต์และเวสต์เทกซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันโลกตึงตัว
วันที่ 31 มีนาคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์และเวสต์เทกซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังการเจรจาในด้านการขนส่งน้ำมันของอิรักยังไม่สำเร็จ ทำให้อิรักระงับส่งออกน้ำมันดิบ ราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอิรักอาจนำไปสู่การกลับมาส่งออกของน้ำมันได้บางส่วน ที่ระดับ 200,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากรายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐที่ปรับตัวลดลง
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 30 มี.ค. 2566 อยู่ที่ 74.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.40 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 79.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.99 เหรียญสหรัฐ
ตลาดยังคงจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 3 เม.ย. 66 นี้ โดยมีแนวโน้มที่จะมีมติรักษานโยบายการผลิตน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี
ปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียในเดือน ม.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านตัน ลดลงกว่า 10.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณการนำเข้าในเดือน ก.พ. 66 จะคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการนำเข้าน้ำมันของยุโรปจากสหรัฐปรับลดลงกว่า 16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 2.3 แสนตัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันในยุโรป จากการประท้วงรัฐบาลในฝรั่งเศสและวิกฤตทางการเงิน