“ไฮสปีดเทรน” เลื่อนแต่ไม่หยุด รอรัฐบาลใหม่แก้สัญญาพร้อมปลุก MRO

อีอีซี-EEC
แฟ้มภาพประกอบข่าว

“จุฬา” เลขาฯอีอีซีคนใหม่ ยอมรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอาจช้ากว่าแผนลากไปหลังปี 2570 รอ ครม.รัฐบาลใหม่เคาะ หลังเร่งเจรจาค่าสัมปทานจากเหตุสุดวิสัยกับทางเอกชนให้จบ เตรียมปลุกโครงการ MRO ยังกันพื้นที่ 200 ไร่ให้การบินไทย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ซึ่งเป็น 1 ในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ยังคงเดินหน้าโครงการต่อ

ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้มีการเจรจากับทางผู้ชนะประมูล (กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) ในประเด็นที่เอกชนขอให้มีการแก้ไขสัญญา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามระหว่างประเทศ (รัสเซีย-ยูเครน) ส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผน อาจทำให้โครงการเสร็จหลังปี 2570

ซึ่งในสัญญาต้องเพิ่มข้อความ “หากเกิดเหตุสุดวิสัยสามารถเปิดเจรจาและแก้ไขสัญญาได้” ในข้อความนี้ ตามหลักการทางคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ได้เห็นชอบแล้ว จากนี้จะรอสรุปผลการเจรจา เช่น การจ่ายค่าสัมปทาน และเสนอเข้า ครม.ในรัฐบาลใหม่ เช่นเดียวกันกับโครงการเมืองการบิน ที่สามารถแก้ไขสัญญาได้และเตรียมเข้า ครม.เช่นกัน

และจากสถานการณ์การบินที่กำลังกลับมา อีอีซีเตรียมหยิบโครงการศูนย์บำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) หารืออีกครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องรื้อแผน และยังคงกันพื้นที่ 200 ไร่ ให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนศูนย์ซ่อม ส่วนพื้นที่อื่นที่เหลือประมาณ 300 ไร่ ยังคงต้องเจรจาเพื่อดึงนักลงทุนรายอื่น ๆ ที่สนใจ

ทั้งนี้ยอมรับในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนและกิจกรรมที่เกิดในพื้นที่อีอีซีแผ่วเล็กน้อย ดังนั้นในแผนปี 2565 จำเป็นที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนกลับมา โดยจะเริ่มที่การโรดโชว์ต่างประเทศ กลางเดือน เม.ย.นี้ เตรียมเดินทางไปที่ประเทศอิตาลี เพื่อพบนักลงทุนในอุตสาหกรรมยา เนื่องจากอิตาลีมีบริษัทยารายใหญ่

ขณะที่ไทยมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งหากได้นักลงทุนที่เป็นผู้ผลิตเข้ามาจะทำให้ไทยเป็น medical hub ตามแผน ควบคู่ไปกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพบนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ แผนดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะโฟกัสการดึงแบบคลัสเตอร์ใน 5 คลัสเตอร์หลัก คือ การแพทย์สุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เศรษฐกิจ BCG และบริการ ซึ่งทั้ง 5 คลัสเตอร์นี้จะเป็นตัวมาช่วยขับเคลื่อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ให้ได้ตามเป้า 4 แสนล้านบาท/ปี

“แผนนี้จะไว้ใช้ล่านักลงทุน และจากนี้เราจะชี้เป้าเลยว่าถ้าเขามา เขาต้องมาลงในพื้นที่ไหนถึงจะเหมาะสม ส่วนเรื่องของรัฐบาลใหม่ถ้าไม่เอาอีอีซีเราจะทำอย่างไร อีอีซีเป็นกฎหมาย ถ้ารัฐไม่เอาคือต้องฉีกกฎหมายทิ้ง แต่เชื่อว่าคนในพื้นที่อีอีซีไม่ยอม เพราะโครงการที่เกิดมันเป็นประโยชน์ เชื่อว่าอย่างไรอีอีซีก็ต้องไปต่อ”

สำหรับเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี 2565-2569 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 4.4-5 แสนล้านบาท เป็นส่วนของการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 แสนล้านบาท/ปี และที่เหลือคือการยกระดับชุมชนและประชาชน

“ตนได้เข้ารับตำแหน่งเลขาฯเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 โดยแผนงานนับตั้งแต่ปี 2566-2570 เน้นบริหารงานให้อีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ”