อ้อยเข้าหีบต่ำ 100 ล้านตัน เหตุภัยแล้ง-ต้นทุนสูง ชาวไร่หันปลูกมันแทน

ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี
ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) (คนกลางเสื้อแจ็กเกตดำ)

สอน.เผยผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 65/66 ผลผลิตอ้อยรวม 93.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 1.81 ล้านตัน คิดเป็น 1.97% ผลผลิตเพิ่มขึ้นน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากภัยแล้งและชาวไร่อ้อยหันไปปลูกมัน เพิ่มขึ้น พร้อมวาง 5 แนวทางเพิ่มตัดอ้อยสด

วันที่ 10 เมษายน 2566 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2565/66 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 6 เมษายน 2566 รวมระยะเวลาหีบอ้อย 127 วัน

มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศที่ 93.88 ล้านตัน แยกเป็นอ้อยสด จำนวน 63.10 ล้านตัน คิดเป็น 67.21% และอ้อยถูกลักลอบเผา จำนวน 30.78 ล้านตัน คิดเป็น 32.79% ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 117.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 13.32 CCS ปริมาณผลผลิตอ้อยรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 1.81 ล้านตัน คิดเป็น 1.97%

โดยในปีที่ผ่านมา ก่อนเริ่มเปิดหีบอ้อย สอน.ได้คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/66 จะมีมากกว่า 100 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำมากกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และเกษตรกรชาวไร่อ้อยหันไปปลูกมันสำปะหลังที่มีราคาดีแทน

อ้อย ตัดอ้อย ไร่อ้อย

สำหรับตัวเลขอ้อยถูกลักลอบเผาในฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ยังคงอยู่ในปริมาณสูง สอน. จึงได้วางแนวทางบริหารจัดการการ แก้ไขปัญหาอ้อยถูกลักลอบเผาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการ

1.กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปี 2566-2570 ให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ในมิติการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบริหารจัดการในไร่อ้อยอย่างครบวงจร (Smart Farming) ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน

2.การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

3.ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการเผาใบอ้อย

4.บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

5.จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมเพื่อสางใบอ้อย และโรงงานน้ำตาลได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น คาดว่าฤดูการผลิตปีหน้าปริมาณอ้อยสดจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สอน.ได้คาดการณ์แนวโน้มฤดูการผลิตปี 2566/67 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในปีหน้าจะส่งผลกระทบให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 100 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขจะใกล้เคียงกับผลผลิตในฤดูการผลิตปีนี้