ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน 7 แสนตันปี’65 กวาดรายได้เข้าประเทศ 1 แสนล้านแน่

ทุเรียน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มั่นใจดันยอดส่งออกทุเรียนไทยสู่จีน 7 แสนตัน ปี 2566 กวาดรายได้เข้าประเทศ 1 แสนล้านแน่

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าคาดว่าในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 จะสามารถส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีนได้ปริมาณไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน มูลค่ากว่าแสนล้านบาท

“กรมลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และขอบคุณเกษตรกรผู้ประกอบการล้ง เอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทยที่ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรอย่างใกล้ชิด เข้มข้น รักษาคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกไปยังประเทศจีน”

ทั้งนี้ ตามประกาศจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ประกาศวันตัดทุเรียนหมอนทอง ประจำปี 2566 วันที่ 15 เมษายน 2566 หากจะตัดทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่กำหนด

Advertisment

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งแป้งทุเรียนตามมาตรการตรวจก่อนตัดจากสวน สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องแจ้งด่านตรวจพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ. 6) เข้าตรวจก่อนการตรวจปิดตู้ของด่าน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร โรงคัดบรรจุ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด

กรมวิชาการเกษตร โดย สวพ. 6 มีมาตรการร่วมกับ จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก เร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่สำคัญ มือตัดทุเรียน ต้องย้ำให้เข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเกษตรจังหวัดที่รับผิดชอบ ในการขึ้นทะเบียน นักคัด นักตัดทุเรียน

ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัด และภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนของกรมวิชาการเกษตร จัดอบรมนักตัดทุเรียนมืออาชีพโดยเปิดอบรมฟรี ซึ่งการอบรมดังกล่าวประสบความสำเร็จ ลดปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนได้ กรมวิชาการเกษตร จึงขอขอบคุณ มือตัดทุเรียนที่เข้ารับการฝึกอบรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการจัดอบรมนักคัดนักตัดทุเรียนมืออาชีพ

พร้อมกันนี้ได้ตรวจติดตามการแยกสีล้ง สีเขียว เหลือง แดง และวางแผนการเข้าตรวจตามประเภทที่ได้จัดเกรดไว้ ล้งที่ได้เป็นสีเขียว หมายถึง ล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กรมกำหนด และให้ความร่วมมือดีกับหน่วยงานและมีความเข้าใจกับแนวปฏิบัติ อาจจะลดการเข้าไปตรวจสอบ ส่วนสีเหลือง และแดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง และจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจ

Advertisment

ดังนั้น ขอเชิญชวนให้ทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนดเพื่อเป็นสีเขียว อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกล้งช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อ ไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกา เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออก

“ฤดูกาลส่งออกทุเรียน 2566 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานทุเรียนเพื่อการส่งออก พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chain ตามนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. เกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างจุดเด่นให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันได้ รักษาตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาดจีน ให้สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตในสวนเกษตรกร

แหล่งที่มาของทุเรียนจากสวน การคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช และกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ ไปจนถึงด่านนำเข้าที่ประเทศจีนให้สามารถทวนสอบและติดตามข้อมูลในทุกขั้นตอนได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนไทย”