หมูเถื่อน พ่นพิษใส่กรมศุลฯ กล่าวหาสามนายด่านปล่อยปละละเลย

หมูเถื่อน

ผู้เลี้ยงหมูทั่วไทยสุดทนรวมพล 2,000 คน หน้าทำเนียบรัฐบาล ร้องนายกฯ จัดการปราบ “หมูเถื่อน” จริงจัง จี้ย้ายนายด่านศุลกากร พร้อมตรวจสอบกรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ปล่อยให้เนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมายออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงให้เร่งทำลายหมูเถื่อน 161 ตู้ ขีดเส้นเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิด ภายใน 1 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย เกือบ 2,000 คน รวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ขอให้เร่งปราบขบวนการทุจริตนำเข้าหมูเถื่อน และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบปล่อยผ่านหมูเถื่อน รวมถึงการแก้โครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงเกินจริง ซึ่งทำลายความอยู่รอดของเกษตรกรภาคปศุสัตว์

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยว่า มีความเป็นไปได้ในการร่วมกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ ที่เป็นเบาะแสจากเจ้าหน้าที่ภายในกรมศุลกากรว่า มีการใช้ช่องทางผ่อนคลายของหลักเกณฑ์ในระดับประกาศกรม ที่ออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย ประกาศกรมศุลกากร ที่ 174/2560 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการ หรืออยู่ในอำนาจกำกับตรวจตราของศุลกากร” ที่มีการให้อำนาจพนักงานศุลกากรตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการในลักษณะไม่ต้องตรวจสอบประเภทพิกัด อัตราศุลกากร ราคา และชนิดของ ในลักษณะของการผ่านแบบ green line

จากข่าวการตรวจพบ จับกุมสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมาย โยงใยการหลุดการตรวจปล่อยจากสำนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรมุกดาหาร และสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เป็นจำนวนมาก สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารงานระดับผู้บริหารด่าน หรือนายด่านศุลกากร ท่าเรือ และด่านดังกล่าว ที่ส่อว่ามีการทุจริต

สมาคมจึงมีข้อเรียกร้องเพื่อการแก้ไข และยุติปัญหาการทุจริตที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมหาศาล ดังนี้ 1.ย้ายนายด่านศุลกากร ที่สร้างความเสื่อมเสียแก่กรมศุลกากรทันที ประกอบด้วย นายด่านสำนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรมุกดาหาร นายด่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหา จากการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ที่ปรากฏให้เห็นจากจำนวนสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมายออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

2.สินค้าเนื้อสุกรที่ตกค้างทั้ง 161 ตู้ ที่สำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง ขอให้เร่งส่งมอบ เพื่อให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยก่อนส่งขอให้ตรวจสอบการนำเข้าของบริษัทผู้นำเข้าทั้ง 161 ตู้ ย้อนหลัง 3 ปี โดยตรวจสอบและแจ้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

ดังนี้ 1) จำนวนการนำเข้าสินค้าทั้งหมดโดยปริมาณ ประเภทสินค้าที่สำแดง 2) สินค้าดังกล่าวที่นำเข้าสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า ตรงกับสินค้าที่แจ้งไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือหรือไม่ 3) สำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง มีการตรวจสอบพบว่ามีบริษัทนำเข้าใดบ้าง ? ต้องสงสัยว่ามีการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายหรือไม่ ? อย่างไร ?

นายสุรชัยกล่าวว่า สมาคมและผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ขอเรียกร้องให้เร่งปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งผู้เลี้ยงสงสัยว่ามีการทุจริต สมคบคิดนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย รวมถึงเร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์

ได้แก่ 1) แก้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ และราคากากถั่วเหลืองเม็ดนำเข้าที่มีราคาสูงเกินจริง 2) ยกเลิกอากรขาเข้ากากถั่วเหลือง จาก 2% เหลือ 0% เพื่อความเสมอภาค 3) ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างเร่งด่วน

“ตั้งแต่เป็นนายกสมาคมหมูมา ก็มีครั้งนี้แหละที่ชาวหมูสาหัสมาก หลังจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรของประเทศลดลง ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยในปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดในโลก จึงเกิดขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่มีราคาเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้วเพียงกิโลกรัมละ 50 บาท มาจำหน่าย ทั้งปี 2565 เราเรียกร้องมาหลายครั้ง จนสืบทราบว่าขบวนการนี้ซับซ้อนมาก กรมปศุสัตว์ก็ทำอะไรไม่ได้มาก จึงต้องพากันมาเรียกร้อง”

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สมาคมได้ยื่นคำขาดขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำลายหมูเถื่อนที่อยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 161 ตู้ จำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม ภายใน 1 เดือน โดยทางสมาคมต้องรับรู้กระบวนการดำเนินงานด้วย

พร้อมทั้งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งหมดภายใน 1 เดือน และจะมีการดำเนินคดีฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิด ส่วนกรณีเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงคงต้องเข้าไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอีกครั้ง