ผู้เลี้ยงหมูกว่า 2,000 คน บุกหน้าทำเนียบรัฐบาลร้องนายกฯจัดการปราบหมูเถื่อน

ปราบหมูเถื่อน

ผู้เลี้ยงหมูทั่วทุกภาครวมพลกว่า 2,000 คนหน้าทำเนียบรัฐบาล ร้องนายกฯ จัดการปราบ “หมูเถื่อน” อย่างจริงจัง พร้อมจี้ปราบขบวนการทุจริตหมูเถื่อน แก้โครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเกินจริง

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยรวมตัวหน้าทำเนียบ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ปราบขบวนการทุจริตหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และแก้ปัญหาโครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงเกินจริง โดยทั้ง 2 ปัญหากำลังทำลายอุตสาหกรรมสุกรไทยมูลค่ากว่าแสนล้านบาทอย่างหนัก

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรส่วนหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้นำเข้าที่เป็นเจ้าของสินค้าสุกรลักลอบที่มีตู้เย็นคอนเทนเนอร์ตกค้างถึง 161 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับท่าอื่น ๆ พร้อมสืบค้นข้อมูลย้อนหลังของผู้นำเข้าที่มีประวัดิการกระทำความผิด

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำกองทัพชาวหมูกว่า 1,000 คน จากทั่วประเทศจี้ตรงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ผู้เลี้ยงสุกรได้พบเห็นสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศกระจายตัวอยู่ในท้องตลาด มีการประกาศขายผ่านสื่อออนไลน์อย่างเปิดเผย ตลอดทั้งปี 2565 จนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ทราบกันดีในระดับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีการอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องมากว่า 1 ปี ต่ออุตสาหกรรมสุกรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร้องต่อกรมปศุสัตว์หลายครั้งในรอบปี 2565 ในฐานะที่กำกับดูแลการเลี้ยงสุกรของประเทศ

จับตาเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวหรือไม่

ในประเด็นจี้ภาครัฐเร่งปราบปรามหมูนำเข้าผิดกฎหมาย แต่ประเด็นการร่วมกระทำความผิดมีความซับซ้อน และมีความเป็นไปได้สูงว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมในกระบวนการและกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ

จากเบาะแสที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ภายในกรมศุลกากรว่า มีการใช้ช่องทางผ่อนคลายของหลักเกณฑ์ในระดับประกาศกรมที่ออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย ประกาศกรมศุลกากร ที่ 174/2560 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการ หรืออยู่ในอำนาจกำกับตรวจตราของศุลกากร” ที่มีการให้อำนาจพนักงานศุลกากรตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการในลักษณะไม่ต้องตรวจสอบประเภทพิกัด อัตราศุลกากร ราคา และชนิดของ ในลักษณะของการผ่านแบบ Green Line

อีกประเด็นที่เป็นปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสุกรอย่างมาก คือ ต้นทุนอาหารสุกร ที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเกินควร ได้แก่

1.กลุ่มพืชพลังงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเกษตรกรขายได้ มีส่วนต่างราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์ถึง 3.5-4.0 บาทต่อกิโลกรัม

2.กลุ่มพืชโปรตีนกากถั่วเหลืองเม็ดนำเข้า มีส่วนต่างราคากากถั่วเหลืองนำเข้าถึง 7.0-7.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้ง ๆ ทั้งที่ปกติจะอยู่ในระดับเดียวกับราคากากถั่วเหลืองนำเข้า เนื่องจากเป็นสินค้าผลพลอยได้การจากสกัดน้ำมัน เพราะการนำเข้าเม็ดถั่วเหลืองรัฐบาลไม่มีการจัดเก็บอากรขาเข้า (อากรขาเข้า 0%) ในขณะที่การนำเข้ากากถั่วเหลืองของภาคปศุสัตว์ต้องเสียอากรขาเข้า 2%

ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมหารือกับกรมการค้าภายใน และกลุ่มห้างค้าส่ง ค้าปลีก เพื่อแก้ปัญหาราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มตกต่ำ มีการขอให้ห้างค้าปลีกช่วยคงราคาจำหน่ายปลีก เพื่อลดภาระการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ขาดทุนเฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อตัว แต่ไม่เห็นมีการดำเนินการใด ๆ ตามที่หารือในที่ประชุม

ในขณะที่การขอให้แก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตวที่สูงเกินควรนั้น ได้รับคำตอบว่าเป็นแค่เรื่องเก่า แต่ไม่ได้ร้บการแก้ไข ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่า หน่วยงานภาครัฐมีความจริงจังกับการแก้ปัญหาหรือการปรับลดส่วนต่างของราคาพืชอาหารสัตว์ทั้งสองกลุ่มแต่ประการใด

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจึงรวมตัวยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ดังนี้

1.เร่งปราบปรามกระบวนการหมูเถื่อน นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเร่งด่วน โดยในช่วงที่มีข้อสงสัยว่ามีการนำเข้าสินค้าสุกรโดยการสำแดงเท็จ ขอให้กรมปศุสัตว์ทบทวนชะลอการนำเข้าเครื่องในสุกรจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการสวมพิกัดศุลกากร

2.เร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง 3 ประการ ประกอบด้วย

  • แก้ไขราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ และราคากากถั่วเหลืองเม็ดนำเข้า ที่มีราคาสูงเกินจริง
  • ยกเลิกอากรขาเข้ากากถั่วเหลือง จาก 2% เป็น 0% เพื่อความเสมอภาค
  • ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักรฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ชี้ขบวนการลักลอบซับซ้อน

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เป็นนายกสมาคมหมูมา ก็มีครั้งนี้แหละที่ชาวหมูสาหัสมาก หลังจากจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรของประเทศลดลง

ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยในปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดในโลก จึงเกิดขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่มีราคาเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้วเพียงกิโลกรัมละ 50 บาท มาจำหน่าย โดยในปี 2565 เราเรียกร้องมาหลายครั้ง จนสืบทราบว่าขบวนการนี้ซับซ้อนมาก กรมปศุสัตว์ก็ทำอะไรไม่ได้มาก จึงต้องพากันมาเรียกร้องในวันนี้

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ได้ให้ข้อมูลการแก้ปัญหาหมูลักลอบว่า “หลังจากเริ่มประสานงานกับกรมศุลกากร ซึ่งเป็นด่านแรกของการปล่อยผ่านสินค้าเหล่านี้เข้าประเทศกลับมืดมนมากขึ้น เพราะได้รับการรายงานแต่ระบบที่ดี ระบบที่รัดกุม แต่มีหมูลักลอบทั่วราชอาณาจักร เราจึงต้องนำสู่กระบวนการตรวจสอบความผิดต่อหน้าที่ราชการของหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ต้องใช้ทั้งระบบราชการมาร่วมตรวจสอบ จึงต้องมาร่วมยื่นหนังสือผ่านท่านนายกรัฐมนตรี”

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะปัจจุบันราคาตลาดโลกลงมาระดับเดียวกัน

อีกทั้งจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจับตาความเคลื่อนไหวของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นความผิดปกติของส่วนต่างราคาพืชอาหารสัตว์ทั้งกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มโปรตีนได้แก่กากถั่วเหลือง ที่ราคาในประเทศขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาตลาดโลกย่อตัวลงมานานแล้ว

“ถ้าเรายังไม่แก้ปัญหาต้นทุนภาคปศุสัตว์ ความยั่งยืนของวงการปศุสัตว์ไทย ไม่ยั่งยืนแน่นอน ฟาร์มขนาดใหญ่เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มภาคบังคับไปแล้ว ฟาร์มขนาดกลางจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ดังนั้นปัญหาสองเรื่องนี้ถือว่าเร่งด่วนที่สุด” นายสัตวแพทย์วรวุฒิกล่าว

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตั้งแต่เลี้ยงหมูมาก็เพิ่งประสบกับต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่สูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่างราคาข้าวโพดที่เกษตรกรขายได้ กับ ราคาหน้าไซโลอาหารสัตว์ไม่ควรบวกเกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม เห็นความผิดปกติราคาข้าวโพดเม็ดที่ 13-14 บาทต่อกิโลกรัม มองไม่เห็นอนาคตรายย่อยเลย

“ต้องขอบคุณกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจากร้อยเอ็ดที่ต่อสู้เรื่องหมูลักลอบมาตลอด หลังจากการเคลื่อนไหวครั้งที่ 2 ของกลุ่มนี้ ทำให้เราสะกดลอยหมูเถื่อนมาถึงแหลมฉบัง ก็ต้องมาพิสูจน์กันว่า การรวมตัวครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะสั่งการอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาบ้าง บอกตรง ๆ ว่าคนเลี้ยงหมูไทยใกล้จะหมดที่พึ่งแล้ว”

ภาคใต้ผลผลิตเกินดีมานด์ แต่ก็ประสบปัญหา “หมูกล่อง”

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยมีโอกาสเข้าพบหารือกับนายด่านศุลกากรสงขลา และเข้าศึกษาดูกระบวนการตรวจสอบสินค้าของด่านศุลกากรสงขลา ณ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ระบบการผ่านพิธีการและการตรวจปล่อยในปัจจุบันของกรมศุลกากรไม่มีข้อสงสัยในการหลุดรอด

แต่ปัญหาอยู่ที่การไม่ซื่อสัตย์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบกับ “หมูกล่อง” หรือหมูลักลอบไม่น้อยไปกว่าภาคอื่น ๆ ถึงแม้ภาคใต้จะมีผลผลิตเกินกว่าความต้องการบริโภค

แต่ด้วยราคาหมูลักลอบมีต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำมาก จึงสามารถเข้าแทรกตลาดภายในประเทศได้ทุกที่ คนเลี้ยงหมูขาดทุนมากว่า 3 เดือน

“การปรับตัวอย่างมากรายย่อยเพียงแค่หยุดเลี้ยง เงินลงทุนไม่มาก พร้อมที่จะกลับมาใหม่ได้เสมอ แต่ตอนนี้รายกลางจะลำบากที่สุด ปัญหากระแสเงินสดจะยิ่งหนักขึ้นถ้าสถานการณ์ของสองปัญหานี้ยังไม่มีทางออก” นายปรีชากล่าว

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่เสียหายจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรมากที่สุด โดยภาคเหนือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายต้น ๆ ของการมาทำตลาดของหมูเถื่อนในระดับภูมิภาค เนื่องจากภาคเหนือมีฟาร์มรายย่อยจำนวนมากที่ยังไม่ฟื้นตัวและกลับมาเลี้ยงใหม่ได้

หมูเคลื่อนย้ายจากภูมิภาคอื่นกับการเข้ามาของหมูกล่องในพื้นที่ แทบแยกไม่ออก หลังจากเราพบความผิดปกติของการสำแดงเท็จต่าง ๆ ถึงแม้ภาคเหนือจะนำเข้ากลุ่มเครื่องในสุกรที่ถูกกฎหมายมากในกลุ่มหนังหมูที่มาทำแคบหมู แต่ในช่วงนี้คงต้องขอให้กรมปศุสัตว์ทบทวนการนำเข้าเครื่องในด้วย จากปัญหาการสวมพิกัดศุลกากรของสินค้าเนื้อสุกรลักลอบ