ส.อ.ท. เชื่อ 310 เสียงตั้งรัฐบาลได้ ขอเร่งเบิกจ่ายงบเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุด

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อตั้งรัฐบาลจาก 310 ได้ไม่ยาก ขอเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุด ขณะที่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ค่าไฟ-ราคาน้ำมัน ส่งผลดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน วอนรัฐจัดสรรงบฯเป็นส่วนลดค่าไฟ

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนขอให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง เร่งจัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์ที่กำหนด คือช่วงเดือน ส.ค. 2566 เพราะหากล่าช้าเกิดสุญญากาศทางการเมืองลากยาวไป 4-6 เดือน หรือจัดตั้งได้ช่วง ก.ย.-ต.ค. จะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปี 2566 และปี 2567 แน่นอน

ขณะเดียวกัน เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว รัฐควรเร่งทำงบประมาณปี 2568 ทันที เพื่อที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศ ส่วนการตั้งรัฐบาล 310 เสียงเพียงพอแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากเอกชนตามที่ได้เคยรวบรวมไว้ให้กับพรรคการเมืองนั้น มีหลายประเด็นที่ตรงกัน เช่น การลดกฎระเบียบ แก้กฎหมาย การแก้ปัญหาราคาพลังงาน การเจรจา FTA เป็นต้น และเอกชนเองมองว่านโยบายจากรัฐบาลเก่าที่ดีควรสานต่อ อย่าง BCG

ส่วนข้อเสนอต่อภาครัฐในปัจจุบัน เอกชนยังคงต้องการ 2 เรื่องใหญ่คือ 1.ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และอเมริกาใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า

2.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า อาทิ จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 2566 ว่า ดัชนีได้ปรับมาอยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงครั้งแรกใน 4 เดือน

ปัจจัยลบยังคงมาจากการชะลอตัวของภาคการผลิต เนื่องจากวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราค่าระวางเรือที่ทยอยปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 นอกจากนี้ การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวลดลง จาก 106.3 ในเดือน มี.ค. เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า