ปศุสัตว์กัดไม่ปล่อย “หมูเถื่อน” โยกย้ายขรก.ภูมิภาค-เข้มตรวจตู้ 100%

หมูเถื่อน

ปลัดเกษตรฯ สั่งปศุสัตว์ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดสกัดหมู-โคเถื่อน ตรวจตู้นำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ 100% พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานช่วยตรวจลักลอบ อธิบดีปศุสัตว์ยังไม่วางใจหมูเถื่อนตกค้างในประเทศ เดินหน้าเฝ้าระวังทุกทาง ด้านซีพีเอฟ หวังเกษตรกรฟื้นตัวได้ ราคาหมูดีขึ้นไตรมาส 2

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกรมปศุสัตว์ไปแล้ว หากมีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ที่ผิดกฎหมายให้กรมปศุสัตว์ไปดำเนินการในขั้นเด็ดขาด และได้มีการสับเปลี่ยนผู้บริหารระดับภูมิภาคเพิ่มความเข้มงวดเรื่องนี้ เพราะการที่มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาหาผลประโยชน์ตรงนี้ถือเป็นการทำลายเกษตรกร

ฉะนั้น กระทรวงมีหน้าที่ปกป้องรักษาเกษตรกร ซึ่งถ้าหากบุคลากรกรมปศุสัตว์ไม่พอจะออกคำสั่งให้เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ ประมงจังหวัดไปช่วยตรวจสอบการลักลอบนำเข้า ทั้งเนื้อสุกรเนื้อวัวที่ลักลอบนำเข้าตามด่านต่าง ๆ ด้วย

“ขณะนี้ได้รับมอบหมายจาก รมต.เกษตรฯให้รักษาและปกป้องเกษตรกรให้ได้ ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้บริโภคเนื้อสัตว์ขอให้ระวังในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ต้องตรวจสอบมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์ OK เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัย”

ประยูร อินสกุล
ประยูร อินสกุล

นสพ.สมชวน รัตนมังคลานน์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ติดตามแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนทุกจุด โดยกรมในฐานะที่ดูแล พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 เน้นป้องกันที่จะไม่ให้ลักลอบ เพราะเกรงว่าหากเนื้อสัตว์มีเชื้อโรคระบาดสัตว์จะแพร่กระจาย เมื่อติดแล้วจะมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ หากนำมาจำหน่ายจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

และที่สำคัญการนำเข้าหมูเถื่อนมา ทำให้เป็นการแทรกแซงตลาด ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร ซึ่งกระทรวงฯจะต้องส่งเสริมและผลักดันให้ผู้เลี้ยงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไม่ขาดทุน และสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้แม้ว่าจะมีโรคระบาด เป็นภารกิจที่กรมต้องดำเนินการต่อเนื่องและไม่เพียงแค่เนื้อหมู แต่ยังรวมถึงเนื้อสัตว์ชนิดอื่นด้วย

“ล่าสุดได้เข้าจับกุมเนื้อหมูและเครื่องในหมู 10 ตัน จ.สมุทรสาคร การจับกุมครั้งนี้ สืบทราบว่ายังมีการหลงเหลือของหมูเถื่อนอยู่ในห้องเย็นบางแห่ง จากการที่เรามีปศุสัตว์ไซเบอร์ด้วย และนักสืบโซเชียลและร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง หรือตำรวจปราบปรามและคุ้มครองผู้บริโภค ได้เบาะแสว่ายังหลงเหลืออยู่ตรงนี้ จึงได้เข้าไปตรวจสอบ

ทั้งหมดนี้จะสืบสวนย้อนกลับว่าสิ่งที่พบเป็นสิ่งที่หลุดรอดเข้ามาใหม่ หรือเป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ไม่สามารถจับได้หมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าหมูเถื่อนที่หลงเหลือซุกซ่อนอยู่ลดน้อยลงไปมากแล้ว แต่กรมจะกัดไม่ปล่อย เฝ้าระวังตลอด ใช้กฎหมายในการเข้าตรวจสอบ”

นสพ.สมชวนกล่าวว่า การป้องกันการลักลอบนำเข้ามาใหม่เพิ่มเติม ขณะนี้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการเข้มงวด โดยตรวจสอบสินค้าที่สำแดงพิกัดปศุสัตว์ทุกตู้ 100% แต่ถ้ายื่นสำแดงเป็นสัตว์น้ำแช่แข็งก็เป็นหน้าที่หน่วยงานกรมประมง ซึ่งได้มีการตรวจสอบเข้มงวดเช่นกัน

“เรื่องใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศ หากเราตรวจสอบแล้วเป็นสินค้าในประเทศเคลื่อนย้ายเราก็มีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้วก็ถือว่าไม่ผิด แต่หากเป็นสินค้านำเข้าลักลอบนำเข้า ผิดจะดำเนินการ 2 อย่างคือ ดำเนินคดีลักลอบนำเข้าตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ และดำเนินคดีเรื่องเอกสารปลอม”

ส่วน การทำลายของกลาง 161 ตู้ เท่าที่ทราบทางกรมศุลกากรดำเนินคดีและมีการดำเนินการกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยขั้นตอนก็เป็นไปตามกฎหมาย

ต่อกรณีสถานการณ์ราคาหมูหน้าฟาร์มปรับลดลงต่ำกว่า 80 บาท/กก.นั้น กรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานอยู่กับเกษตรกร ก็ต้องการให้ราคาปรับตัวดีขึ้นอยู่แล้ว แต่กลไกตลาดราคาหมูนั้นไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งยังมีคนกลางพ่อค้าต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้การทำงานก็ต้องร่วมมือกันมั่นใจว่าจะช่วยกันปกป้องไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบได้

สมชวน รัตนมังคลานนท์
สมชวน รัตนมังคลานนท์

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรฯ กรมปศุสัตว์ได้มีความเข้มงวดอย่างยิ่ง ทำให้ปัญหาการลักลอบลดลงไปมาก คิดว่านับจากนี้ไปความเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถกลับมาฟื้นฟูการเลี้ยงและสร้างรายได้

หลังจากผ่านช่วงที่ยากลำบากที่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งทางเราได้เข้าไปช่วยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรฟื้นฟูการเลี้ยง และจากการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงมากยิ่งขึ้น

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

“คาดว่าไตรมาส 2 อาจจะดีกว่าไตรมาสแรกนิดหน่อย ราคาหมูซึ่งเป็นปัจจัยหลักของ CPF ที่ท่านอธิบดีพูดถึงความเข้มข้นของหมูเถื่อน ซึ่งผลกระทบต่อรายใหญ่ก็เรื่องหนึ่ง แต่รายย่อยสำคัญกว่า เพราะ CPF มีหลายธุรกิจ ทั้งหมู ไก่ กุ้ง ที่ถ้าหมูกระทบหนักอาจให้ไก่มาช่วยแทนได้ แต่เกษตรกรที่ทำหมูอย่างเดียว ไม่มีเกษตรกรคนไหนที่ทำหมู แล้วทำกุ้งกับไก่ จึงทำให้เวลากระทบก็อาการหนัก ท่านอธิบดีมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้มากจับได้เป็นล้าน ๆ ตัน เพราะเป็นคนที่เข้าใจและลงหน้างานจริง รวมถึงเข้าใจถึงความอยู่ได้ของทุก ๆ คน”