อาเซียนประชุมรับมือวิกฤตอาหาร ดีใจข้าว-น้ำตาล เพียงพอบริโภค-ส่งออก

ส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 43 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน

วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Board Member) และในฐานะเลขานุการถาวรของคณะกรรมการ (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุม AFSRB ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 ณ เมืองโบกอร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองของอาหารสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง เพื่อประเมินสถานการณ์อาหารในภูมิภาคอาเซียน

ภาพรวมในปี 2566 อาเซียนมีผลผลิตข้าวและน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก เนื่องจากคาดการณ์ผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ เช่นเดียวกับน้ำตาลที่คาดการณ์ผลผลิตในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย ไทย และ สปป.ลาว มีเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันอาเซียนมีผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2566 อาเซียนจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.89 ส่วนการนำเข้าข้าวโพดลดลงร้อยละประมาณร้อยละ 8.68 จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ในปีนี้ที่ประชุม AFSRB ได้ร่วมกันพิจารณาร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในภาวะวิกฤต (ASEAN Leaders’ Declaration on Strengthening Food Security and Nutrition in Response to Crises) ซึ่งจะเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำอาเซียนในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต

Advertisment

รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนดังกล่าวจะถูกเสนอขอความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : SOM-AMAF) และรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : AMAF) ก่อนที่จะมีการให้ความเห็นชอบโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ต่อไป

Advertisment

การประชุม AFSRB เป็นกลไกความร่วมมือสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (Agreement on the ASEAN Food Security Reserve) ที่ได้มีการลงนามเมื่อปี 2522 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอาหารภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกจะประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล

รวมทั้งประเมินและคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงความมั่นคงด้านอาหาร โดยในปี 2567 สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFSRB ครั้งที่ 44 ต่อไป

โดยในปีนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนยกเว้น สปป.ลาว เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve : APTERR) สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System : AFSIS) และผู้แทนจากสถาบันวิจัย The Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) เข้าร่วมประชุมด้วย