พาณิชย์นำทัพเอกชนลุยฮ่องกง-ปักกิ่ง ขยายตลาดส่งออกข้าว-มันสำปะหลัง

พาณิชย์นำทัพขยายตลาดข้าว มันสำปะหลัง

กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าลุยตลาดฮ่องกงและปักกิ่ง เร่งสร้างความเชื่อมั่นและขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยและมันสำปะหลัง พร้อมหารือหน่วยงานสำคัญของจีนสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566 และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11-15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยได้พบปะหารือกับกรมการค้าและอุตสาหกรรมของฮ่องกง (Trade and Industry Department : TID) ในประเด็น ๆ อาทิ การควบคุมคลังสินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า กฎระเบียบทางการค้า ใบอนุญาตส่งออก เป็นต้น ตลอดจนการทำและการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

แม็กกี้ หว่อง (Ms.Maggie Wong) อธิบดีกรมการค้าและอุตสาหกรรมของฮ่องกง ได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ช่วยสนับสนุนฮ่องกงในกระบวนการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและขยายมูลค่าการค้าระหว่างฮ่องกงและประเทศสมาชิก เนื่องจากฮ่องกงเป็นเมืองปลอดภาษี และเปรียบเสมือนเป็นประตูในการกระจายสินค้าเข้าสู่ทั่วประเทศจีน

ยกทัพ เอกชนเปิดตลาดข้าว

รายงานระบุต่อไปว่า พร้อมกันนี้ กรมนำคณะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์) และนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ (นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์) และผู้ส่งออกข้าวไทยรวม 16 ราย เข้าพบหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงและบริษัทผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงรายสำคัญ ซึ่งบรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยความเชื่อมั่นและสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนาน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าวระหว่างกัน

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง ประมาณ 170,000-188,000 ตัน โดยประมาณร้อยละ 70-80 เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยฮ่องกงอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของตลาดข้าวหอมมะลิไทยมาโดยตลอด และข้าวไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดข้าวฮ่องกงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของตลาดข้าวฮ่องกง

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกแล้วปริมาณ 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.64 และมีมูลค่าการส่งออก 64,322 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.61 และ 30.58 ตามลำดับ

ลุยพบผู้นำเข้าข้าว ปักกิ่ง

นายรณรงค์ยังกล่าวว่า ในส่วนการนำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรมได้เข้าพบหารือกับองค์การบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (State Administration for Market Regulation: SAMR)

“กรมได้ขอบคุณ SAMR ที่สั่งปิดโรงงานและดำเนินคดีอย่างรวดเร็วกับโรงงานที่นำข้าวที่ปลูกในจีนแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทยและวางจำหน่ายในจีน ซึ่งกรมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ/มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และวิธีการสังเกตหรือเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งจากประเทศไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า กรณีตรวจพบการปลอม/แอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทย และการปลอมแปลงตราสินค้าและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้ดำเนินการร่วมกันอย่างทันที”

นอกจากนี้ กรมยังได้พบหารือกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการสินค้าข้าวในจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้รับทราบถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยด้วย

รวมถึงนำผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยมีนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ และนายกิจจา เวศย์ไกรศรี รองเลขาธิการของสมาคมฯ พบหารือกับหน่วยงาน COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนและเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและการนำเข้าธัญพืชของจีน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 600,000-700,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดจะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าข้าวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของคู่ค้าที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม และมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้อีกด้วย

ดันส่งออกมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในครั้งนี้ กรมฯ ยังได้เข้าพบหารือกับผู้นำเข้ามันสำปะหลังในจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการสินค้ามันสำปะหลัง ตลอดจนการแปรรูปไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อเป็นการรักษาและขยายตลาดสินค้ามันสำปะหลังในตลาดส่งออกจีนซึ่งจากการหารือฝ่ายไทยได้สร้างความเชื่อมั่นว่าผู้นำเข้าจีนจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อความต้องการ

เนื่องจากไทยได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลังไทยอยู่ในระดับที่สูง อีกทั้งไทยได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการเพาะปลูกซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับราคามันสำปะหลังของไทยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

โอกาสนี้ กรมยังเดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือเทียนจิน (Tianjin Port) ซึ่งเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่เชื่อมโยงไปยังเส้นทางขนส่งที่หลากหลายรวมทั้งมีเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยโดยตรง ลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล สามารถตอบสนองการเชื่อมโยงตลาดภาคเหนือของจีนที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยได้เป็นอย่างดี นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะพิจารณาเลือกใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดภาคเหนือของจีนต่อไป

ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทย โดยไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไปจีนประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ได้แก่ มันเส้น/มันอัดเม็ด ร้อยละ 69 แป้งมันสำปะหลัง ร้อยละ 30 และ สาคู/กากมัน ร้อยละ 1

แก้อุปสรรคการค้าไทย-จีน

นายรณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมยังได้ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ในการส่งออกสินค้าไปจีน โดยได้เข้าพบหารือกับสำนักงานศุลกากรจีน (General Administration of Customs China: GACC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการพิธีการศุลกากร และตรวจสอบย้อนหลังหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด Form E ภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

โดยกรมและ GACC มีแผนเดินหน้าประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด Form E ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไทยในการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

จากปัจจุบันที่ต้องยื่นเอกสารหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด Form E ต่อศุลกากรจีนในรูปแบบกระดาษ เป็นสามารถยื่นผ่านระบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีชื่อเรียกว่า Electronic Origin Data Exchange System: EODES ได้ในอนาคต ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนสามารถตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของหนังสือรับรองฯ ได้อย่างรวดเร็วทันเวลา (realtime) และจะช่วยป้องกันปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงเข้าพบหารือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) โดยกรมฯ และ CCPIT จะมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า กฎถิ่นกำเนิด รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนจีนที่สนใจในการลงทุนในไทย

เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎระเบียบข้อกำหนด ตลอดจนสามารถผลิตสินค้าได้ถิ่นกำเนิดไทยและสอดคล้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศปลายทาง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ไทยถูกดำเนินมาตรการทางการค้าจากต่างประเทศ

นายรณรงค์กล่าวปิดท้ายว่า การจัดคณะผู้แทนเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งช่วยเรียกความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยกลับคืนมาได้ และยังช่วยรักษาและขยายตลาดข้าวและสินค้ามันสำปะหลังของไทยในจีน และการสร้างความร่วมมือในการป้องกันการปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การแอบอ้างถิ่นกำเนิด และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าด้วย