โควิดคลาย ขนส่งคึกคัก ยอด 5 เดือนแรกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงพุ่ง 157.75 ล้านลิตร

ราคาน้ำมัน เบนซิน แก๊สโซฮอล์ น้ำมัน รถยนต์

กรมธุรกิจพลังงานเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ย 157.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มจากปีก่อน 3% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่ง อาทิ Jet A1

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 157.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.0

โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.9 และการใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ขณะที่น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตาและ LPG มีการใช้ลดลงร้อยละ 3.0 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ

นันธิกา ทังสุพานิช
นันธิกา ทังสุพานิช

สถานการณ์การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.6 การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.98 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.90 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.89 ล้านลิตร/วัน 0.22 ล้านลิตร/วัน และ 0.48 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับแก๊สโซฮอล์ อี20 มีราคาที่ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ อี85

สถานการณ์การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 73.53 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.97 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.00 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 6.40 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกมีความผันผวนจากความกังวลทางเศรษฐกิจและวิกฤตด้านการเงินจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์การใช้น้ำมัน Jet A1 LPG และ NGV

ทางด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.64 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84.9 เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

ส่วนการใช้ LPG เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.36 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 โดยภาคปิโตรเคมีมีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 7.34 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 5.73 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ที่ 2.03 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่ 2.26 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0

การใช้ NGV เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.49 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน ช่วยเหลือประชาชน โดยการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึง 15 มิถุนายน 2566

สถานการณ์นำเข้า-ส่งออก

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,079,851 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 97,292 ล้านบาท/เดือน

โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,003,021 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 91,395 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 76,830 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,897 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 153,157 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 10.1 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,084 ล้านบาท/เดือน