ผู้ค้าแห่นำเข้า “พาราควอต” “กลัวถูกแบน” ผงะยอดพุ่ง 44,501 ตัน

แห่นำเข้ายาฆ่าหญ้า “พาราควอต”ปี 2560 พุ่งพรวด 44,501 ตัน หลััง คกก. ขับเคลื่อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชุด นพ.ปิยะสกล มีมติสั่ง “แบน” พาราควอต วงการธุรกิจเคมีเกษตรชี้เร่งสต๊อกกักตุน ราคาขยับขึ้นช่วงสุดท้าย พิลึกโยนคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาอีก แบน หรือ ไม่แบน ทั้ง ๆ ที่ชุดใหญ่ “เคาะ” แล้วให้แบน

คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย 5 กระทรวงเมื่อเดือนเมษายน 2560 มีมติ “ยกเลิก” การใช้สารเคมี2 ชนิด คือ พาราควอต สารเคมีฆ่าหญ้า กับคลอร์ไพริฟอส สารเคมีฆ่าแมลง ด้วยการไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ประเภทในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2562 พร้อมกับเตรียมควบคุมการใช้สารเคมี “ไกลโฟเสต” ด้วยนั้น

ด้านคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธาน ได้ตกลงให้ใช้กรอบ3 เดือนพิจารณาข้อมูลจากทั้ง 3 กระทรวง (เกษตรฯ-สาธารณสุข-อุตสาหกรรม) เนื่องจากการ “แบน” สารดังกล่าวต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะยกเลิกการใช้ให้ชัดเจน มาตรการเยียวยา สารที่จะนำมาทดแทน หรือหากอนุญาตให้ใช้ต่อจะมีมาตรการรับมือผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ท่ามกลางฝ่ายสนับสนุนให้ใช้ต่อและฝ่ายคัดค้านซึ่งมีทั้งรัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ล่าสุดในการสัมมนา “พาราควอตฆ่าหญ้า VS คร่าสุขภาพ คนไทย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย หากมีข้อมูลที่พิสูจน์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพาราควอตเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมยังปล่อยให้ประชาชนมีความเสี่ยงบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อไป

โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ชุด นพ.ปิยะสกล ได้ยืนยันมติที่เสนอให้ “ยกเลิก” การใช้และห้ามการนำเข้าสารพาราควอต เนื่องจากเป็นสารกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในบัญชีอันตราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณายกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าและการใช้พาราควอตในประเทศ พร้อมกับการเร่งหาวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี “ตอนนี้เราทำหนังสือค้านไปที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต่ออายุใบอนุญาตอีก”

ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุข ม.มหิดล กล่าวว่า สารชนิดนี้เป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูงและปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ จึงมี 53 ประเทศห้ามใช้แล้ว และจำกัดการใช้อีก 15 ประเทศ จากการที่ภาครัฐยังคงให้จำหน่ายและใช้ในปัจจุบันจึงพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำในหลายจังหวัด

รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวว่า ไทยนำเข้าสารนี้มานานกว่า 30 ปี มีการฉีดพ่นในอัตราส่วนที่สูงกว่าค่ากำหนดในฉลาก รัฐควรมีนโยบาย “ลด-ละ-เลิก” การใช้สารเคมีฯ และส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์

ดร.จรรยา มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “จะแบนหรือไม่” ด้วยอำนาจหน้าที่รัฐหากมีคำขอแล้วไม่ต่อให้ “รัฐก็จะถูกฟ้องกลับ” ดังนั้นงานวิจัยที่มาจากทุกฝ่ายต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนเหตุที่ปริมาณการนำเข้าสารเคมีฯ เพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ส่วนใหญ่นำมาทดแทนแรงงานในภาคเกษตรทำให้ต้นทุนสูงขึ้น “ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดระบุมีสารทดแทนพาราควอตได้ ทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุน”

ด้านนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า บางปีที่มีการนำเข้าพาราควอตเข้ามามากขึ้น เพราะการเพาะปลูกที่ดี เกษตรกรมีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินไปตามธุรกิจ ส่วนหากที่ประชุมมีมติสรุปให้ “จำกัด” หรือ “แบน” สมาคมยินดีรับผล “แต่ผมอยากให้รัฐคำนึงถึง 2 ข้อ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ ให้รอบด้าน เพราะบางข้อมูลที่มีการนำเสนอไม่เป็นความจริง เราก็ต้องยื่นข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการหลายต่อหลายครั้ง”

รายงานจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า หลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ มีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ปรากฏตัวเลขนำเข้าปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่าง “ผิดปกติ”จากปีก่อนถึง 12,976 ตัน “อาจเพราะมีการสต๊อกพาราควอตเพิ่มขึ้นเพื่อขายเป็นช่วงสุดท้ายก่อนถูกแบน ในขณะที่ราคาจำหน่ายในตลาดก็เริ่มขยับขึ้น 20-30% แล้วด้วย” แหล่งข่าววงการค้าธุรกิจเคมีเกษตรตั้งข้อสังเกต