สภาอุตสาหกรรมใจคอไม่ดีหากรอตั้งรัฐบาลใหม่ 10 เดือน สะเทือนการลงทุนแน่

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 2566 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.1 เพิ่มครั้งแรกในรอบ 3 เดือน รับกังวลหากการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวถึง 10 เดือน กระทบทั้งเศรษฐกิจ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนแน่นอน ชงรัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน ช่วยค่าไฟ รับมือเอลนีโญให้ได้

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคม เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก จึงคาดการณ์ว่าดัชนี 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลง จาก 104.3 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

นอกจากปัจจัยลบต่าง ๆ แล้ว ยอมรับว่าเอกชนยังมีความกังวลถึงการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หากล่าช้าและต้องใช้เวลาถึง 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งก็เข้าใจว่าทุกอย่างมีขั้นตอน

ดังนั้น เรื่องที่รัฐสามารถทำได้ก่อนต้องรีบทำ จึงขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมตสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง