ราคาน้ำมันดิบ (27 ก.ค. 66) ปรับลด หลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

โรงกลั่นน้ำมัน น้ำมันดิบ
Photo by JUAN MABROMATA / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับลด 1% หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ในช่วง 5.25-5.5% จากการประชุม FED เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบ 22 ปี โดย FED ยังกล่าวอีกว่า อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปสงค์น้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 26 ก.ค. 2566 อยู่ที่ 78.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.85 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 82.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.72 เหรียญสหรัฐ

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ก.ค. 66 ปรับตัวลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 456.8 ล้านบาร์เรล ลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ คาดการณ์ไว้ ว่าจะปรับลดลง 2.35 ล้านบาร์เรล

ตลาดยังตึงตัว หลังมีการคาดการณ์ว่า ซาอุดีอาระเบียจะขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะยุติที่เดือน ส.ค.นี้ ไปเป็นเดือน ก.ย. แทน อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีแนวโน้มปรับเพิ่มการส่งออกในเดือน ก.ย. หลังอัตราการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศคาดว่าจะปรับลดลงจากเดือน ส.ค. 0.195 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปิดซ่อมบำรุง

Advertisment

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันเบนซินจากจีนและกาตาร์ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจาก อุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซีย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันดีเซลของเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มลดลง ก่อนเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้