กฟผ.เร่งเคลียร์หนี้ค่าไฟให้จบ เม.ย. 68 ชี้ยืดเยื้อกระทบความมั่นคงไฟฟ้า

ค่าไฟ

กฟผ. แจงค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ไม่สามารถลดลงตามข้อเสนอเอกชนได้ เหตุต้องทยอยใช้หนี้คืน 1.1 แสนล้านบาท ภายในเมษายน 2568 ชี้หากยืดเยื้อกระทบเงินสด เครดิตเรตติ้งฉุดลงทุน กฟผ. หวังรัฐบาลใหม่จะเข้าใจ

วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ยังคงอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย จาก 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากการลดค่าเอฟทีลง 28.58 สตางค์ ตามที่มติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แม้ภาคเอกชน ได้เรียกร้องให้ลดค่าไฟเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยก็ตาม

ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มชะลอลง การเก็บค่าเอฟทีเรียกเก็บประจํางวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากเป็นการลดลงของเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จํานวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย

อีกส่วนหนึ่งยังเป็นเงินสำหรับนำมาใช้ทยอยชําระคืนภาระเงินกู้ที่ กฟผ.กู้มาเพื่อรับภาระค่าเอฟทีในบางส่วนไว้เอง และช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนจ่ายในราคาที่ไม่สูงเกินไป ช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงมาก ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-เม.ย. 2566 เป็นต้นมา ทำให้ กฟผ.ต้องกู้เงินมาใช้ประมาณ 150,000 ล้านบาท และได้ตกลงกับรัฐบาลว่าจะทยอยคืนเงินให้กับ กฟผ.ผ่านค่าเอฟที โดยแบ่งการชำระหนี้คืนออกเป็น 6 งวด (2 ปี) แต่ต่อมารัฐได้ขอให้ขยายเวลาเป็น 7 งวด

โดยที่ผ่านมาคืนมาให้แล้ว 2 งวด และจะทยอยคืนต่ออีก 5 งวด ๆ ละ 23,428 ล้านบาท ซึ่งทำให้คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชําระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท และเมื่อมีการทยอยคืนต่อเนื่องจนครบ กฟผ.จะชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่กู้มาได้ภายในงวดเดือนเมษายนปี 2568

“หากจะมีการยืดหนี้ออกไปจากเดิมนั้น ยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะกระทบต่อกระแสเงินสด หรือสภาพคล่องของ กฟผ. และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง) ของ กฟผ. ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น”

สภาพคล่อง กฟผ.

ปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย

1.ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องรวม 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท

2.ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน 30,000 ล้านบาท

3.เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดย กฟผ.มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี 2567

แต่ปัจจุบัน กฟผ.ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ.ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง) ของ กฟผ. และความมั่นคงด้านพลังงาน

อีกทั้ง กฟผ.ยังจำเป็นต้องมีเงินสดในมือ มีสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้า และลงทุนสายส่ง หรือการลงทุนโครงการอื่น ๆ เพื่อคงสถานะความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ และไปสู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น

ค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุน

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้หาเสียงถึงแนวทางการลดค่าไฟฟ้า ซึ่งอาจกระทบต่อแนวทางการชำระคืนหนี้ กฟผ.หรือไม่นั้น

นายบุญนิตย์กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าจำเป็นต้องสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง และยังต้องคำนึงถึงการชำระคืนหนี้ค้างจ่าย กฟผ.ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าโดยไม่มีการนำรายได้มาชำระหนี้คืน กฟผ.ก็จะได้รับผลกระทบดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องหารือในรายละเอียด