เงินเฟ้อไทย ก.ค. 66 เพิ่ม 0.38% ยังต่ำสุดในอาเซียน

เงินเฟ้อ

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อไทย ก.ค. 66 เพิ่ม 0.38% ลดลงต่อ สะดุด แต่ยังต่ำสุดในอาเซียน คาดครึ่งปีหลังเงินเฟ้อเพิ่มไม่เกิน 1% พร้อมจับตาภัยแล้ง-ราคาเชื้อเพลิง

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่อยู่ที่ 107.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.38% ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

โดยสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ประกอบกับฐานราคาเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) อยู่ที่ 2.19%

พูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่สูงขึ้น 0.38% มาจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.49% ซึ่งชะลอตัวลงค่อนข้างมากจากเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ยังคงมีราคาสูงขึ้น อาทิ ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง มะเขือ เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก

นอกจากนี้ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว ขนมอบ วุ้นเส้น) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม) และผลิตภัณฑ์นม (นมถั่วเหลือง นมข้นหวาน ครีมเทียม) ก็ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ข้าวสารเจ้า ราคาเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชั่น เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก) และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี)

ส่วนหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.38% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ (ยกเว้น E85) และเบนซิน

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาลดลง อาทิ เสื้อบุรุษและสตรี เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล ค่าบริการส่วนบุคคล ค่ายา และค่าโดยสารสาธารณะ

ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกรกฎาคม เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ปรากฏว่าเพิ่มขึ้น 0.86% ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าสูงขึ้น 2.19%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบ ๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ทั้งนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

จึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 คงตัวอยู่ระหว่าง 1.0%-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) ภายใต้สมมติฐานจีดีพีเพิ่ม 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 71-81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งยังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อในอีก 5 เดือนที่เหลือ เงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 1%