“กรีน-สมาร์ท โลจิสติกส์” เพิ่มความสามารถแข่งขันประเทศ

โลจิสติกส์
ท่าเรือแหลมฉบัง

อุตสาหกรรมบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่จะช่วยขับเคลื่อนไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index : LPI) จากธนาคารโลก ให้อยู่อันดับที่ 34 จาก 139 ประเทศทั่วโลก ตกลงจากอันดับ 32 ในปี 2561 และอยู่ในอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในปี 2566 ภาคโลจิสติกส์ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ในหลายประเทศ และความนิยมในธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตต่อเนื่อง เทรนด์การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่จะไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนจากการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาต่อยอดสู่การเป็น “สมาร์ทโลจิสติกส์” มากยิ่งขึ้น และยังมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น “โลจิสติกส์สีเขียว” เพื่อตอบโจทย์การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

รัฐหนุนโลจิสติกส์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญกับธุรกิจโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีการกำหนดนโยบายส่งเสริมหลากหลายแนวทาง

สอดรับกับการพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 3 ในเรื่องการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทย ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบคมนาคมให้มีการเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และชายแดน

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

ส่วนระดับต่อมาคือ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ และสุดท้ายคือ กรมส่งเสริมก็ได้มีการจัดกิจกรรมหลายกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการและผู้ให้บริการโลจิสติกส์เป็น best practice พร้อมพยายามสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

ดิจิทัลความท้าทายใหม่โลจิสติกส์

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ กล่าวว่า ดิจิทัลถือเป็นความท้าทายใหม่ของโลก เพราะทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปหมด ทั้งเรื่องของดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ ในการสร้าง smart and green logistic

โดย smart logistic เป็นเรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์ม เช่น คลังสินค้าใช้ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการให้บริการ รวมถึงจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับการขอใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ใน 37 หน่วยงาน ซึ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมตัวรับมือ

ต่อมาก็คือเรื่อง green logistic เพราะธุรกิจโลจิสติกส์เองก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่ทุกภาคส่วนในธุรกิจนี้ต้องยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุก ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนจากพลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาสู่พลังงานที่เป็นมิตรมากขึ้น อาทิ การเปลี่ยนจากรถบรรทุกสันดาปมาเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มที่ทั้งโลกจะหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น สุดท้ายเราต้องตระหนักถึงแนวทางของโลกที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องของ smart and green

TILOG-LOGISTIX 2023

ล่าสุดในงาน TILOG-LOGISTIX 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2566 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับอาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการไบเทค ฮอลล์ 98 จะมีผู้ประกอบการ 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศทั่วโลกมาจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่น และบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเสริมองค์ความรู้และสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 9,000 ราย พร้อมตั้งเป้ามูลค่าเจรจาทางธุรกิจกว่า 4,000 ล้านบาท

นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ กล่าวว่า งาน TILOG-LOGISTIX 2023 จัดภายใต้แนวคิด Smart and Green Logistics for Sustainable Tomorrow ขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่อนาคตสีเขียวด้วยโลจิสติกส์อัจฉริยะรักษ์โลก มุ่งเน้นการปรับตัวเดินหน้าสู่เทรนด์โลกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ยุคใหม่ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ปรับตัวภายใต้แนวคิดเรื่อง green

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิทัล ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ อาทิ ระบบวางแผนและจัดการเส้นทางการขนส่งสินค้า ระบบการจัดการคลังสินค้า การรักษาความปลอดภัย รวมทั้งระบบคลังสินค้าอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หุ่นยนต์หยิบสินค้าที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทุกแนว,ในคลังสินค้า ตลอดจนรถโฟร์กลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียม

โลจิสติกส์

หวังสร้าง Logistic Network

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้ใช้บริการถึงความคาดหวังที่มีต่อผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์หรือ LSP (logistic service provider) ควรปรับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการพัฒนารูปแบบโซลูชั่นการให้บริการ การลงทุนในแพลตฟอร์ม การนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าได้ดีขึ้น

ทั้งยังช่วยผู้ใช้บริการให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรการที่ซับซ้อนขึ้นทุกวันได้ โดยเฉพาะมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของ EU อย่าง CBAM ที่เป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเริ่มจาก 7 กลุ่มสินค้าในปัจจุบัน และจะขยายไปถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือจีน ก็จะทำตามมาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเร่งปรับตัว อย่างโรงงานก็มีการหาพลังงานทดแทนมาใช้ แต่สิ่งที่พยายามเดินหน้าตอนนี้คือ การแก้ปัญหาร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ หรือคลังสินค้า เป็นต้น เพราะต้องหา strategic partnership ที่ไม่ใช่เพียงแต่การโยนโจทย์ให้แก้ปัญหา แต่ต้องร่วมกันหารือและหาแนวทางเดินหน้าอย่างไรที่จะทำให้ทั้งผู้ส่งออกสามารถตอบโจทย์ผู้ค้าปลายทางได้ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถเติบโต

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ total logistic solution และสร้าง logistic network ที่มีความเข้มแข็งทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่สินค้าออกจากโรงงานไปจนถึงมือผู้รับปลายทาง รวมถึงการมีทางเลือกขนส่งอื่นเมื่อเกิดปัญหา

อีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องของเทคโนโลยีที่จะช่วยแจ้งให้กับผู้ใช้บริการว่ารับรู้และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation platform) ที่เชื่อมโยงแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันได้ก็จะสร้างความสบายใจให้แก่ผู้ใช้บริการ เพราะแพลตฟอร์มจะเป็นตัวเชื่อมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ท้ายที่สุด ต้นทุนของโลจิสติกส์ไทยคิดเป็น 14% ของ GDP ในภาพรวม ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วต้อง 10 หรือต่ำกว่า จึงต้องลดต้นทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้