“วีเบ็คก้า” ประธานหอการค้าร่วม ตปท. (JFCCT) มองไทย หวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก

หลังการเลือกตั้งผ่านไป 3 เดือน แต่ถึงวันนี้ ประเทศไทย ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและการลงทุนแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะนักธุรกิจต่างประเทศที่กำลังวางแผนการลงทุนที่ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วีเบ็คก้า ริสซอน ไรเวอร์ก” ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) คนใหม่ ที่เข้ามารับไม้ต่อจาก “สแตนลีย์ กัง”

ด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจ “วีเบ็คก้า” เป็นกรรมการผู้จัดการ Felicia Design ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินและทองระดับไฮเอนด์จากนอร์เวย์ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนาน 30 ปี

หอการค้าต่างประเทศมองไทย

“วีเบ็คก้า” ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในฐานะนักลงทุนต่างชาติมองประเด็นการเลือกนายกฯ เป็นเรื่องทางการเมืองที่สำคัญสำหรับประชาชนไทย และเรายอมรับการเลือกรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด

“การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนชาวไทย ในมุมนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจบริบทของประเทศไทย เรารู้ว่าฐานะเราเป็นเช่นไร และเรื่องการทำธุรกิจของเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองการเลือกตั้ง”

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ภาพการลงทุนต่างชาติที่มองมานั้น สะท้อนถึงการมองประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะเรามองถึงความมั่นคงและบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน เราเชื่อว่าหลังจากการเลือกนายกรัฐมนตรี และการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สิ่งเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสำหรับนักธุรกิจต่างชาติการตัดสินใจลงทุนเป็นสิ่งที่ทำโดยคำนึงถึงระยะยาว

ต่อคำถามว่า ผลการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทย และหากหมากเกมนี้นำไปสู่การชุมนุมทางเมือง จะเป็นอย่างไร

“วีเบ็คก้า” มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลควรจะตั้งโดยเร็ววันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่เกินความคาดหวัง แต่เอกชนมองถึงความมั่นคง ความโปร่งใส และมาตรการเอื้อต่อผู้ลงทุน ซึ่งรัฐบาลไทยหลายชุดสนับสนุนผู้ลงทุนมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่านโยบายนี้จะดำเนินต่อไป และทุกฝ่ายจะเคารพกฎหมาย

ตั้งรัฐบาลช้ากระทบธุรกิจ

ประธาน JFFC ย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญคือ การตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เราหวังว่าจะได้รัฐบาลในเดือนนี้ (สิงหาคม) มิเช่นนั้น นักลงทุนอาจจะรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจลงทุน

Advertisment

“การยอมรับและความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ ความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับของประชาชนก็จะเป็นสิ่งดี หากตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนนี้ เราหวังเช่นนั้นเพราะมันจะดีต่อเศรษฐกิจ”

แต่หากเกิดความล่าช้า อาจมีผลต่อการผ่านงบประมาณประจำปีช้า และอาจกระทบความสัมพันธ์ธุรกิจที่ทำธุรกิจระหว่างรัฐต่อรัฐที่อาจชะงัก

แต่อีกด้านหนึ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่าจะกลับมาเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งได้ การเมืองระหว่างประเทศ (geopolitics) ในประเทศต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรงก็นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบาย

ไทยยังเป็นประเทศลงทุน

หากเปรียบเทียบความน่าสนใจในการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน แน่นอนไม่มีคำถามว่าอินโดนีเซียนั้นใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน ส่วนเวียดนาม นับเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อาเซียนควรมองตนเองเป็นตลาดเดียว (single market) พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกัน ผลักดันสร้างจุดแข็งที่เอื้อซึ่งกันและกัน เหมือนกับการรวมกลุ่มในสหภาพยุโรป (อียู) จะเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น

“ส่วนประเทศไทยเองควรเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจสำคัญ และประเทศไทยอยู่ในทำเลหรือโลเกชั่นที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่จะมาพำนัก ดิฉันเชื่อว่าไทยแข่งขันได้ในกลุ่มประเทศอาเซียน”

นโยบายเศรษฐกิจหัวใจสำคัญ

การได้รัฐบาลใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสานต่อนโยบายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องดำเนินการต่อ อาทิ การกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) เป็นต้น

ขณะเดียวกันนโยบายด้านการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ไทยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบ fast track ทำให้การประกอบธุรกิจสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกวีซ่า work permit สำหรับนักธุรกิจต่างประเทศ การปรับกฎระเบียบ กฎหมายที่ล้าสมัย

ท้ายที่สุด “วีเบ็คก้า” ยังให้มุมมองถึงนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการรีสกิลและอัพสกิล ว่าจะต้องมีการพัฒนาการศึกษาต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการคิดและการร่วมมือการสร้างองค์ความรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครู และให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ

พร้อมเน้นย้ำว่า “เราถือว่าเราเป็นพาร์ตเนอร์ของเศรษฐกิจไทย และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุน และหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่โดยเร็ววัน”