หวั่น EV ทุบอะไหล่สันดาปเดี้ยง กมธ.พาณิชย์-พลังงานแนะเตรียมรับมือ

กมธ.พาณิชย์ผนึก กมธ.พลังงาน ชำแหละแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี หวั่นกระทบอุตฯชิ้นส่วนสันดาป-บริการซ่อม ปรับตัวไม่ทัน พร้อมเร่งเครื่องศึกษาพลังงานทางเลือก “ไฮโดรเจน” สอดคล้องกับงานวิจัยเอกชน IRENA พบอุปสรรคต้นทุนยังสูงต่อเนื่อง ลุ้นปี 2593 มี 4 ปัจจัยช่วยต้นทุนถูกลง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานอนุกรรมาธิการการอุตสาหกรรม คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้มีการใช้อีวีมากขึ้น แต่ความสำเร็จนี้ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมอะไหล่ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป

รวมถึงบริการการซ่อม ทางคณะกรรมาธิการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน จะจัดเสวนาเรื่องความคืบหน้าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับการปรับตัวของยานยนต์สันดาปภายใน ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566

โดยในการเสวนาครั้งนี้ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าการส่งเสริม/พัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับการปรับตัวของยานยนต์สันดาปภายใน โดยมีพลอากาศเอกอดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน คนที่สอง เป็นประธานการเสวนา สำหรับหัวข้อเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเรื่องการขับเคลื่อนการดําเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) จะมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

ส่วนหัวข้อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และเรื่องการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า จะมีผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน และหัวข้อเรื่องการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นผู้แทนจากกระทรวงการคลัง

ขณะที่ภาพรวมผลกระทบการเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อํานวยการสถาบันยานยนต์ ดร.สมชาย สาโรวาท ประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย นายบดีธัช กิตะพาณิชย์ เลขาสมาคมผู้ค้าอะไหล่วรจักร ร่วมด้วย

แหล่งข่าวกลุ่มธุรกิจยานยนต์ ระบุว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอีวีอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนสันดาปที่จะได้รับผลกระทบ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% กลุ่มของชิ้นส่วนสันดาปเครื่องยนต์จะล้มหายไป แต่ยังเหลือกลุ่มชิ้นส่วนหนัง ผ้า ล้อ ยังอยู่ โดยจะมีชิ้นส่วนของอีวีอยู่ประมาณ 17 ชิ้นส่วน

นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การแปลงเครื่องสันดาปเป็นอีวี ธุรกิจการกำจัดซากเก่า ที่ต้องเตรียมแผนรองรับ อีกด้านหนึ่งเส้นทางการพัฒนาอีวีไม่ง่าย ซึ่งมองว่ายังมีเทคโนโลยีอื่นมาอินเตอร์รับได้ เช่น ไฮโดรเจน

รายงานข่าวระบุว่า ไม่เพียงการติดตามเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามและเสนอแนะด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการศึกษาเรื่องการนําเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อการพาณิชย์สําหรับภาคขนส่ง ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบรรจุระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคม 2566

โดยประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ของการนําไฮโดรเจนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งของประเทศไทย สอดคล้องกับผลศึกษาผลการวิจัยของบริษัท IRENA ซึ่งเป็นการศึกษาต้นทุนของไฮโดรเจนสีเขียว โดยนําระบบ AI ทําการประมวลผล

พบว่า ไฮโดรเจนสีเขียวจากการผลิตโดยใช้กระบวนการ electrolysis ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบสําคัญ ในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แต่ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวยังคงสูงกว่าการผลิตไฮโดรเจนที่ใช้ปิโตรเลียมเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตจากเครื่อง electrolyser และต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ยังคงมีราคาสูง

โดยปัจจุบันประเทศจีนจะมีค่าต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด โดยใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ 75% รองลงมาคือ ใช้พลังงานลมบนฝั่ง เมื่อคํานวณอัตราค่าการผลิตและค่าความต้องการใช้งาน พบว่า ราคาในปี 2050 (2593) ประเทศจีนจะมีต้นทุนการผลิต 1.5 เหรียญสหรัฐต่อ 1 กิโลกรัมไฮโดรเจน

ในการศึกษายังพบว่าแนวโน้มในปี ปี 2573-2593 ประมาณการ พบว่า ราคาต้นทุนการผลิตจะลดลง สาเหตุเนื่องจาก 1) electrolyser ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 2) ค่าขนส่งไฮโดรเจนลดลง เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 3) การสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐที่เข้มข้น ทั้งในอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย และ 4) ตลาดการค้าไฮโดรเจนในตลาดจะขยายตัวมากขึ้น เพราะการเข้าถึงไฮโดรเจนที่ราคาถูก และความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น

ประเด็นความท้าทายคือ ค่าขนส่งราคาสูง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ เช่น โรงงานผลิตขนาดใหญ่ กฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลศึกษาพบว่าควรมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และกําหนดกรอบการทํางานด้านนโยบายเพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยงของโครงการที่เกี่ยวข้อง และการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล