นักธุรกิจแห่ยินดี “เศรษฐา” นายกฯคนที่ 30 มั่นใจประสบการณ์-ความสามารถฟื้นศก.

'เศรษฐา ทวีสิน

นักธุรกิจแห่ยินดี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นั่งนายกฯคนที่ 30 มั่นใจประสบการณ์-ความสามารถ ช่วยดันเศรษฐกิจฟื้น บิ๊ก ปตท.หวังขับเคลื่อนนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาพันธ์ เอสเอ็มอี เสนอ 5 ข้อเร่งด่วน

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งมีความเหมาะสม และจากประสบการณ์ของท่านน่าจะมีส่วนสำคัญกับการพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดจากภาวะวิกฤตของโลกได้

“ขณะนี้คงต้องรอรายชื่อเป็นทางการในส่วนของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่าเป็นใครบ้าง แต่ที่ผ่านมาเคยเห็นคุณเศรษฐาให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมและแนวคิดการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ”

นายบุรณิน รัตนสมบัติ
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยต้องขอแสดงความยินดีด้วยกับท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ท่านที่ 30 ของประเทศไทย ที่มาจากกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นกำลังใจให้ได้คณะรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจที่จะเป็นพลังแผ่นดิน

โดยคาดหวังว่าจะเห็นทีมเศรษฐกิจที่มีความเป็นผู้นำ ทันสมัย การเปลี่ยนแปลงที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลก

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

และสามารถใช้นวัตกรรมในการออกแบบนโยบาย มาตรการ “ไม่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจที่แจกเงิน แต่มุ่งเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บ่มเพาะผู้ประกอบการนำภูมิปัญญากระจายโอกาส กระจายรายได้จากการพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วยกัน

อีกทั้งต้องเป็นทีมเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะ ขีดความสามารถ การบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศและบริหารงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจฐานราก และสร้างการมีส่วนร่วม แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านในแต่ละมาตรการที่จะกระทบต่อระบบนิเวศเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนมีธรรมาภิบาลในการบริหารนโยบาย มาตรการที่ขับเคลื่อนประเทศไปด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้

ซึ่งเอสเอ็มอีมีความคาดหวังกับ 5 เรื่องด่วน

1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งการขยายสัดส่วน GDP SMEs ที่ลงลึกถึงสัดส่วน GDP ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเพียง 3% ของ GDP ทั้งประเทศ แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยถึง 85% ประมาณ 2.7 ล้านราย จ้างงานกว่า 5 ล้านคน

2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และการแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่ทวีความรุนแรงมาเป็นลำดับ

3.การลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซอย่างเป็นระบบ ที่สะท้อนความเป็นธรรมกลไกราคาต้นทุน ราคาขายที่เหมาะสมกับภาคประชาชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สร้าง ส่งเสริม สนับสนุนเอสเอ็มอีผลิตสินค้าและบริการทดแทนนำเข้า

4.การยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเศรษฐกิจ ให้สะท้อนการยกระดับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามผลิตภาพทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ โดยเสนอให้ทำ Digital Workforce Credit Scoring Platform เพื่อให้นักศึกษา บัณฑิต แรงงานในและนอกระบบ เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ต้องหาแรงงาน และเชื่อมโยงหน่วยบ่มเพาะ เพิ่มทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถของภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนากำลังคน Upskill-Reskill ในรูปแบบ Lifelong learning เป็นต้น

5.การแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสให้เอสเอ็มอี และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น