​WTO เคาะประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 ต้นปี 2567 ที่อาบูดาบี UAE

พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 วันที่ 26-29 ก.พ. 67 ที่อาบูดาบี สมาชิกเดินหน้าเตรียมประเด็นเจรจา การอุดหนุนประมง การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ยังเป็นประเด็นสำคัญ ด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสนัดสรุปอีกครั้ง ต.ค.นี้

วันที่ 4 กันยายน 2566 นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เปิดเผยว่า WTO กำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 (WTO 13th Ministerial Conference : WTO MC13) ขึ้นที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.พ. 2567 และขณะนี้สมาชิกได้หารือประเด็นต่าง ๆ หลายเรื่อง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีประเด็นใดที่จะเสนอให้รัฐมนตรีต้องเจรจาหรือตัดสินใจในปีหน้าบ้าง โดยคาดว่าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 เป็นต้นไป การเจรจาจะเร่งเครื่องเร็วมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้บางเรื่องก่อนรัฐมนตรีการค้าจะพบกัน

สำหรับเรื่องที่สำคัญ เช่น การเจรจาต่อเนื่องเรื่องการอุดหนุนประมง แม้ว่าความตกลงแม่บทเรื่องการอุดหนุนประมงจะเจรจาจบไปแล้วในการประชุม MC12 และกำลังอยู่ระหว่างรอให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน แต่ก็มีเรื่องที่กำหนดไว้ให้เจรจาต่อเพื่อให้ความตกลงสมบูรณ์ เช่น การอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด การอุดหนุนประมงให้เรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ การปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา การทำประมงพื้นบ้าน การแจ้งข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง และการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในสาขาประมงเป็นต้น ซึ่งการเจรจาประมงเป็นไปอย่างเข้มข้นและคาดหวังว่าจะเจรจาในสาระจบก่อนการประชุม MC13 ยกเว้นบางประเด็นที่อาจจะต้องให้ระดับการเมืองตัดสินใจ

การเจรจาเรื่องการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร นับแต่ช่วงโควิด-19 มาจนถึงช่วงสงครามรัสเซียยูเครน เรื่องการขาดแคลนอาหารกลายเป็นความท้าทายสำคัญด้านการค้า โดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิ (ผลิตอาหารเองไม่พอบริโภค ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร) ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินค้าเกษตรอาหารหรือสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้สมาชิก WTO หยิบยกเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ขึ้นมาหารือตั้งแต่ปี 2565 จนทำให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีที่กำหนดให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่อง

โดยประเด็นหารือ เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกหรือลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าเกษตรอาหารของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าอาหารสุทธิ การจัดสรรสินเชื่อนำเข้าสินค้าเกษตรจากองค์กรทางการเงิน ธนาคารระหว่างประเทศ การช่วยเหลือการพัฒนาภาคเกษตรและอาหาร การประสานนโยบายขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ การหารือเรื่องความมั่นคงทางอาหารมีขึ้นควบคู่ไปกับการเจรจาปฏิรูปเกษตรที่ดำเนินมาหลายปีแล้ว ซึ่งเน้นเรื่องการลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้า การกำหนดแนวทางการใช้การอุดหนุนที่ไม่จำกัดมูลค่า การหารือเพื่อยกระดับความโปร่งใสในการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น แต่การหารือในส่วนของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาคเกษตรเป็นไปค่อนข้างช้า เพราะท่าทีที่แตกต่างกันมากของประเทศต่าง ๆ ที่หลายประเทศไม่ต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ปัจจุบัน

การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีส่วนทำให้เรื่องการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ใน WTO กลายเป็นเรื่องที่มีการหารืออย่างเข้มข้น โดยแบ่งกลุ่มคร่าว ๆ ได้ 3 ส่วน คือ 1.เรื่องกระบวนการระงับข้อพิพาท 2.การปรับปรุงกระบวนการการทำงานและการเจรจา และ 3.การหารือเพื่อกำหนดหัวข้อการเจรจาเรื่องใหม่ ๆ เพื่อให้กฎเกณฑ์การค้าพหุภาคีทันสมัย โดยใน 3 ส่วนนี้ การปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดแต่ก็ยากที่สุดเช่นกัน เพราะสหรัฐเป็นประเทศหลักที่มีความเห็นไม่ตรงกับประเทศต่าง ๆ และยังคัดค้านการแต่งตั้งคณะผู้อุทธรณ์อยู่ ทำให้การระงับข้อพิพาทแบบ 2 ชั้นของ WTO ต้องหยุดชะงักไปหลายปีแล้ว

แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าสาระ จึงขึ้นอยู่กับการเมืองในวอชิงตันว่า จะแสดงความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับการทำงานของ WTO อาจจะตกลงกันได้ก่อนการประชุมรัฐมนตรี ส่วนประเด็นเจรจาใหม่นั้น ขณะนี้กำลังมีการหารือหลายกลุ่มมาก โดยหัวข้อที่สมาชิกให้ความสนใจ ได้แก่ เรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การทบทวนหลักเกณฑ์มาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

การเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง e-commerce เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมีการเจรจาทั้งในกรอบพหุภาคีระหว่างสมาชิก WTO ทุกประเทศ และแบบหลายฝ่าย (plurilateral) คือเฉพาะบางประเทศร่วมกันเท่านั้น โดยในเวทีพหุภาคีมีการพิจารณาการต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรของ electronic transmission และการเจรจาหัวข้อที่กำหนดแผนงานไว้ เช่น การพัฒนากับการค้าดิจิทัล แต่การเจรจาในแบบหลายฝ่ายมีหัวข้อที่ลงลึกไปกว่าระดับพหุภาคี โดยสมาชิกที่เข้าร่วมมีเป้าหมายจัดทำกฎเกณฑ์ e-commerce ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญและเน้นย้ำบทบาทของ WTO ในการพัฒนากฎระเบียบการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกและบริบทสมัยใหม่ เช่น เรื่องการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน (cross-border data flows) เรื่อง data localization เรื่องสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมืออิเล็กทรอนิกส์ และเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์

ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญต่อสภาพแวดล้อมของ e-commerce และเป็นหัวข้อที่ FTA หลายฉบับเจรจากันด้วย ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่ต้องการร่วมเจรจา เพราะเห็นว่ากฎระเบียบในประเทศตนยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตาม สมาชิก WTO ทุกประเทศต่างเห็นความสำคัญของการค้าขายหรือทำธุรกรรมผ่านระบบอีคอมเมิร์ซและระบบดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของและอาหาร การจองโรงแรมที่พักออนไลน์ ไปจนถึงการโอนจ่ายเงินทางโทรศัพท์มือถือ ที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์กับประเทศทุกระดับการพัฒนา และต่อ SME ด้วย จึงทำให้การเจรจาเรื่องนี้น่าจะมีการเจรจาที่ MC 13 และขยายขอบเขตต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีการเจรจาหัวข้ออื่นอีกที่สำคัญ เช่น การขยายขอบเขตการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไปยังผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดสอบและรักษาโรคโควิด-19 การหารือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในมุมการค้า และการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. 2566 จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าอาวุโส (Senior Officials’ Meeting : SOM) เพื่อพยายามสรุปความคืบหน้าการหารือเรื่องต่าง ๆ ก่อนการประชุมรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องกระบวนการและไม่อ่อนไหว และเพื่อพยายามหาแนวโน้มท่าทีของประเทศต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมในการตัดสินใจทางการเมือง (political will) ในเรื่องที่อ่อนไหวด้วย ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าคาดว่าการเจรจาต่าง ๆ จะมีความเข้มข้นและรวดเร็วลงลึกมากขึ้นอย่างแน่นอน