ญี่ปุ่นขู่ยื่น WTO ขอตัดสินยกเลิกคำสั่งจีนแบนอาหารทะเล

จีน ห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น
ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ติดป้ายระงับการขายอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ภาพถ่ายวันที่ 27 สิงหาคม 2023 (ภาพโดย Pedro PARDO / AFP)

ทางการญี่ปุ่นขู่อาจจะยื่นต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งของจีนที่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น หากการเจรจาทางการทูตใช้ไม่ได้ผล 

จากกรณีที่จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากทุกพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิของญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา  

ซึ่งคำสั่งนี้ของจีนคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหหารทะเลของญี่ปุ่นไปยังตลาดจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 87,100 ล้านเยน (ประมาณ 20,900 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 22.51% ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 387,000 ล้านเยน (ประมาณ 93,000 ล้านบาท) 

ล่าสุด วันที่ 29 สิงหาคม 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ญี่ปุ่นขู่จะยื่นต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอยกเลิกคำสั่งของจีนที่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น 

โยชิมาซะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ญี่ปุ่นจะ “ดำเนินการที่จำเป็น (เกี่ยวกับคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของจีน) ภายใต้แนวทางต่าง ๆ รวมถึงกรอบการ WTO”  

ด้านซานาเอะ ทาคาอิจิ (Sanae Takaichi) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น กล่าวว่า การยื่นข้อร้องเรียนต่อ WTO อาจกลายเป็นทางที่ญี่ปุ่นเลือก หากการประท้วงต่อจีนผ่านช่องทางทางการฑูตไม่ได้ผล 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในหลักการสำคัญของ WTO คือ มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) เมื่อมีกรณีข้อขัดแย้งทางการค้า ให้หารือเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทของ WTO โดยการยื่นเรื่องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (dispute settlement body: DSB) ของ WTO เพื่อจัดตั้งคณะผู้พิจารณาขึ้นพิจารณากรณีดังกล่าว และรายงานผลให้ประเทศสมาชิกอื่นร่วมกันพิจารณาบังคับให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะผู้พิจารณา หากไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ประเทศผู้เสียหายสามารถทำการตอบโต้ทางการค้าได้

รอยเตอร์รายงานอีกว่า ความคิดเห็นของรัฐมนตรีญี่ปุ่นเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่ภาคธุรกิจญี่ปุ่นและภาคส่วนบริการสาธารณะของญี่ปุ่นได้รับโทรศัพท์คุกคามจำนวนมากจากหมายเลขโทรศัพท์รหัส +86 ซึ่งเป็นรหัสประเทศจีน โดยมีผู้โทรมาจำนวนมากร้องเรียนเรื่องการปล่อยน้ำของโรงไฟฟ้าในจังหวัดฟุกุชิมะ

ยาสุโตชิ นิชิมูระ (Yasutoshi Nishimura) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงข่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจและเป็นกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการโทรล่วงละเมิดจำนวนมากที่น่าจะมาจากจีน และบางคนโทรมาถึงโรงพยาบาลด้วยซ้ำ 

รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่นบอกอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังรวบรวมข้อมูลจากการรายงานความเคลื่อนไหวการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในจีน และจะทำงานร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจเพื่อแก้ไขสถานการณ์