ฝุ่นตลบ เปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ผู้ค้าขอแรงจูงใจแข่งโรงกลั่น

เติมน้ำมัน

นโยบายเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปยังฝุ่นตลบ หลังนักวิชาการด้านพลังงาน “พรายพล คุ้มทรัพย์” ชี้ ทุกวันนี้ก็เปิดเสรีอยู่แล้ว แถมราคานำเข้าสิงคโปร์ก็ไม่ได้แตกต่างจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในประเทศ ด้านบริษัทผู้ค้าน้ำมันแบรนด์ PTเห็นโอกาสที่จะนำเข้า แต่ขอแต้มต่อให้ผู้นำเข้าบ้างในกฎกติกาเดียวกัน ขณะที่บางจากเน้นเรื่องเก็บภาษี-ค่าธรรมเนียมมากกว่า

หลังจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายเปิดเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นในประเทศจนทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศที่ไม่มีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายลดค่าไฟ-ค่าน้ำมันทันทีของรัฐบาลชุดนี้

จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกมาจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะสูตรการคำนวณราคา ณ หน้าโรงกลั่นไทย ก็ใช้ราคาอ้างอิงสิงคโปร์อยู่แล้ว

ราคาน้ำมันอิงราคาสิงคโปร์

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์น้ำมันส่วนใหญ่สามารถนำเข้าโดยเสรี ไม่มีข้อจำกัดอะไร แต่มีเงื่อนไขการสำรองน้ำมันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำทุกบริษัทผู้ค้าน้ำมันอยู่แล้ว ส่วนกรณีการประกาศนำเข้าเพื่อไปบีบลดเรื่อง “ค่าการตลาด” ซึ่งจะมีผลให้ราคาขายปลีกลดลงนั้น มองว่า “ไม่น่าจะมีผล” เพราะปัจจุบันค่าการตลาดไม่ได้สูงมาก หรือประมาณ 2 บาท/ลิตรเท่านั้น

“ที่กังวลกันว่า ค่าการตลาด น้ำมันสำเร็จรูปไทยแพงกว่าที่สิงคโปร์หรือไม่นั้น ดูแล้วจะมีบางช่วงที่แพง บางช่วงใกล้เคียงกัน แต่วิธีการกำหนดราคาน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่น ก็อ้างอิงราคาเฉลี่ยโรงกลั่นที่สิงคโปร์อยู่แล้ว เมื่อบวกกับค่าขนส่ง ค่าประกัน แล้วนำน้ำมันสำเร็จเข้ามา ราคาที่ซื้อจากโรงกลั่นภายในก็เทียบเท่าราคานำเข้า ดังนั้นถึงเปิดเสรีก็ไม่น่าจะทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นกับราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแตกต่างกัน

ตรงนี้ รมว.พลังงานอาจจะเข้าใจว่า ถ้านำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาแล้ว ราคาอาจจะถูกกว่าราคาหน้าโรงกลั่นของเรา แต่วิธีการตั้งราคาหน้าโรงกลั่นอย่างน้อยเป็นราคาที่คิดภาษีก็อ้างอิงราคาสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่นำเข้าสำหรับประเทศแถบนี้อยู่แล้ว” ศ.ดร.พรายพลกล่าว

ส่วนที่ว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจะกระทบกับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศหรือไม่ หากมีการนำเข้ามาจริง ประเด็นนี้ ศ.ดร.พรายพลกล่าวว่า ไม่น่าจะกระทบรายได้โรงกลั่น หรือกระทบ “คงไม่มาก” เพราะยังนึกวิธีการนำเข้าไม่ออกว่าจะกระทบอย่างไร เพราะ “ราคาหน้าโรงกลั่น คือ ราคานำเข้าเหมือนกัน” แต่บริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ทั้ง ปตท. บางจาก คาลเท็กซ์ ที่มีสถานีบริการน้ำมันก็มีโรงกลั่นน้ำมันของตัวเองอยู่แล้ว

ดังนั้นก็ต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นของตัวเอง แต่รายที่ไม่มีโรงกลั่นอย่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG จะนำเข้าหรือซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศก็ได้ “ราคาไม่ได้แตกต่างกัน” แต่ก็ต้องถามว่า ถ้าเปิดเสรีแล้ว PTG จะเปลี่ยนแหล่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปหรือไม่

“การสำรองน้ำมันตาม กม.กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมัน-ผู้นำเข้าน้ำมันต้องมีการสำรองอยู่แล้ว หากเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว จะไปแก้กฎหมายเพื่อลดปริมาณสำรองน้ำมันก็ต้องแก้เหมือนกันหมด ไม่ใช่จะไปแก้เฉพาะผู้นำเข้าเท่านั้น หรือนอกจากรัฐบาลจะสร้างความแตกต่างระหว่างการนำเข้ากับการซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นภายในประเทศด้วยวิธีอื่น” ศ.ดร.พรายพลกล่าว

ส่วนนโยบายการ “ลด” ราคาน้ำมันในประเทศทันที ศ.ดร.พรายพลมองว่า “แทบจะไม่มีช่องในการลดราคาน้ำมัน” ยกเว้นแต่ว่า รัฐบาลจะลดภาษีสรรพสามิตให้ ซึ่งปัจจุบันก็เก็บอยู่ประมาณลิตรละ 6 บาท และอย่าลืมว่าขณะนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาทด้วย การลดภาษีสรรพสามิตจะต้องแลกกับการเสียรายได้จากภาษีไป

ถ้านำเข้าต้องมีแรงจูงใจ

ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ให้บริการสถานีน้ำมัน PT ให้ความเห็นการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมองว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะปรับเปลี่ยนไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพราะก่อนหน้านี้ PT ก็เคยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่แล้ว เพราะ “เราไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง” ประกอบกับช่วงนั้นปริมาณน้ำมันกลั่นในประเทศยังไม่เพียงพอ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว โรงกลั่นน้ำมันปัจจุบันกลั่นน้ำมันได้เกินกำลังการใช้ หรือได้เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณการใช้ยังไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเลย “สถานการณ์มันต่างกันไปแล้ว”

รังสรรค์ พวงปราง
รังสรรค์ พวงปราง

แม้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอาจจะแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศได้ แต่มีความเสี่ยงด้านอื่น ๆ และอุปสรรคในข้อกฎหมาย ทั้งในเรื่องการสำรองน้ำมัน ภาษี การชดเชย ผู้ค้าน้ำมันต้องออกไปก่อน คุณภาพน้ำมันเราผู้นำเข้าต้องเติมสาร “แอดดิทีฟ” การขนถ่ายน้ำมันนำเข้า มันมีกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนในการซื้อขายน้ำมัน เมื่อขั้นตอนเพิ่มขึ้น cost มันก็เพิ่มขึ้นอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงของผู้นำเข้า

“หากจะมีการใช้นโยบายนี้จริง ๆ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน จะมีเงื่อนไขในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการนำเข้า อาจจะต้องมีการตั้ง คณะทำงาน ร่วมกัน “เพื่อมาศึกษาทั้งระบบเส้นทาง (รูต) ซึ่งแนวทางนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป แต่ตอนนี้ ปตท.ก็ถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่แล้ว และการตลาดก็ค่อนข้างเสรี ว่าโรงกลั่นขายเท่าไร มีการเอากำไรมากเกินไปหรือไม่ ดังนั้นถ้าจะทำจริง ต้องมีการปรับกฎหมาย หรือปรับอินเซนทีฟ หรือไม่ก็ปรับค่าการตลาดให้มันเป็นจริงก็เท่านั้นเอง เพราะสุดท้ายค่าการตลาด 2 บาทต่อลิตร มันอยู่ไม่ได้หรอก” นายรังสรรค์กล่าว

ส่วนการสร้าง “แต้มต่อ” ให้กับผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป จะต้อง 1) กฎกติกาของผู้นำเข้าและโรงกลั่นต้องเหมือนกัน 2) การสำรองน้ำมันดิบของโรงกลั่นนั้นมีราคาแตกต่างจากการสำรองน้ำมันสำเร็จรูป จะมีต้นทุนสูงกว่า ราคาที่จมลงไปกับการสำรองต่างกัน ต้นทุนทางการเงินไม่เท่ากัน ฉะนั้นต้องเอามานั่งดูทั้งระบบ คอสต์อยู่ตรงไหน “PT เป็นผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูป ต้องสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูป 2 เท่า ทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่า”

ปัจจุบัน พีที มีการกระจายความเสี่ยงในการจัดซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นหลายโรง โดยหลักจะซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ แบบสัญญาลองเทอม และมีซื้อจากโรงกลั่นเอสโซ่บ้าง ในการซื้อกรณีหลังตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง หลังบริษัท บางจากฯ เข้ามาซื้อโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ก็คงต้องมาเจรจากันใหม่ ซึ่งเบื้องต้นน่าจะเป็นการต่อสัญญาเดิม

น้ำมันนำเข้าเสรีอยู่แล้ว

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปส่วนตัวมองว่า โดยปกติก็มีการนำเข้าเสรีอยู่แล้ว โดยในส่วนของบริษัท บางจากฯ นำเข้าน้ำมันทุกเดือนเฉลี่ยเดือนละ 80-90 ล้านลิตร อาทิ น้ำมันเบนซินที่ต้องผสมเอทานอลให้เป็นแก๊สโซฮอล์ และต้องนำเข้าน้ำมันดีเซลด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วถือเป็น “ตลาดเสรี” ทั้งการนำเข้าและส่งออก สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นประเด็นคือ ภาษีต่าง ๆ อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม การเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ รวม ๆ ประมาณลิตรละ 12 บาทมากกว่า